ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล ร่วมกับ นายแพทย์ ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน สสส. นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง รัฐบาลใหม่จากการเลือกตั้ง กับ นโยบายความปลอดภัยโดนใจประชาชน จากประชาชนทุกสาขาอาชีพ จำนวนทั้งสิ้น 1,094 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ถึง 11 มกราคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา พบว่า
เมื่อพิจารณา ความบ่อยในการพบเห็นข่าวอุบัติเหตุทางถนนผ่านสื่อมวลชน โซเชียลมีเดียหรือช่องทางต่าง ๆ ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 63.0 ระบุ ทุกวันหรือ เกือบทุกวัน ร้อยละ 32.2 ระบุบางวัน และ ร้อยละ 4.8 ไม่ได้พบเห็นเลย
นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบด้วยว่า ความคิดเห็นของประชาชนต่อจำนวนคนตายจากอุบัติเหตุทางถนนต่อวัน ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 66.88 คนต่อวัน โดยตัวอย่างร้อยละ 38.3 ที่ทราบว่า คนไทยตายจากอุบัติเหตุทางถนนเฉลี่ย 21,000 คนต่อปี หรือ 50 – 60 คนต่อวัน อยู่ในอันดับที่ 2 ของโลกและมีอัตราการตายจากรถจักรยานยนต์เป็นอันดับ 1 ของโลก ในขณะที่ร้อยละ 45.8 เพิ่งทราบ และร้อยละ 15.9 ไม่ทราบเลย
ที่น่าสนใจคือ เมื่อถามถึง ความต้องการเห็นรัฐบาลที่เลือกตั้งเข้ามาใหม่ให้ความสำคัญและจริงจังแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนโดยกำหนดเป็นวาระเร่งด่วน มีงบประมาณและการกำกับติดตามอย่างเข้มงวด พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 86.5 ต้องการเห็นค่อนข้างมาก ถึง มากที่สุด ในขณะที่ร้อยละ13.5 ต้องการเห็นค่อนข้างน้อยถึงเฉย ๆที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามถึงนโยบายใหม่ ๆ ที่รัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้งควรนำมาสู่การปฏิบัติ พบว่าจำนวนมากหรือร้อยละ 42.0 ระบุ รถมอเตอร์ไซค์ต้องได้สิทธิในการเดินทางอย่างปลอดภัย โดยกำหนดให้มีช่องทางสำหรับรถจักรยานยนต์ (เลนมอเตอร์ไซค์) หรือ มีการแชร์ถนนร่วมกับรถยนต์ ร้อยละ 40.4 ระบุ อุบัติเหตุแล้วมีคนตายต้องมีการตรวจวัดแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่ทั้งสองฝ่ายอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ร้อยละ 35.5 รัฐบาลต้องได้รับการประเมินและรายงานผลงานในการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนต่อสาธารณะและสภาผู้แทนราษฎร์ ร้อยละ 34.6 ระบุ รถรับส่งนักเรียนฟรี โดยรัฐอุดหนุนให้มีรถรับส่งนักเรียนเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการเดินทางไปโรงเรียนอย่างปลอดภัย และร้อยละ 34.2 ระบุ เพิ่มความคุ้มครองเยียวยาประกันภัยหลังเกิดเหตุ หากเสียชีวิตประกันภัยจ่ายไม่น้อยกว่าศพละ 1 ล้านบาท
เมื่อสอบถาม ความคิดเห็นต่อการดีเบต (แข่งขัน ระดมความคิด) เรื่องความปลอดภัยทางถนน ของ พรรคการเมือง พบว่า ร้อยละ 26.5 เห็นด้วยอย่างยิ่ง ร้อยละ 63.8 เห็นด้วย ร้อยละ 7.8 ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 1.9 ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง นอกจากนี้ เมื่อถามถึงการตัดสินใจลงคะแนนเลือกตั้งกับการมีนโยบายความปลอดภัยทางถนนของพรรคการเมือง พบว่า ร้อยละ 20.9 ระบุมีผลอย่างยิ่ง ร้อยละ 56.4 มีผล ร้อยละ 14.5 ไม่มีผล และร้อยละ 8.2 ไม่แน่ใจ
นอกจากนี้ ยังพบว่าประชาชนให้ความสำคัญระดับมากกับนโยบายของพรรคการเมืองเรื่องความปลอดภัยทางถนน คือ เมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน คะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 7.58 คะแนน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit