อาชีพครูถือเป็นอาชีพที่มีความสำคัญกับการพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าในด้านต่างๆ รวมถึงเป็นอาชีพที่มีส่วนสำคัญในการยกระดับคุณภาพประชากรในประเทศให้สูงขึ้น ทั้งนี้นอกจากครูจะเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ในสาขาวิชาต่างๆ แล้วและปลูกฝังการมีระเบียบวินัย คุณธรรม จริยธรรม ความซื่อสัตย์แล้ว ครูยังได้รับการยกย่องจากสังคมให้เป็นแบบอย่างในการประพฤติปฏิบัติและแบบอย่างทางความคิดอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ปัญหาหนึ่งที่อยู่คู่กับอาชีพครูรวมถึงบุคลากรทางการศึกษาในประเทศไทยมาอย่างยาวนานคือการเป็นหนี้เงินกู้ทั้งจากแหล่งเงินกู้ที่เป็นสถาบันการเงิน กองทุน หรือแหล่งเงินกู้นอกระบบต่างๆ
จากข้อมูลเมื่อปี พ.ศ. 2558 แสดงให้เห็นว่าจากจำนวนข้าราชการครูกว่า 450,000 คนนั้นมีมูลค่าหนี้เงินกู้ถึงกว่า 1.2 ล้านๆ บาท ทั้งนี้หน่วยงานภาครัฐได้พยายามกำหนดมาตรการแก้ปัญหาหนี้เงินกู้ รวมถึงกำหนดแนวทางช่วยเหลือแบ่งเบาภาระการเป็นหนี้เงินกู้ของข้าราชการครู เช่น การจัดทำโครงการเงินการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา แต่ปัญหาการเป็นหนี้เงินกู้ของข้าราชการครูก็ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อข่าวปัญหาหนี้เงินกู้ของข้าราชการครู
จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ปีขึ้นไป แบ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.46 เพศชายร้อยละ 49.54 สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านความรู้สึกต่อกลุ่มข้าราชการครูที่เป็นหนี้เงินกู้นั้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 52.62 ระบุว่าตนเองรู้สึกเห็นอกเห็นใจกลุ่มข้าราชการครูที่เป็นหนี้เงินกู้ต่างๆ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 38.07 ยอมรับว่าตนเองไม่รู้สึกเห็นอกเห็นใจ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 9.31 ไม่แน่ใจ
สำหรับสาเหตุสำคัญสูงสุด 5 อันดับตามความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างที่ทำให้ข้าราชการครูต้องเป็นหนี้เงินกู้ได้แก่ การใช้เงินเกินตัวคิดเป็นร้อยละ 86.7 มีภาระค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่างๆ มากคิดเป็นร้อยละ 84.54 ค่าครองชีพในชีวิตประจำวันสูงขึ้นคิดเป็นร้อยละ 82.63 ติดการพนัน/สุรา/ยาเสพติดคิดเป็นร้อยละ 79.55 และช่วยค้ำประกันให้ผู้อื่นคิดเป็นร้อยละ 76.97
ในด้านความคิดเห็นต่อปัญหาการเป็นหนี้เงินกู้ของข้าราชการครู กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 72.9 เชื่อว่ากลุ่มข้าราชการครูที่เป็นหนี้เงินกู้ต่างๆ ส่วนใหญ่ไม่ได้ศึกษาเงื่อนไขการชำระเงินกู้ก่อนการตัดสินใจกู้เงิน ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างประมาณสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 66.83 เห็นด้วยว่าการเป็นหนี้เงินกู้ของข้าราชการครูจะส่งผลกระทบทำให้คุณภาพการศึกษาไทยลดลง และกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 59.85 มีความคิดเห็นว่าการเป็นหนี้เงินกู้ของข้าราชการครูจะส่งผลเสียกับภาพลักษณ์การเป็นตัวอย่างที่ดีในสังคมของคุณครูโดยรวม
ด้านความคิดเห็นต่อโครงการเงินการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) นั้น กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 59.02 มีความคิดเห็นว่าโครงการเงิน การฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) มีส่วนช่วยแบ่งเบาภาระการผ่อนชำระหนี้เงินกู้ต่างๆ ได้จริง แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 62.51 มีความคิดเห็นว่าโครงการเงิน การฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ไม่มีส่วนช่วยลดปัญหาการเป็นหนี้เงินกู้ต่างๆของข้าราชการครูลงได้จริง
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบวิธีการแก้ปัญหาการเป็นหนี้เงินกู้ของข้าราชการครูในระยะยาวระหว่างการลดดอกเบี้ยเงินกู้กับการควบคุมการกู้เงิน กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 54.28 มีความคิดเห็นว่ารัฐบาลควรกำหนดมาตรการควบคุมการกู้เงินมากกว่า ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 16.71 ระบุว่าควรกำหนดมาตรการลดดอกเบี้ยเงินกู้มากกว่า โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 29.01 ระบุว่าควรใช้ทั้งสองมาตรการควบคู่กัน
อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างเกือบสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 74.4 มีความคิดเห็นว่ารัฐบาลจะไม่สามารถแก้ปัญหาการเป็นหนี้เงินกู้ต่างๆ ของข้าราชการครูได้ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 16.59 มีความคิดเห็นว่าจะสามารถแก้ปัญหาได้ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 8.81 ไม่แน่ใจ
หมายเหตุ : 1.หากต้องการใช้ตัวย่อสำหรับ "วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม" ขอความกรุณาท่านสื่อมวลชนใช้คำว่า วทส. หรือ STC (สอนระดับปริญญาตรี-โท-เอก) ถ้าย่อคำว่า Siamtech (สยามเทค) (สอนระดับปวช.ปวส.) เป็นคนละสถาบันการศึกษา และ 2.วิทยาลัยเทคโนโลยีสยามเป็นคนละสถาบันกันกับมหาวิทยาลัยสยาม
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit