จุดเริ่มต้นของแนวคิดเปลี่ยนขวดเปลี่ยนโลก โดย ทรูคอฟฟี่
นายชัยสิทธิ์ สิทธิขจรกิจการ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู ไลฟ์สไตล์ รีเทล จำกัด กล่าวถึงสถานการณ์ขยะล้นโลกยังคงสร้างสถิติเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะประเทศไทยรั้งตำแหน่งอันดับ 6 ของโลกกับปริมาณขยะสูงถึง 1.5 ล้านตัน และถึงแม้ว่าผู้ประกอบการจะมีความพยายามรักษาสิ่งแวดล้อม แต่กิจกรรมต่างๆไม่ได้สะท้อนพฤติกรรมและไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมเท่าไรนัก
ทรูคอฟฟี่ ผู้นำกาแฟแบรนด์ไทยระดับพรีเมี่ยมและเป็นอินเทอร์เน็ตคาเฟ่รายแรกของไทยที่มีสาขาให้บริการมากกว่า 100 สาขา จึงต้องประกาศจุดยืนสะท้อนความรับผิดชอบต่อสังคม โดยเป็นผู้เริ่มต้น จุดประกาย และอาสาเป็นจุดเชื่อมโยงเรื่องสิ่งแวดล้อมกับลูกค้าด้วยคอนเซ็ปต์ "Sip, Surf & Save" สำหรับยึดเป็นแนวทางในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ทั้งการการลดใช้พลาสติกในทุกๆ เมนู ตลอดจนปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ด้วยวัสดุธรรมชาติ ย่อยสลายง่าย รวมถึงการเปลี่ยนกระบวนการก่อนทิ้ง คัดแยกขยะเพื่อนำไปรีไซเคิลหรือแปรรูปอย่างถูกต้อง โดยมุ่งสื่อสารกับลูกค้าด้วยแนวคิด #เปลี่ยนขวดเปลี่ยนโลก #TrueCoffee
นางสาวณฐ เตชะวรรณเวคิน ประธานกรรมการ บริษัท ทรู ไลฟ์สไตล์ รีเทล จำกัด กล่าวเพิ่มเติมถึงกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในปี 2562 เริ่มต้นด้วยโปรเจคแรก การเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ขวดน้ำพลาสติกที่จำหน่ายภายในร้านทั้งหมดเป็น "กล่องน้ำดื่มกระดาษ TrueCoffee" ขนาด 330 มิลลิลิตร บริโภคง่าย จับกระชับมือ ซึ่งผลิตจากวัตถุดิบกระดาษและเยื่อไม้จากแหล่งป่าปลูกเชิงพาณิชย์ที่ได้รับการรับรองจากองค์การจัดการด้านป่าไม้ เป็นวัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้ พร้อมนำร่องให้บริการแก่ลูกค้า ณ ร้านทรูคอฟฟี่ 15 สาขา ได้แก่ True Tower 1- 2 สยามพารากอน Urburn Park และชั้น 4 สยามสแควร์ซอย 2 - 3, Digital Gateway, Empire Tower ศูนย์การค้า Emquartier และ Mega Banana, Bangkok Pattana, CP Tower และจุดจำหน่ายภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนกระจายเสิร์ฟลูกค้าทุกสาขาทั่วประเทศต่อไป โดยเริ่มวางจำหน่ายแล้วตั้งแต่ 24 ธันวาคมที่ผ่านมา ต่อเนื่องด้วยการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์สำหรับเสิร์ฟเครื่องดื่มและอาหารให้กับลูกค้า เช่น แก้ว ช้อนส้อม ถุงหิ้ว หลอด ให้เป็นบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากไบโอพลาสติกหรือ PLA ที่ผลิตจากข้าวโพด มันสำปะหลัง และจะดำเนินการทยอยปรับของใหม่แทนของเก่าให้ครบทั้งกระบวนการและทุกสาขา
"สิ่งที่ทรูคอฟฟี่ทำ แสดงถึงความจริงใจและรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อให้เป็นธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนและเพื่อความเป็นผู้นำอย่างแท้จริง เราจึงทำตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำให้ครบวงจร เก็บทุกรายละเอียด นอกจากเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์แล้ว เรามีระบบจัดการขยะจากกระดาษ พลาสติก PLA หรือแม้กระทั่งชิ้นส่วนขยะพลาสติกเดิมก็จะถูกคัดแยกแล้วจัดส่งไปยังจุดหมายปลายทางที่ปลอดภัย ถูกต้องตามหลักการที่เหมาะสม โดยเริ่มทำตั้งแต่ปีที่แล้ว เราเห็นผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ แม้จะเป็นการเพิ่มงาน แต่กลับสร้างความภูมิใจให้กับพนักงานได้ ทำให้เขาเป็นกระบอกเสียงอธิบายถึงสิ่งที่องค์กรกำลังทำให้ลูกค้าฟัง และที่สำคัญที่สุดคือปริมาณขยะลดลงไปมาก"
นางสาวณฐ กล่าวต่อว่า "ทุกกิจกรรมสามารถสื่อสารและขยายผลนำไปสู่การสร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมชวนให้ทุกคนรักษ์โลก อยากมีส่วนร่วมในการลดปริมาณขยะด้วยเช่นกัน ไม่เว้นแม้แต่พนักงานก็จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนำแก้วหรือภาชนะใส่อาหารมาใช้ ส่วนลูกค้าที่นำแก้วมาเองก็จะมอบส่วนลด โดยตั้งเป้า 30% ลูกค้านำแก้วมาเองในปีนี้ และจะพัฒนาโปรแกรมการมอบสิทธิประโยชน์อื่นๆ อย่าง คะแนนสะสม เพื่อสร้างแรงจูงใจมากขึ้น พร้อมนำเสนอกิจกรรมสานต่อแคมเปญต่อเนื่อง รวมทั้งส่งเสริมการนำผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติมาอยู่ในร้านมากขึ้น ยกตัวอย่างสินค้าที่ผลิตจากพันธมิตรทางการค้า เช่น แก้วที่ทำจากข้าวฟ่าง เป็นต้น"ตอกย้ำบทบาทใหม่ สร้างชุมชนยั่งยืน
นอกเหนือจากบทบาทด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว ทรูคอฟฟี่ยังมุ่งมั่นสร้างชุมชนยั่งยืนด้วยการพัฒนาส่งเสริมชุมชนในท้องที่ห่างไกล พร้อมสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชนเลี้ยงตนเองได้ โดยเริ่มสนับสนุนชาวบ้านอ.สบขุน จ. น่าน ที่เคยทำไร่เลื่อนลอยและปลูกข้าวโพดมาก่อน เปลี่ยนมาเป็นการส่งเสริมพื้นที่ปลูกกาแฟ ช่วยปรับหน้าดิน ส่งมอบเมล็ดพันธุ์ ร่วมกับการสร้างเครื่องมือสนับสนุนสร้างฝายทดน้ำเข้าชุมชน และให้ความรู้แนะนำ พัฒนาหลักสูตร และคาดการณ์จะสร้างผลผลิตกาแฟในปีนี้ ซึ่งแพลนต่อไป ทรูคอฟฟี่จะเตรียมการเปิดบริการร้านกาแฟที่สำนักงานความยั่งยืนจังหวัดน่าน พร้อมเดินหน้าความยั่งยืนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ด้วยการออกแบบร้านโดยคนในท้องถิ่น รวมถึงบาริสต้า ชักชวนแม่บ้านในชุมชนทำขนมที่แปรรูปจากถั่วมะแฮะส่งเข้าร้าน ทั้งยังรวบรวมผลผลิตของน่าน เช่นเครื่องจักสาน ผลิตภัณฑ์โอท็อปเรือเอกลักษณ์น่าน มานำเสนอร่วมด้วย ทั้งนี้ โครงการนี้ได้ช่วยพลิกฟื้นผืนดินกว่า 8 แสนไร่ให้กลับมาเป็นพื้นที่สร้างเงินให้งอกเงยและช่วยเหลือกว่า 67 ครอบครัวได้แล้ว และพบว่าชุมชนมีส่วนร่วมและมีความรู้มากขึ้น ซึ่งให้คุณค่าเหนือกว่าการสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้น โดยวางแผนจะนำแผนพัฒนาชุมชนจังหวัดน่านเป็นต้นแบบสำหรับพื้นที่อื่นๆ ในไทยต่อไป
"ถึงแม้ว่าทรูคอฟฟี่จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่เมื่อเทียบกับการสร้างกระแสตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมและชะลอความเสียหายที่เกิดขึ้นกับโลกใบนี้ เราถือว่าประสบความสำเร็จและคุ้มค่ากับการลงมือทำแคมเปญต่างๆ ให้เกิดขึ้น เพราะทำให้ขยะและมลพิษลดลง โลกสวยงามขึ้นเพื่อคนรุ่นต่อไป เป็นกำไรคืนสู่สังคม ส่วนผลประโยชน์ที่ทรูคอฟฟี่จะได้รับ เราหวังภาพจำว่าเราเป็นผู้เริ่มต้น ผู้จุดประกาย และกระบอกเสียงให้ทุกคนตระหนักและใส่ใจกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และมุ่งสื่อสารความเป็นผู้นำที่กล้านำเสนอสิ่งที่แตกต่าง เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับสังคมไทยและโลกอย่างแท้จริง" ผู้บริหารทั้งสองร่วมแสดงความเห็นทิ้งท้าย
HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit