นายวีระศักดิ์ กล่าวว่ารอบ 1 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังจะเห็นได้จากประเทศไทยมีโอกาสต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ จำนวน 38.27 ล้านคน ก่อให้เกิดรายได้ 2.01 ล้านล้านบาท และจำนวนนักท่องเที่ยวไทยเที่ยวไทย 164.24 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 1,068.18 พันล้านบาท โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ตามพันธกิจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัด ซึ่งจากนโยบายสำคัญที่ได้มอบไว้แก่ข้าราชการและบุคลากรของกระทรวงฯ ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2560 คือ 1) การให้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ 2) การท่องเที่ยวต้อง "สะดวก สะอาด ปลอดภัย ได้เอกลักษณ์ และยั่งยืน" 3) การจัดตั้งคลินิกด้านการท่องเที่ยว และ 4) การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานโดยนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ ซึ่งหลายอย่างกำลังเดินหน้าไปด้วยดี ในขณะที่การตลาดเน้นนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง และเน้นการตลาดเฉพาะกลุ่มที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายสูง
กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ได้ใช้การท่องเที่ยวแบบ "วิถีไทย" เป็นตัวขับเคลื่อนด้านการท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม กระจายจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้สู่ชุมชนให้ทั่วถึง เน้นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยวด้วยการส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัย อำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ช่วยเหลือเยียวยานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติผ่านกองทุนช่วยเหลือเยียวยานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ พัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการเติบโตด้านการท่องเที่ยว รวมถึงการอบรมอาสาสมัครเพื่อการท่องเที่ยว (เจ้าบ้านที่ดี) ส่งผลให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด จนปัจจุบันประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นอันดับ 4 ของโลก
นายวีระศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า "ถึงแม้จะมีปัจจัยท้าทายทั้งในและต่างประเทศก็ตาม ในภาพรวมการท่องเที่ยวของประเทศไทยยังเติบโตเป็นไปตามเป้าหมายและเป็นการเติบโตในเชิงคุณภาพ โดยดูได้จากอัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้ สูงกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยว การท่องเที่ยวของประเทศไทยมีการพัฒนาและขยายตัวอย่างรวดเร็ว สามารถสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปีที่ผ่านมามีปรากฏการณ์สนับสนุนจากกระแสละครอิงประวัติศาสตร์ "บุพเพสันนิวาส", "นาคี" และ "งานอุ่นไอรัก...คลายความหนาว" ทำให้เกิดการเดินทางเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ นอกจากการท่องเที่ยวในเมืองหลักแล้วยังมีการกระจายตัวไปยังเมืองรองต่างๆ ตามนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบพร้อมมีมาตรการสนับสนุน ตั้งแต่การลดหย่อนภาษีแก่นักท่องเที่ยว การยกเว้นภาษีกรณีจัดอบรมสัมมนาในจังหวัดเมืองรอง การจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวของเมืองรองต่างๆ มีผลทำให้นักท่องเที่ยวขยายตัวจากปี 2554 จำนวน 50 ล้านคน เป็น 90 ล้านคน ในปี 2561 โดยนักท่องเที่ยวมีการขยายตัวไปในทุกจังหวัด"
เมืองรองที่นักท่องเที่ยวมีการขยายตัวสูงสุด 2 อันดับแรก คือ ราชบุรี และชัยนาท และยังพบว่ามีจำนวน 18 เมืองรองที่รายได้จากการท่องเที่ยวขยายตัวสูงกว่าภาพรวมของเมืองรองทั้งหมด โดยเฉพาะจังหวัดบุรีรัมย์ มีการเติบโตของผู้มาเยี่ยมเยือนสูงสุด ประมาณ 21% จากการจัดแข่งขันจักรยานยนต์ชิงแชมป์โลก (MotoGP) รายการพีทีที ไทยแลนด์ กรังด์ปรีซ์ 2018 สนามที่ 15 ซึ่ง นับเป็นกิจกรรม Sports Tourism ที่ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่งเพราะมีประชาชนและนักท่องเที่ยวเดินทางมาชมการแข่งขันมากกว่า 205,000 คน ก่อให้เกิดรายได้แก่จังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดในพื้นที่ใกล้เคียงมากกว่า 3,100 ล้านบาท
สำหรับแนวโน้มการท่องเที่ยวปี 2562 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้คาดการณ์แนวโน้มโดยการวิเคราะห์อนุกรมเวลา (Time Series) ซึ่งใช้ฐานข้อมูลเชิงปริมาณที่จัดเก็บโดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬานำมาแปลงข้อเท็จจริงในอดีตไปพยากรณ์คาดการณ์แนวโน้มการท่องเที่ยวในอนาคต โดยคาดการณ์ว่าปี 2562 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 41.1 ล้านคน (+7.5%) สร้างรายได้ 2.21 ล้านล้านบาท (+10%) โดยแนวโน้มรายสัญชาติคาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวจากจีน 11.69 ล้านคน (+11%) จากประเทศในอาเซียน 11.31 ล้านคน (+10%) และจากยุโรป 6.90 ล้านคน (+2%)
"ถึงวันนี้ผลพวงที่ผมได้มอบเป็นนโยบายแก่ข้าราชการผู้ใต้บังคับบัญชาไว้เมื่อตอนเข้ามารับตำแหน่งเริ่มผลิดอกออกผล ให้ปรากฏเห็นเป็นรูปธรรม เป็นความงดงามของเมืองรอง เป็นรอยยิ้มกว้างๆ ของผู้คน ในชุมชนท้องถิ่นที่มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการมีโอกาสนำผลิตภัณฑ์งานฝีมือ ตลอดถึงของกินของใช้ มาอวดโชว์นักท่องเที่ยวและคนต่างถิ่น นี่คือความสุขที่ได้กระจายตัวออกไปอย่างทั่วถึง...อย่างแท้จริง" รมว.วีระศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit