กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ร่วมกับ สมาคมเคมีแห่งประเทศไทย ในพระอุปถัมภ์ของศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี และองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ จัดการประกาศผลรางวัล "การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ด้วยเทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วน (DOW-CST AWARD) ประจำปี พ.ศ. 2561 ภายใต้โครงการห้องเรียนเคมีดาว" พร้อมมอบรางวัลรวมมูลค่ากว่า 200,000 บาท แก่ครูและนักเรียนผู้ชนะการประกวดในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยผู้ที่ชนะเลิศรางวัลยอดเยี่ยมจะได้เข้ารับพระราชทานโล่เกียรติยศจากศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ในการประชุมวิชาการนานาชาติ Pure and Applied Chemistry International Conference (PACCON 2019) ซึ่งจะจัดขึ้นที่ไบเทคบางนา ในเดือนกุมภาพันธ์นี้
โครงการ "ห้องเรียนเคมีดาว" เป็นโครงการที่กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย และพันธมิตร ร่วมกันดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 เพื่อตอบสนองนโยบายภาครัฐว่าด้วยการส่งเสริมให้บุคลากรทางการศึกษาเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ คิดริเริ่มและสร้างสรรค์นวัตกรรม ด้วยการเพิ่มประสบการณ์และศักยภาพของครูและนักเรียนผ่านเทคนิคปฏิบัติการทดลองเคมีแบบย่อส่วน (Small-Scale Chemistry Laboratory) อันเป็นวิธีการเรียนรู้การทดลองเคมีที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงที่ได้รับการยอมรับจากยูเนสโก เพื่อยกระดับมาตรฐานการศึกษาไทย เพื่อให้การเรียนการสอนที่ทั้งครูและนักเรียนสามารถเป็นนักคิดและพัฒนาเสริมสร้างนวัตกรรมโดยเฉพาะทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สอดคล้องกับยุคประเทศไทย 4.0
ศาสตราจารย์ ดร.สุภา หารหนองบัว นายกสมาคมเคมีแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า "สมาคมเคมีแห่งประเทศไทยฯ ได้ร่วมจัดการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ DOW-CST Award และดำเนินโครงการห้องเรียนเคมีดาวมาอย่างต่อเนื่อง เนื่องด้วยเล็งเห็นว่าพื้นฐานการเรียนรู้ที่ดีเริ่มมาจากห้องเรียน การเข้าถึงองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ง่ายขึ้นด้วยเทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วน (Small-Scale Chemistry Laboratory) จะสามารถลดความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพทางการศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์ของโรงเรียนต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด และจะมอบโอกาสทางการศึกษาวิชาเคมีให้กับเด็กๆ ที่โรงเรียนไม่มีห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์หรือขาดแคลนทุนทรัพย์ในการซื้อสารเคมีและอุปกรณ์ทดลองราคาสูงมาไว้ที่โรงเรียน"
ดร.อภิญาณ์ หทัยธรรม รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า "องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติมุ่งมั่นที่จะกระตุ้นและส่งเสริมสังคมไทยให้สนใจและเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์ที่มีต่อการพัฒนาประเทศ DOW-CST Award และโครงการห้องเรียนเคมีดาว ถือเป็นการปลูกฝังให้เยาวชนมีทัศนคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อันเป็นส่วนหนึ่งของสะเต็มศึกษา ซึ่งเป็นแนวทางการจัดการศึกษาให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และสามารถบูรณาการความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี กระบวนการทางวิศวกรรม และคณิตศาสตร์ ส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมหรือโครงงานที่มุ่งแก้ปัญหาที่พบเห็นในชีวิตจริง เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า DOW-CST Award และโครงการห้องเรียนเคมีดาวจะนำไปสู่คุณภาพการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ของประเทศที่ดีขึ้น ทำให้เยาวชนของชาติเติบโตและนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพแขนงต่างๆ ได้ เป็นกลไกในการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน"
การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ DOW-CST AWARD หนึ่งในกิจกรรมภายใต้โครงการ "ห้องเรียนเคมีดาว" ในปีนี้มีครูและนักเรียนจากทั่วประเทศกว่า 153 คนร่วมส่งโครงงานเข้าประกวดทั้งสิ้น 46 โครงงาน โดยประยุกต์ใช้เทคนิคปฏิบัติการทดลองเคมีแบบย่อส่วน (Small-Scale Chemistry Laboratory) ได้อย่างสร้างสรรค์ โดยการตัดสินรอบชิงชนะเลิศจัดขึ้นในวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2562 ณ จามจุรี สแควร์ ชั้น G โดยมีรายนามผู้ชนะดังต่อไปนี้:
DOW-CST AWARD 2018 ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น
o รางวัลยอดเยี่ยม ซึ่งได้รับเงินรางวัลมูลค่า 40,000 บาท พร้อมโล่รางวัลเกียรติยศจาก ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ในการประชุมวิชาการ PACCON 2019 ได้แก่ คุณครูกัญจน์ญาณิศา นาคสวัสดิ์ จาก โรงเรียนระยองวิทยาคม ด้วยโครงงาน การตกตะกอนโลหะหนักด้วยเปลือกกล้วย
o รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ คุณครูเรวดี วิจารี จากโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ ระยอง (โครงงาน อุณหภูมิของสารกับการเกิดปฏิกิริยา) ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 20,000 บาท
o รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ คุณครูทัศนีย์ กวาดชัยภูมิ จากโรงเรียนบางปะกอกวิทยาคม (โครงงาน การจำลองหมอกในขวดแก้ว) ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 10,000 บาท
DOW-CST AWARD 2018 ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย
o รางวัลยอดเยี่ยม ซึ่งได้รับเงินรางวัลมูลค่า 40,000 บาท พร้อมโล่รางวัลเกียรติยศจาก ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ในการประชุมวิชาการ PACCON 2019 ได้แก่ คุณครูสราวุธ แท่นจินดารัตน์ จากโรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคาร ด้วยโครงงาน การบำบัดน้ำเสียโดยกระบวนการรวมตะกอนด้วยไฟฟ้า (Electrocoagulation)
o รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ คุณครูโพธิศักดิ์ โพธิเสน จากโรงเรียนสตรีศรีน่าน (โครงงาน ชุดการทดลอง Mida's Power) ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 20,000 บาท
o รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ คุณครูชยวิน โฉมงาม จากโรงเรียนปราจิณราษฎรอำรุง (โครงงาน การทดลองเคมีย่อส่วน เรื่องสารละลายบัฟเฟอร์) คุณครูชัยพร มิตรพิทักษ์ โรงเรียนหอวัง (โครงงาน การหาค่าคงที่ของแก๊ส (R) และคุณครูสุรางคณา ศรีสวัสดิ์ โรงเรียนสตรีศรีน่าน (โครงงาน พอดี๊ พอดี ที่หลอดนี้) ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 10,000 บาท
นายฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า "ดาว จัดการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ DOW-CST AWARD มาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายในการการพัฒนามาตรฐานการศึกษาไทย โดยเฉพาะบุคลากรในสถาบันการศึกษาอันได้แก่ ครูและนักเรียน และปีนี้ เราก็รู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ครูและนักเรียนจากโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศร่วมส่งโครงงานที่มีความคิดสร้างสรรค์และน่าสนใจเข้ามามากมาย โดย ดาว ประเทศไทย หวังว่าการประกวด DOW-CST AWARD จะเป็นการกระตุ้นให้ครูถ่ายทอดความรู้ทางวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะความรู้ทางเคมีให้นักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพและน่าสนใจมากยิ่งขึ้น รวมถึงสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนมีความคิดริเริ่มและสร้างสรรค์นวัตกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ"
โครงการ "ห้องเรียนเคมีดาว" หรือ Dow Chemistry Classroom ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนวิชาเคมีด้วยใช้เทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วน (Small-Scale Chemistry Laboratory) และยังมีกิจกรรมส่งเสริมการศึกษาอื่นๆ ประกอบด้วย การอบรมเชิงปฏิบัติการการทดลองเคมีแบบย่อส่วนให้แก่ครูวิทยาศาสตร์ เพื่อนำไปใช้บูรณาการการเรียนการสอนตามหลักสูตร รวมทั้งการพัฒนาครูวิทยาศาสตร์ต้นแบบดีเด่นให้เป็น Trainer เพื่อเผยแพร่เทคนิคอันเป็นประโยชน์ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง พร้อมการติดตามผลและประเมินกระบวนการสอนเพื่อแลกเปลี่ยนเทคนิคการเรียนการสอนร่วมกัน ตลอดระยะเวลาการดำเนินกิจกรรมมีคณาจารย์กว่า 1,260 คน จาก 617 โรงเรียนทั่วประเทศ และมีนักเรียนกว่า 60,000 ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ ด้วยการร่วมเข้ารับการถ่ายทอดเทคนิคการเรียนการสอนรูปแบบใหม่
เกี่ยวกับ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย
กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทยเป็นบริษัทชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย ประกอบไปด้วย กลุ่มบริษัท ดาว เคมิคอล ประเทศไทย รวมถึงกลุ่มบริษัทร่วมทุน เอสซีจี-ดาว ทั้งนี้ ดาว ประเทศไทย นับเป็นฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดของดาวในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และเป็นผู้นำในด้านการนำเข้าเคมีภัณฑ์สำหรับภาคอุตสาหกรรมในประเทศที่หลากหลาย อาทิ บรรจุภัณฑ์ การคมนาคมขนส่ง โครงสร้างพื้นฐาน ยานยนต์ การแพทย์ และสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภค ซึ่งกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย มีความมุ่งมั่นในการพัฒนานวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และมุ่งมั่นในการสร้างความร่วมมือและเครือข่ายเพื่อสร้างความยั่งยืนทั้งต่อธุรกิจและสังคม
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit