Pledgecamp โปรเจ็คต์จากซิลิคอน วัลเลย์ เยือนไทย ให้ความรู้เกี่ยวการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อความโปร่งใสในการระดมทุนของสตาร์ทอัพ

29 Jan 2019
PLEDGECAMP : The Next Generation of Crowdfunding
Pledgecamp โปรเจ็คต์จากซิลิคอน วัลเลย์ เยือนไทย ให้ความรู้เกี่ยวการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อความโปร่งใสในการระดมทุนของสตาร์ทอัพ

จะดีแค่ไหนหากมีแพล็ทฟอร์มที่สามารถติดตามผลการดำเนินงานและความโปร่งใสของการระดมทุนในสตาร์ทอัพต่างๆด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน ?

เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา ณ อาคารเคเอ็กซ์ โนว์เลดจ์เซ็นเตอร์ กรุงเทพมหานคร ภายในงาน LD REDEFINE MEET UP ซึ่งจัดขึ้นโดยบริษัทแอลดี แคปิตอล จำกัด ร่วมมือกับ บริษัท เจเนสิส แคปิตอล จำกัด ภายใต้การดำเนินงานจาก Onexpo และ DIFY บริษัทผู้ให้คำปรึกษาด้านการประชาสัมพันธ์จากประเทศสิงคโปร์ ได้นำเสนอ "PLEDGECAMP" บล็อกเชนโปรเจ็คต์จากซิลิคอนวัลเลย์ที่มี แรนดี้ ซัคเคอร์เบิร์ก CEO จาก Zuckerberg Media พี่สาวแท้ๆของเจ้าพ่อเฟซบุคอย่างมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์กนั่งแท่นเป็นหัวเรือใหญ่ในทีมผู้ให้คำปรึกษา ย่อมต้องทราบปัญหานี้ดีทั้งประสบการณ์จากน้องชายของเธอ และโปรเจ็คต์ที่เธอได้ร่วมอยู่ในทีมงานที่พัฒนาขึ้นมาเอง

PLEDGECAMP เป็นโปรเจ็คต์ที่ระดมทุนได้แล้วกว่า 17 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อยู่ในกลุ่มท็อป 1% จากเวบไซต์ระดมทุนชื่อดังอย่าง KickStarter.com และยังเป็นบริษัทที่ให้คำปรึกษาสำหรับสตาร์ทอัพอื่นๆที่กำลังตามรอยพวกเขาอีกด้วย ได้ทำการสำรวจและประเมินข้อมูลพบว่า ระหว่างปีค.ศ. 2016 – 2020 มูลค่าการระดมทุนในสตาร์ทอัพทั่วโลกจะมีมูลค่าพุ่งสูงถึง 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 31.6 ล้านล้านบาทโดยประมาณ

แต่จากสถิติที่รวบรวมมาพบว่า 36% ของโปรเจ็คต์สตาร์ทอัพมีการดำเนินงานช้ากว่าช่วงเวลาที่ประกาศตกลงไว้ 16% ไม่สามารถส่งมอบสินค้าหรือผลิตภัณฑ์จากไอเดียที่นำเสนอเพื่อระดมทุนได้ และ 27% เป็นโปรเจ็คต์ที่ผู้ในการสนับสนุนไม่ต้องการที่จะสนับสนุนต่อไป จึงทำให้เกิดการสูญเปล่าทั้งต่อผู้พัฒนาและผู้ลงทุนสนับสนุน

ด้วยปัญหาเหล่านี้ PLEDGECAMP จึงนำประโยชน์จากเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาจัดการ โดยสร้างการโปร่งใสจากระบบรู้จักและยืนยันตัวตน (KYC ; Know Your Customer) ใช้ระบบสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) ในการกำหนดเส้นตายวันส่งมอบสินค้าหรือผลิตภัณฑ์จากการระดมทุนภายใต้ความเป็นไปได้จากการประเมินสมมติฐานจริง รวมถึงสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างผู้สนับสนุนและโปรเจ็คต์สตาร์ทอัพให้มากขึ้น เช่นได้รับเครดิตเหรียญ (Token) จากการเขียนรีวิวแนะนำ หรือการแนะนำผู้อื่นให้มาใช้งานมากกว่าจะเป็นการสนับสนุนด้านการให้เงินทุนเพียงอย่างเดียว รวมถึงการใช้เครือข่ายของ Accelerator ที่ร่วมเป็นพันธมิตรด้านต่างๆกับ PLEDGECAMP อยู่แล้วในการสนับสนุนโปรเจ็คต์สตาร์ทอัพได้เข้าถึงวัตถุดิบหรือกระบวนการผลิตต่างๆได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังมีระบบประกันความเสี่ยงสำหรับเงินลงทุนของเหล่าผู้สนับสนุนว่าจะไม่สูญหายไปแน่นอน

ถือเป็นตัวอย่างการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ทั้งทางผู้พัฒนาและผู้ลงทุนได้อย่างดีเยี่ยม เพราะถ้าเกิดระบบที่สามารถสร้างความมั่นใจและความโปร่งใสในการระดมทุนมากขึ้นก็จะทำให้ผู้คนทั่วไปรวมทั้งองค์กรขนาดใหญ่สนใจที่จะมาลงทุนในเทคโนโลยีมากขึ้นเช่นกัน