วันที่ 14 มกราคม 2562 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมผู้บริหารกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ลงพื้นที่ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ (ครม.) สัญจร ที่ จ.ลำปาง เพื่อเตรียมการยกระดับอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (Northern Science Park) สู่การเร่งสร้างผู้ประกอบการธุรกิจ นวัตกรรมสตาร์ทอัพ(Startup) และ เอสเอ็มอี(SMEs) ที่มีความสามารถในการแข่งขัน พร้อมยกระดับศักยภาพเชิงพื้นที่ในเรื่องการเป็นฐานการผลิตด้านเกษตรสร้างสรรค์สู่อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง (Cosmetic Valley), เศรษฐกิจฐานชีวภาพ(Bio Economy), เมืองนวัตกรรมอาหาร(Food Innovation) และ ศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพ(Medical & Wellness Hub) และการเชื่อมโยงอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือสู่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซีไอ)
ดร.สุวิทย์ เปิดเผยว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ดำเนินงานโครงการพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซีไอ(EECi) พื้นที่ประมาณ 2,000 ไร่ตั้งอยู่ในวังจันทร์วัลเลย์ ต.ป่ายุบใน อ.วังจันทร์ จ.ระยอง โดยพื้นที่แห่งนี้จะเป็นแหล่งวิจัยและนวัตกรรมที่เข้มข้น เพื่อนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้ไปตอบโจทย์ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายทั้งในพื้นที่อีอีซีและทั่วประเทศ หรือกล่าวได้ว่า หัวใจสำคัญของอีอีซีไอคือการเป็นสะพานที่จะนำทางให้งานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง โดยจะมีการขยายผลของการเชื่อมโยงสู่ภูมิภาคต่างๆ โดยเมื่อวันที่ 7 พ.ย.2561 ที่ผ่านมา ได้มีการร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงการดดำเนินงาน "โครงการเชื่อมโยงการวิจัยและพัฒนาและการลงทุนนวัตกรรมระหว่างนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกกับอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ" ระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะแม่ข่ายของอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ซึ่งอุทยานฯ ถือเป็นกลไกสำคัญที่ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ร่วมกับมหาวิทยาลัยในภาคเหนือให้นำองค์ความรู้ และงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับประชาชนและภาคอุตสาหกรรม ทำให้เกิดสตาร์ทอัพที่มีเทคโนโลยีเป็นฐานการผลิตหรือทำธุรกิจ(Tech Startups) และเอสเอ็มอี (SMEs) ที่มีความสามารถในการแข่งขันและมีศักยภาพในพื้นที่
รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันการดำเนินงานของอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ผ่านสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) ได้เปิดใช้เป็นระยะเวลา 7 เดือนได้รับการตอบรับจากผู้ประกอบการสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอี และหน่วยงานพันธมิตรในพื้นที่เป็นอย่างดี โดยมีการเข้ามาใช้ประโยชน์พื้นที่ไปแล้วมากกว่าร้อยละ 86 ซึ่งคาดว่าจะใช้ประโยชน์เต็มพื้นที่ภายในไตรมาศที่ 2 ของปี 2562 สามารถสร้างการจ้างงานกำลังคนเพื่อสนับสนุนการทำวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ 108 ราย มีการจัดกิจกรรม 410 งาน ซึ่งมีผู้ใช้ประโยชน์ทั้งสิ้น 29,400 คน และเกิดประมาณการผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น 328 ล้านบาท การเชื่อมต่อกับโครงการ EECi โดยการยกระดับอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ จึงถือเป็นโอกาสครั้งสำคัญในการนำเอาองค์ความรู้ งานวิจัย และนักวิจัยของมหาวิทยาลัยมาสู่การเร่งสร้างผู้ประกอบการนวัตกรรมในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ และ สตาร์ตอัพที่ใช้เทคโนโลยี และ เอสเอ็มอี รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยีแห่งอนาคตด้วยการเชื่อมโยงกับเทคโนโลยี มุ่งเน้นของ EECi โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีชีวภาพ มาผสานกับศักยภาพของภาคเหนือ นาไปสู่การขับเคลื่อนและ ยกระดับการผลิตด้านเกษตรสร้างสรรค์สู่อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง, เศรษฐกิจฐานชีวภาพ ,เมืองนวัตกรรมอาหาร และศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพ และเกิดการยกระดับศักยภาพเชิงพื้นที่ นำไปสู่การเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมและเพิ่มรายได้ต่อหัวประชากรในภาคเหนือ โดยใช้นวัตกรรม และดึงดูดนักลงทุนฐานนวัตกรรมเข้าสู่ประเทศดร.สุวิทย์ กล่าวอีกว่า ด้วยเหตุนี้จึง จำเป็นต้องยกระดับการพัฒนาและก่อสร้างส่วนขยายอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ ซึ่งส่วนเดิมปัจจุบัน มีข้อจำกัดของพื้นที่ให้บริการไม่สามารถขยายตามความต้องการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ที่เพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งเพื่อให้ สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล และพันธกิจการดำเนินงานของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ในการมุ่งเน้นปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและพัฒนาพื้นที่ภูมิภาคด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม(วทน.) โดยคาดว่าจะเกิดสตาร์ทอัพที่มีเทคโนโลยี และ เอสเอ็มอีที่มีนวัตกรรม อย่างน้อย 155 บริษัท เกิดจ้างงานนักวิจัยในภาคเอกชนมากกว่า 545 คน สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 3,575 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 3 ปี ทำให้ภาคเหนือเป็นกลไกสำคัญและร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศไทย
ต่อมารัฐมนตรีกระทรวงวิทย์ และคณะได้เดินทางมาที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือสดร. เพื่อร่วมประชุมกับผู้บริหาร วท. เพื่อหารือเกี่ยวกับการสร้างดาวเทียมฝีมือคนไทย หรือ Thai Space Consortium :TSC ที่จะดำเนินการร่วมกันระหว่าง สดร. สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (สทอภ.) และสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) (สซ.) ซึ่งในขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการแล้ว โดยกำลังดำเนินการในเรื่องของระบบทัศนศาสตร์หรือการทำกล้องโทรทรรศน์อวกาศ คาดว่าจะสามารถส่งขึ้นอวกาศได้ภายในปี 2567 ซึ่งดาวเทียมดวงดังกล่าวจะนำไปสู่อุตสาหกรรมอวกาศในอนาคตทั้งนี้ ยังได้หารือถึงแนวทางการนำระบบคอมพิวเตอร์ขั้นสูงถอดรหัสออกมาเป็น BIG DATA เพราะธุรกิจในอนาคตการใช้ BIG DATA จะเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ซึ่งขณะนี้ สดร. ได้ประสานกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เปิดหลักสูตร BIG DATA สำหรับปริญญาตรี โทและเอก เรียบร้อยแล้ว