ผนึกอาเซียน รับมือภัยพิบัติด้านน้ำ พร้อมชูงานวิจัยด้านน้ำ มุ่งเป้า ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ

28 Jan 2019
โดย การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์และสื่อสารสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
ผนึกอาเซียน รับมือภัยพิบัติด้านน้ำ พร้อมชูงานวิจัยด้านน้ำ มุ่งเป้า ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ

ในการแถลงข่าว "สถานการณ์ด้านน้ำที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติในอาเซียน และแนวทางการสร้างความร่วมมือในการทำงานร่วมกันเพื่อนำไปสู่สังคมที่ยั่งยืน"ที่มีขึ้นในโอกาสการประชุมวิชาการนานาชาติประจำปี 2019 ว่าด้วยการบริหารจัดการน้ำและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ในมิติความสัมพันธ์ระหว่างน้ำ-พลังงาน-อาหาร (Water-Energy-Food : Nexus) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(SDGs)ในภูมิภาคเอเชีย หรือ THA 2019 ที่จัดขึ้นโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และเครือข่ายภาคีด้านน้ำ เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นักวิจัยทั้งในประเทศและนักวิจัยจากประเทศในภูมิภาคอาเซียนเข้าร่วมกว่า 30 ประเทศ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญจากสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลี และตัวแทนจาก UN-ESCAP เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านการบริหารจัดการน้ำ ชลประทาน การจัดการภัยพิบัติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ทั้งระดับอาเซียนและระดับเอเชีย

ดร.พงษ์ศักดิ์ สุทธินนท์ จากภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะนักวิจัยด้านน้ำ กล่าวว่า "การบริหารจัดการน้ำและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ในมิติความสัมพันธ์ระหว่างน้ำ-พลังงาน-อาหาร (Water-Energy-Food : Nexus) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(SDGs) เป็นเรื่องที่ยูเอ็นกำหนดขึ้น ซึ่งเป็นใหม่และเป็นเรื่องยากที่จะนำไปปฏิบัติหากไม่มีงานวิจัยเป็นตัวนำ ดังนั้น หลังจากที่ไทยมีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์น้ำ มีสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)รับผิดชอบในการบริหารจัดการน้ำของประเทศ และมี พ.ร.บ.น้ำที่กำลังประกาศใช้ ซึ่งเปรียบเสมือน 3 เสาหลักด้านการบริหารจัดการน้ำของประเทศ ในส่วนที่จะเข้ามาเพิ่มเติมคือเรื่องของเทคโนโลยี ต่อไปก็จะต้องมีงานวิจัยเข้ามาเป็นตัวเติมให้ไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ เพราะถ้าไม่มีการทำงานวิจัยและพัฒนา หรือ R&D เข้าไป Innovation ก็จะไม่มีทางเกิด"

การจัดประชุมนี้ เป็นความพยายามในการพัฒนาแพลตฟอร์มเชิงการพัฒนาองค์ความรู้ เพื่อนำเสนอไอเดียและความก้าวหน้าของแต่ละประเทศว่ามีการทำอะไรกันแล้วบ้าง และนำความรู้ที่ได้กลับไปใช้แล้วนำกลับมาเสนอสิ่งที่ทำกันไป ทุกๆ 2 ปี ซึ่งในแต่ละครั้งก็จะหาหัวข้อหรือเรื่องใหม่ๆ ที่จะช่วยประเทศที่ไม่ใช่แค่เพียงด้านวิชาการเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องที่จะต้องตอบโจทย์ประเทศด้วย เช่นเรื่องยุทธศาสตร์น้ำ และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

"แต่คำถามคือจะทำอย่างไรเพื่อให้ไปสู่เป้าหมายที่กำหนดให้ไทยหลุดพ้นจากประเทศที่มีรายได้ปานกลาง จากรายได้เฉลี่ยน 6,000 ดอลล่าร์สหรัฐ เป็น 15,000 ดอลล่าร์สหรัฐต่อคนต่อปี แต่ถ้าจะให้ประเทศโตอย่างนั้นเราจะต้องใช้น้ำเท่าไหร่ ใช้พลังงานเพิ่มขึ้นอีกเท่าไหร่ ต้องการอาหารมากขึ้นอีกเท่าไหร่ และความต้องการใช้ที่ดินมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ยังไม่มีคำตอบ จึงต้องใช้งานวิจัยนำ เอางานวิจัยไปตอบว่าจะเป็นไปได้ตามเป้าหรือไม่ จะต้องลงทุนอะไรบางอย่างหรอืไม่ที่จะสามารถนำไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ โจทย์จึงไม่ใช่แค่เรื่องของน้ำ แต่โจทย์คือ จะทำอย่างไรที่จะทำให้การพัฒนาประเทศไปสู่เป้าหมายไม่มีปัญหา โดยใช้เรื่องของน้ำ-พลังงาน และอาหาร เป็นประเด็นในการพัฒนา นี่คือไอเดียที่เราพยายามจะเอางานวิชาการและงานวิจัยมาทำให้เป็นจริงจับต้องได้ ไม่ใช่แค่สิ่งที่ลอยอยู่ในอากาศหรืออยู่ในตำรา"

ดร.พงษ์ศักดิ์ ยังได้กล่าวถึงข้อเสนอแนะว่า การที่ประเทศจะเติบโตแบบก้าวกระโดดเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย ต่อไปการจะปลูกข้าวขายข้าวอย่างเดียวไม่ได้แล้วหรือปลูกอ้อยอย่าขายแค่อ้อย แต่จะต้องเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร สมมุติว่าเมื่อก่อนเราใช้น้ำ 1 ตัน ผลิตข้าวได้ 1 กิโลกรัม ขายข้าวได้ 10 บาท แต่เป้าหมายคือให้ประเทศโตขึ้นจาก 6,000 ดอลล่าร์สหรัฐ เป็น 15,000 ดอลล่าร์สหรัฐ เราจะขายข้าวในราคา 10 บาทไม่ได้แล้ว เราจะต้องเพิ่ม value added เราจะต้องเปลี่ยนเป็นใช้น้ำ 1 ตัน ผลิตข้าวได้เพิ่มขึ้น 10 กิโลกรัม นอกจากเงินจะเพิ่มขึ้นแล้วการใช้น้ำลดลงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น นี่คือความหมายของคำว่า โปรดักติวิตี้ ซึ่งต้องใช้งานวิจัยนำ แต่ถ้าเรายังทำแบบเดิมๆ ก็จะได้ผลแบบเดิมๆ อย่าไปหวังว่าจะพัฒนาประเทศแบบก้าวกระโดดได้ไม่มีทาง แต่สิ่งเหล่านี้คือแก๊บที่ใหญ่ของประเทศ จึงต้องเรียนรู้จากประเทศที่เก่งกว่าเช่นเกาหลี ญี่ปุ่น เป็นต้น เพราะแม้กระทั่งจีนที่พัฒนาประเทศให้เจริญเติบโตขึ้นมาได้ขนาดนี้ ก็เพราะจีนเน้นเรื่องการทำ R&D

นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน (ด้านบำรุงรักษา) กรมชลประทาน ในฐานะตัวแทนประเทศไทย กล่าวถึงการสร้างความมั่นคงด้านน้ำของไทยว่า หลังอุทกภัยปี 2554 รัฐบาลได้มีการจัดทำยุทธศาสตร์น้ำเพื่อใช้เป็นแผนบริหารจัดการน้ำของทุกภาคส่วนโดยมีประเด็นสำคัญ 6 ด้านที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน(SDGs) ได้แก่ น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค, น้ำเพื่อภาคการผลิตทั้งภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ, การบรรเทาและการป้องกันภัยพิบัติที่เกิดจากน้ำ, การจัดการคุณภาพน้ำในแต่ละลุ่มน้ำ, การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ และการบริหารจัดการน้ำ นอกจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แล้วยังมี พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำแห่งชาติที่รัฐบาลกำลังจะประกาศใช้ ซึ่งจะเป็นส่วนที่เข้ามาสร้างความมั่นคงเรื่องน้ำของไทย

แต่เนื่องจากสภาพอากาศปัจจุบันที่มีความแปรปรวนอย่างมาก ทำให้การบริหารจัดการ จะต้องมีการทบทวน ติดตาม การนำเอาสถิติการเกิดภัยรูปแบบของฝนในช่วง 10 ปีมาพิจารณาแทนการใช้รอบระยะเวลา 30 ปี เพื่อให้สามารถปรับการบริหารได้สอดคล้องกับสถานการณ์ ในส่วนของกรมชลประทานช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ได้มีการพัฒนาศักยภาพการกักเก็บน้ำ โดยการพัฒนาแหล่งน้ำทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลางในพื้นที่ต่างๆ ทำดให้สามารถเพิ่มปริมาณกักเก็บน้ำได้กว่า 1,600 ล้านลูกบาศก์เมตร ป้อนพื้นที่เกษตรกรรมในเขตชลประทานได้กว่า 2.3 ล้านไร่ และการจัดหาพื้นที่กักเก็บหรือเป็นที่พักน้ำชั่วคราวในช่วงฤดูน้ำหลากเพื่อลดอุทกภัย เช่น แก้มลิงธรรมชาติ ซึ่งในปีที่ผ่านมาไทยใช้พื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่งเจ้าพระยาตอนล่างเป็นแก้มลิงชั่วคราว 1.5 ล้านไร่ สามารถพักน้ำได้ 2,000 ลูกบาศก์เมตร ถือเป็นเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการบริหารจัการเชิงลึก

ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง รองผู้อำนวยการด้านการวิจัยพื้นฐานและพัฒนานักวิจัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวเสริมว่า ยุทธศาสตร์การสนับสนุนงานวิจัย สกว. ปัจจุบัน มุ่งเน้นการหนุนเสริมงานวิจัยที่สร้างผลกระทบกับสังคมและเป็นงานวิจัยที่ใช้ประโยชน์ได้โดยตรงกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดย สกว.เป็นเสมือนตัวเร่งปฏิกิริยา มีหน้าที่เติมเต็มในเรื่องของสนับสนุนองค์ความรู้เทคโนโลยีและงานวิจัยให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะเรื่องของการบริหารจัดการน้ำ ต่อไปงานวิจัยจะต้องมุ่งเป้า คือ เน้นการนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง เรื่องของน้ำจะต้องตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ จะต้องเชื่อมโยงระหว่างยุทธศาสตร์น้ำกับยุทธศาสตร์ชาติ " ทั้งนี้ มองว่าบทเรียนการแก้ปัญหาด้านน้ำที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติ ตลอดจนปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ของประเทศอาเซียนที่ผ่านมา แม้จะมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันบ้างแล้ว แต่ยังคงประสบปัญหาการถอดบทเรียนความสำเร็จจากประเทศหนึ่งไปยังประเทศ งานวิจัยจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งในการขับเคลื่อนการทำงานนี้"

ด้านตัวแทนจากอาเซียน ดร.โมฮัด ซากี้ ผอ.สถาบันวิจัยอุทกวิทยา ประเทศมาเลเซีย กล่าวว่า ภัยพิบัติที่เกิดถี่ขึ้นทำให้ต้องมีการวางแผนระยะยาว 5 ปี ซึ่งมีแนวปฏิบัติทางทั้งยามปกติและยามวิกฤต โดยการจัดการน้ำเหมือนไทยที่จะเน้นภาคเกษตร แต่เมื่อเกิดวิกฤตจะตัดเรื่องภาคเกษตรออกไปเพื่อให้สำรองไว้สำหรับการบริโภคและอุปโภคเท่านั้นอย่างไรก็ตามมาเลเซียยังมีปัญหาการเชื่อมโยงกันระหว่างส่วนกลางกับส่วนภูมิภาคหรือระดับท้องถิ่นและปัญหาการเชื่อมโยงกันของโครงกสร้างกับระบบการจัดการยังเป็นอุปสรรคสำคัญในการทำงาน ขณะที่ศาสตราจารย์อลัน มิลาโน นักวิชาการจาก Mindanao State University Iligan Institute of Technology (MSUIIT) ประเทศฟิลิปปินส์ กล่าวว่า เนื่องจากฟิลิปปินส์ประสบปัญหาเรื่องของพายุไต้ฝุ่นและภัยพิบัติค่อนข้างมาก จึงเน้นแก้ปัญหาด้านภัยพิบัติที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งมากกว่า และด้วยประชากรที่เพิ่มมากขึ้น เป็นปัจจัยที่ทำให้ประสบภาวะขาดแคลนน้ำและอาหาร แนวทางการแก้ปัญหา เช่น การวางแผนการจัดเก็บน้ำหน้าฝนไปใช้ในหน้าแล้งให้เพียงพอกับภาคครัวเรือน รวมถึงการขนน้ำใช้รถไปแจกจ่ายในพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ซึ่งคล้ายคลึงกับการจัดการปัญหาในประเทศไทย

รศ.ดร.ชนาธิป ผาริโน ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายและสวัสดิภาพสาธารณะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาการจัดการน้ำ เป็นเรื่องที่ไทยและประเทศอาเซียนกำลังเผชิญ ทั้งเรื่องน้ำมีเพียงพอหรือไม่ คุณภาพของน้ำเป็นอย่างไร รวมถึงปัญหาเรื่องของภัยพิบัติจากน้ำ ตอนนี้เราไมได้พูดกันถึงน้ำในภาวะปกติ เพราะเมื่อมีการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเพิ่มขึ้น ขณะที่น้ำมีเท่าเดิม การบริหารจัดการแบบเดิมอาจจะไม่เพียงพอและน้ำยังมีความแปรปรวนจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเหมือนกันแทบทุกประเทศทั้งในอาเซียนและทั่วโลก เรื่องน้ำจึงเป็นเรื่องของคนทั้งโลกไม่ใช่คนใดคนหนึ่ง จึงต้องสร้างความร่วมมือ แลกเปลี่ยน และถอดบทเรียน นำมาสู่ความร่วมมือกันให้มากขึ้น และอย่างน้อยการขับเคลื่อนของภาควิชาการ งานวิจัย และหน่วยงานด้านนโยบายที่ได้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ครั้งนี้ จะทำให้ผู้ที่อยากได้โจทย์ไปวิจัย และผู้ที่ต้องการนำงานวิจัยไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง รวมถึงการสนับสนุนทุนสวิจัยก็จะตรงตามเป้าหมายที่ต้องการ

อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยในปี 2562 ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นประธานอาเซียน โดยในการจัดงานในปีนี้ มีแนวคิดหลักคือ "Advancing Partnership for Sustainability" หรือ "ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน" ซึ่งแต่ละคำมีความหมายที่โยงถึงยุทธศาสตร์ของไทยในการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน และบ่งบอกถึงทิศทางการขับเคลื่อนภูมิภาคภายใต้แนวคิด "ความยั่งยืน ความเชื่อมโยง และการมองไปสู่อนาคต" และการบริหารจัดการน้ำ พลังงาน และอาหาร (Water-Energy-Food : Nexus) เป็นตัวอย่างของความต้องการการร่วมมือดังกล่าว ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในภูมิภาคเช่นเดียวกัน

ผนึกอาเซียน รับมือภัยพิบัติด้านน้ำ พร้อมชูงานวิจัยด้านน้ำ มุ่งเป้า ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ ผนึกอาเซียน รับมือภัยพิบัติด้านน้ำ พร้อมชูงานวิจัยด้านน้ำ มุ่งเป้า ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ ผนึกอาเซียน รับมือภัยพิบัติด้านน้ำ พร้อมชูงานวิจัยด้านน้ำ มุ่งเป้า ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ