ซีพีเอฟ ต่อยอดมาตรฐาน IFFO สู่กิจการในต่างประเทศ

17 Jan 2019
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ประกาศเดินหน้าต่อยอดมาตรฐาน IFFO Responsible Supply หรือ IFFO RS ซึ่งเป็นมาตรฐานการผลิตปลาป่นอย่างยั่งยืนในระดับสากลที่ดีที่สุดในปัจจุบัน ไปยังคู่ค้าธุรกิจปลาป่นในต่างประเทศ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าวัตถุดิบที่บริษัทใช้ทั้งหมดในห่วงโซ่คุณค่าของบริษัท ปลอดจากวัตถุดิบที่มาจากการทำประมงผิดกฎหมาย หรือ IUU
ซีพีเอฟ ต่อยอดมาตรฐาน IFFO สู่กิจการในต่างประเทศ

น.สพ. สุจินต์ ธรรมศาสตร์ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ สายธุรกิจสัตว์น้ำของ ซีพีเอฟ ชี้ถึงจุดยืนของบริษัทในการร่วมแก้ไขปัญหาการประมงผิดกฎหมายกับภาครัฐ และองค์กรที่เกี่ยวข้องต่างๆ แม้ว่าในปัจจุบันคณะกรรมาธิการยุโรปจะปลดใบเหลือง IUU ให้กับประเทศไทยแล้วก็ตาม บริษัทยังคงเดินหน้าสนับสนุนคู่ค้าในธุรกิจปลาป่นให้ดำเนินการตามมาตรฐาน IFFO RS โดยในปีนี้จะร่วมกันพัฒนาเพิ่มขึ้นอีก 5 ราย ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต แต่ยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในระบบตรวจสอบย้อนกลับ และวัตถุดิบของบริษัทด้วย

"บริษัทมุ่งพัฒนาศักยภาพคู่ค้าธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ในเรื่องระบบการตรวจสอบย้อนกลับ ให้มีประสิทธิภาพตามมาตรฐาน IFFO RS เพื่อให้ผู้บริโภค และคู่ค้าของเรามั่นใจได้ว่าวัตถุดิบของเรา มาจากการประมงที่ถูกกฎหมายตลอดห่วงโซ่อุปทาน และในปีนี้เราจะเพิ่มจำนวนคู่ค้าที่ได้รับมาตฐานขึ้นอีกเท่าตัว" น.สพ. สุจินต์ กล่าว

น.สพ.สุจินต์ ย้ำว่า มาตฐาน IFFO RS เป็นมาตรฐานรับรองวัตถุดิบสัตว์น้ำที่ได้มาจากการจับตามหลักเกณฑ์การประมงและมาจากแหล่งที่ถูกกฎหมายตามแผนการปรับปรุงพัฒนาการประมง (Fishery Improvement Plan: FIP) ของประเทศไทย สอดคล้องกับวิธีการที่ดีในการผลิตอาหารสัตว์ (Good Manufacturing Practices: GMP) ตลอดจนมีระบบการตรวจสอบย้อนกลับที่มีประสิทธิภาพตลอดห่วงโซ่การผลิต

"ความสำเร็จของแผนการปรับปรุงพัฒนาการประมงในประเทศไทยจะเป็นแนวทางให้กับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคในการป้องกันการประมงผิดกฎหมาย เพื่อการอนุรักษ์สัตว์น้ำใกล้สูญพันธุ์ และการส่งเสริมการประมงตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก ซึ่งกำหนดไว้โดยสหประชาชาติ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ" น.สพ. สุจินต์ กล่าว

ในปัจจุบัน ซีพีเอฟได้นำแนวทางปฏิบัติ และองค์ความรู้ที่ได้รับจากการทำ FIP ในประเทศไทยมาต่อยอดกับกิจการในประเทศซึ่งบริษัทประกอบธุรกิจสัตว์น้ำอยู่ ได้แก่ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินเดีย เช่น การร่วมกับสมาคมประมง บริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรม และรัฐบาลอินเดีย ร่างแผนการทำงานฉบับแรกภายใต้ FIP เพื่อให้การประมงน้ำมันปลาซาร์ดีน ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับการผลิตน้ำมันปลา ในชายฝั่งตะวันตกเป็นไปอย่างยั่งยืน เมื่อปีที่ผ่านมา ทำให้น้ำมันปลาซาดีนจากอินเดียได้รับการยอมรับ และถูกบันทึกในเว็บไซต์ FisheryProgress.org ซึ่งเป็นฐานข้อมูลที่ทั่วโลกให้การยอมรับในด้านการเปิดเผยข้อมูลความคืบหน้าของแผน FIP ทั่วโลก ตามมาตรฐานของ the Conservation Alliance for Seafood Solutions (CASS)

นอกจากนี้ วัตถุดิบปลาป่นที่ ซีพีเอฟ ใช้ในประเทศไทย มาจากการรับซื้อปลาป่นที่มาจากโรงงานแปรรูปปลา (By-Product) จากแหล่งที่ได้รับรองมาตรฐาน IFFO RS ทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว ในการดำเนินงานด้านอื่นๆ นั้น น.สพ. สุจินต์ ได้เสริมว่า ซีพีเอฟจะยังคงสนับสนุนภาครัฐ และองค์กรต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาการประมงผิดกฎหมายในประเทศไทย และทั่วโลกอย่างยั่งยืน ผ่านโครงการต่างๆ เช่น Thai Sustainable Fisheries Roundtable ศูนย์สวัสดิภาพและธรรมาภิบาลแรงงานประมงจังหวัดสงขลา หรือ ศูนย์ FLEC และ Labour Voices by LPN รวมถึงการเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายการประมงระดับโลก

"บริษัทจะยังคงให้การสนับสนุนโครงการต่างๆ เพื่อป้องกันการทำประมงผิดกฎหมาย สร้างความเชื่อมั่นในระบบตรวจสอบย้อมกลับ การทำธุรกิจอย่างยั่งยืน และการมีห่วงโซ่อุปทานที่ปราศจาก IUU แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของบริษัท" น.สพ. สุจินต์ ย้ำ.

ซีพีเอฟ ต่อยอดมาตรฐาน IFFO สู่กิจการในต่างประเทศ