นอกจากปัญหาราคาตกต่ำแล้ว การผลิตยางพาราของไทยยังมีต้นทุนสูงกว่าประเทศคู่แข่ง ทำให้สูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขัน ในขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่าประเทศไทยมีพื้นที่สวนยางส่วนหนึ่งที่อยู่ในเขตป่าสงวน ทำให้ประเทศผู้ซื้อ โดยเฉพาะสหภาพยุโรป และประเทศญี่ปุ่นกำหนดมาตรการกีดกันการค้าในรูปแบบของการออกมาตรฐานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม เช่น มาตรฐาน FSC (หรือ PEFC) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน โดยตั้งเงื่อนไขว่าจะซื้อผลิตภัณฑ์ไม้ยางพาราจากสวนยางที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน FSC เท่านั้น ซึ่งในปัจจุบันส่วนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการนี้จำกัดอยู่แค่ไม้ยางพารา แต่หากเมื่อใดที่มาตรการดังกล่าวขยายผลไปถึงยางแปรรูป จะทำให้อุตสาหกรรมยางพาราของไทยได้รับผลกระทบทั้งระบบ และนอกจากนั้นปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานกรีดยาง ซึ่งส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติ ก็ถือว่าเป็นปัญหาท้าทายที่จำเป็นต้องรีบแก้ไขอย่างเร่งด่วน
นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) เป็นยุทธศาสตร์ที่จัดทำขึ้นมาเพื่อใช้ขับเคลื่อนการพัฒนาภาคการเกษตรให้บรรลุผลตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งมีเป้าประสงค์เพื่อยกระดับให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง โดยยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปีที่จัดทำขึ้นนั้นมีเป้าหมายหลักๆ ที่ต้องการผลักดันให้บรรลุผลสำเร็จอยู่ 5 เรื่อง คือ
(1) ลดพื้นที่ปลูกยางลงจาก 23.3 ล้านไร่ ให้เหลือ 18.4 ล้านไร่
(2) เพิ่มปริมาณผลผลิตยางจาก 224 กิโลกรัม/ไร่/ปี ให้เป็น 360 กิโลกรัม/ไร่/ปี
(3) เพิ่มสัดส่วนการใช้ยางภายในประเทศจากร้อยละ 13.6 ให้เป็นร้อยละ 35
(4) เพิ่มมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางจาก 250,000 ให้เป็น 800,000 ล้านบาท/ปี
(5) เพิ่มรายได้ในการทำสวนยางจาก 11,984 บาท/ไร่/ปีให้เป็น 19,800 บาท/ไร่/ปี
ในการแปลงยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมนั้น ยุทธศาสตร์นี้ได้วางกรอบแนวทางในการขับเคลื่อนออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะสั้น ในช่วง 1-5 ปีแรก, ระยะปานกลาง ในช่วงปีที่ 6-10 และระยะยาว ปีที่ 11-20 โดยการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ยางพาราฯ ในช่วง 1-5 ปีแรกจะมุ่งเน้นไปที่เรื่องของการบังคับใช้กฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาสวนยางที่บุกรุกพื้นที่ป่าสงวน/อุทยานแห่งชาติ, การโค่นต้นยางเก่า และปลูกแทนด้วยยางพันธุ์ดี, การปรับปรุงแก้ไขมาตรการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมแปรรูปยางพารา, การผลักดันการใช้ยางในหน่วยงานของรัฐ, การส่งเสริมให้สถาบันเกษตรกรฯ ปรับเปลี่ยนจากการผลิตยางแปรรูปขั้นต้นไปเป็นการผลิตผลิตภัณฑ์ยางพารา, การจัดตั้งศูนย์จำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ยางพาราในแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ, การจัดงานแสดงสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์ยางพารา และการจัด Road Show ในประเทศเป้าหมาย"
สำหรับปีที่ 6-10 การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ยางพาราฯ จะมุ่งเน้นไปที่เรื่องของการปรับปรุง/พัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ยางพาราให้ได้มาตรฐาน มอก., การผลักดันรวมทั้งสร้างสิ่งจูงใจให้มีการนำเอาผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ และต่อยอดในเชิงพาณิชย์, การจัดตั้งศูนย์แสดงและจำหน่ายสินค้าประเภทยางพาราในประเทศที่เป็นตลาดเป้าหมาย, การจัดทำตราสินค้าผลิตภัณฑ์ยางพารา, การออกมาตรการด้านการเงินเพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางพาราเพิ่มขึ้น, การพัฒนาการซื้อขายยางพาราในรูปแบบของ "กองทุนอีทีเอฟยางพารา" และการพัฒนา "กองทุนรักษาเสถียรภาพรายได้ของเกษตรกรชาวสวนยาง" ส่วนในปีที่ 11-20 การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ยางพาราฯ จะมุ่งเน้นไปที่เรื่องของการพัฒนาและจัดหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับใช้ทดแทนแรงงานคนในสวนยางในระยะยาว, การจัดตั้งศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จเกี่ยวกับยางและผลิตภัณฑ์ยางพารา, การวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่จากองค์ประกอบที่ไม่ใช่ยางในน้ำยาง และการจัดตั้งหน่วยงานส่งเสริมการค้ายางและผลิตภัณฑ์ยางพาราในประเทศที่เป็นตลาดเป้าหมาย
สำหรับกลไกในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ จะมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ยางพาราฯ ขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ฯ ให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยคณะอนุกรรมการชุดนี้จะทำงานภายใต้คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) โดยมีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทำหน้าที่เป็นประธาน และมีผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทยทำหน้าที่เป็นกรรมการและเลขานุการ ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี ได้ผ่านความเห็นชอบจากทั้งคณะอนุกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ยางพารา และคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการนำเสนอเพื่อขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี" นายเยี่ยม กล่าวทิ้งท้าย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit