บลจ.ไทยพาณิชย์ จ่ายปันผล LTF 3 กองรวด SCBLT1 - SCBLT4 - SCBLTT มูลค่ารวมกว่า 208 ล้านบาท

17 Jan 2019
นายณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด เปิดเผยว่า บลจ.ไทยพาณิชย์ เตรียมจ่ายเงินปันผลกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) จำนวน 3 กองทุน สำหรับผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม 2561 - วันที่ 31 ธันวาคม 2561 รวมมูลค่าประมาณกว่า 208 ล้านบาท โดยจะจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหน่วยในวันที่ 18 มกราคม 2562 นี้ ประกอบด้วย กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นระยะยาวปันผล 70/30 (SCBLT1) ในอัตรา 0.1000 บาทต่อหน่วย ซึ่งการจ่ายปันผลครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 22 รวมเป็นเงินปันผลจำนวน 4.9750 บาทต่อหน่วย โดยกองทุนนี้เน้นลงทุนหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่มีนโยบายหรือมีการจ่ายปันผลอยางสม่ำเสมอ เฉลี่ยในปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 และไม่เกินร้อยละ 70 ของมูลค่าทรัพย์สินของกองทุนรวม
บลจ.ไทยพาณิชย์ จ่ายปันผล LTF 3 กองรวด SCBLT1 - SCBLT4 - SCBLTT มูลค่ารวมกว่า 208 ล้านบาท

กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นระยะยาวอินเตอร์ (SCBLT4) อัตรา 0.1000 บาทต่อหน่วย โดยการจ่ายปันผลครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 14 รวมเป็นเงินปันผลจำนวน 3.0200 บาทต่อหน่วย มีนโยบายเน้นลงทุนในหุ้นสามัญที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่มีพื้นฐานดี มั่นคง มีแนวโน้มเจริญเติบโตสูงไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ของมูลค่าทรัพย์สินของกองทุนรวม และมีนโยบายลงทุนในต่างประเทศไม่เกินกว่าร้อยละ 35 ของมูลค่าทรัพย์สินของกองทุนรวม

และกองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นระยะยาวทาร์เก็ต (SCBLTT) ในอัตรา 0.1000 บาทต่อหน่วย ซึ่งการจ่ายปันผลครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 17 รวมเป็นเงินปันผลจำนวน 4.0600 บาทต่อหน่วย เน้นลงทุนในหุ้นสามัญที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่มีพื้นฐานดี มั่นคง และมีแนวโน้มเจริญเติบโตสูง ไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ของมูลค่าทรัพย์สินของกองทุนรวม

ทั้งนี้ บลจ.ไทยพาณิชย์ มองภาพรวมตลาดหุ้นไทยในไตรมาสที่ 1 ในปี 2562 นั้น ยังคงมีความผันผวนต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยที่ยังส่งผลกระทบต่อการลงทุนส่วนใหญ่ยังมาจากปัจจัยต่างประเทศเป็นหลัก ได้แก่ การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งต้องใช้เวลา 90 วันถึงจะรู้ผลในช่วงต้นเดือนมีนาคม ทำให้ในระหว่างนี้เศรษฐกิจโลกยังคงชะลอตัวต่อเนื่องและมีโอกาสการปรับลดประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจได้อีก สำหรับสภาพคล่องในเศรษฐกิจโลกมีการปรับตัวลดลงอีกจากการหยุดทำ QE ของยุโรป อย่างไรก็ตามการที่ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (FED) เริ่มออกมาส่งสัญญาณเชิงบวกมากขึ้น อาจจะทำให้ FED มีการเปลี่ยนมุมมองการขึ้นดอกเบี้ย รวมถึงอาจจะชะลอการปรับลดงบดุลของ FED ภายหลังจากที่ตัวเลขเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวลงในช่วงที่ผ่านมา โดยต้องติดตามการประชุมของ FED ในช่วงปลายเดือนมกราคมนี้ ในส่วนของยุโรปนั้นก็ต้องติดตามการเจรจาระหว่างอังกฤษกับอียู (Brexit) ในช่วงปลายเดือนมีนาคมด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตามปัจจัยบวกที่คาดว่าจะเข้ามาในไตรมาสที่ 1 ที่จะสนับสนุนให้ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาประเทศไทยคาดว่าจะมีการฟื้นตัวกลับมาและเติบโตต่อได้ การบริโภคภายในประเทศและการลงทุนของภาครัฐที่ยังมีการขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor หรือ EEC) ที่จะช่วยให้มีการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมต่อเนื่อง สำหรับการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีนี้ จะเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับการลงทุนของเอกชนทั้งนักลงทุนภายในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้การลงทุนทางตรงที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการลงทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นอกจากนี้การที่ FED ออกมามีความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และมีโอกาสที่ปรับเปลี่ยนมุมมองต่อการขึ้นดอกเบี้ยทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มอ่อนค่าลงและทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ซึ่งจะทำให้มีโอกาสที่เม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศกลับมาลงทุนในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) และตลาดหุ้นไทยมากขึ้น