กระทรวงเกษตรฯ แนะชาวไร่ลดการเผาซากพืช หันมาใช้วิธีไถกลบ แก้ปัญหาฝุ่นละอองในอากาศ ด้านฝนหลวงฯ มุ่งมั่นสานต่องานศาสตร์พระราชา พร้อมปฏิบัติการฝนหลวงและพัฒนางานวิจัย ในโอกาสครบรอบ ๖ ปี กรมฝนหลวงและการบินเกษตร

25 Jan 2019
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในโอกาสเป็นประธานพิธีวันคล้ายวันสถาปนากรมฝนหลวงและการบินเกษตร ครบรอบปีที่ 6 และเป็นประธานในพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์และห้องสมุดกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จัดตั้งขึ้นเพื่อรองรับโครงการพระราชดำริฝนหลวงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ทรงให้ความสำคัญด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบครบวงจร รวมถึงการบริหารจัดการน้ำในชั้นบรรยากาศ โครงการฝนหลวงสามารถช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกร ก่อให้เกิดประโยชน์สมดังพระราชปณิธานของพระองค์ ตลอดจนบุคลากรกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ร่วมกันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวงตามแนวทางศาสตร์พระราชา ตำราฝนหลวงพระราชทาน เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง ส่งผลให้เกษตรกรมีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง สามารถพึ่งพาตนเองได้ สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มุ่งยกระดับมาตรฐานการเกษตรสู่ความยั่งยืน โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

นายกฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับปัญหาฝุ่นละอองในปัจจุบันที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมฝนหลวงฯ ได้ขึ้นบินปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการขึ้นบินฝนหลวงจะประสบความสำเร็จขึ้นอยู่กับเงื่อนไข 2 ประการ 1. ต้องมีความชื้นสัมพัทธ์ที่ค่อนข้างสูง อยู่ในระดับร้อยละ 60-70 และ 2. ค่าการยกตัวของเมฆ ถ้าติดลบ และความชื้นสัมพัทธ์มาก ก็สามารถปฏิบัติการฝนหลวงได้สำเร็จ โดยตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม มีค่าความชื้นสัมพัทธ์สูงถึงร้อยละ 70 และค่าการยกตัวของเมฆติดลบ ทำให้ปฏิบัติภารกิจสำเร็จปริมาณฝนตกตามพื้นที่เป้าหมาย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้มีการประสานงานกับหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบแก้ไขเกี่ยวข้องกับฝุ่นละออง คือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณะสุข ในส่วนของกรมฝนหลวงฯ ได้มีการเตรียมความพร้อมฐานบิน สถานีที่ทำฝนหลวงรอบ กทม. และเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ ระบบการสื่อสาร และติดตามสภาพอากาศ ตลอด 24 ชม.

"ค่าฝุ่นละอองใน กทม.ขณะนี้ เกิดจากมลพิษ การใช้ชีวิตของมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไป รัฐบาลพยายามลดหรือบรรเทาเบาบาง ขณะนี้แม้เราแก้ไขโดยการใช้ฝนหลวงไม่ได้ จึงบรรเทาด้วยวิธีการฉีดพ่นละอองน้ำ การตรวจจับควันดำยานพาหนะที่ปล่อยแก๊ส โรงงานปล่อยของเสีย ซึ่งค่าความเสียของอากาศหรือค่าฝุ่นที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ อยู่ในระดับที่จะมีผลต่อสุขภาพ แต่กราฟแสดงคุณภาพอากาศไม่ได้ขึ้นสูงทุกวัน บางวันลดลง เรื่องเหล่านี้ยอมรับว่าเป็นความพยายามของรัฐบาล ในขณะเดียวกันจะประสบความสำเร็จได้นั้นต้องขึ้นอยู่กับสภาพอากาศด้วย" นายกฤษฎา กล่าว

นายกฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้กระทรวงเกษตรฯ ได้มีนโยบายเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน โดยการจูงใจไม่ให้เกษตรกรเผาซากพืช ที่ทำการเกษตร ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน โดยประสานงานกับ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ ได้หาเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยวิธี "ผลาญ 3 ผลาญ 4" คือ การไถกลบด้วยจอบ หรือรถไถ ในกรณีที่เกษตรกรปลูกข้าวโพด เดิมเมื่อเก็บฝักข้าวโพดเสร็จก็จะนำไปเผา เพื่อเตรียมทำพืชฤดูใหม่ แต่ปัจจุบันพบว่าเมื่อเก็บข้าวโพดเสร็จจะมีการไถกลบ แล้วโปรยสารอีเอ็มเพื่อย่อยสลายภายใน 15 วันหรือ 1 เดือน ทำให้ดินกลายเป็นปุ๋ย ขณะนี้ได้เผยแพร่วิธีดังกล่าวไปยังเกษตรกรซึ่งเป็นที่นิยม เนื่องจากวิธีเผานั้นทำให้ดินเสียหาย รวมทั้งเจ้าหน้าที่จากกระทรวงมหาดไทยได้สร้างความเข้าใจให้กับเกษตรกรเพื่อหันมาลดการเผาให้มากขึ้น ดังนั้นในปี 2559-2561 มีค่าความร้อนของอากาศที่เกิดจากการเผาของซากพืช วัชพืช น้อยหรือแทบไม่มีเลย

ด้านนายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า การดำเนินงานที่ผ่านมา กรมฝนหลวงฯ ได้ปฏิบัติการทำฝนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนที่ขาดแคลนน้ำได้ค่อนข้างสมบูรณ์ โดยประสิทธิภาพการทำฝนอยู่ที่ประมาณ ๙๕ % ขึ้นไป ในแต่ละปีสามารถช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรได้ถึง ๒๐๐-๓๐๐ ล้านไร่ รวมทั้งมีการพัฒนางานวิจัยและเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำฝน รวมถึงในด้านความร่วมมือกับต่างประเทศและการเผยแพร่ศาสตร์พระราชาในต่างแดน ยังคงดำเนินงานอยู่อย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้ง สำหรับแผนการดำเนินงานในปีต่อไป ยังคงดำเนินงานและภารกิจต่าง ๆ ได้แก่ การขับเคลื่อนโครงการวิจัย เช่น การศึกษาวิจัยการทำฝนด้วยเทคนิคเผาจากภาคพื้น (Ground Based Generator) จะทดลองในพื้นที่ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่อับฝน โดยการเผาให้เป็นควันอนุภาพเล็กๆ ลอยขึ้นไปหาเมฆ เพื่อทำกระบวนการให้เกิดฝน รวมทั้ง โครงการวิจัยพัฒนาอากาศยานไร้นักบิน (UAV) เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการฝนหลวงแบบเมฆอุ่นโดยใช้ UAV ยิงพลุสารเคมีซิลเวอร์ไอโอไดด์ และเป็นส่วนหนึ่งในการสืบสานศาสตร์พระราชา นอกจากนี้ จะมีการปรับขยายศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงเพิ่มขึ้นจากเดิม ๕ ศูนย์ คือ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง จ.บุรีรัมย์ และจะมีการพิจารณาย้ายศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง จ.เชียงใหม่ มาประจำการ ที่ จ.ตาก เนื่องจากสนามบินเชียงใหม่ จราจรค่อนข้างแออัด ไม่สะดวกในการขึ้นบินปฏิบัติการ รวมทั้งมีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงเพิ่มอีกแห่งที่ จ.พิษณุโลกในปี 2563 ตลอดจนเร่งดำเนินการจัดตั้งโรงเรียนการบินฝนหลวง ที่ จ.ตาก เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนนักบิน พร้อมรองรับความร่วมมือระหว่างประเทศ ในส่วนของนักบินต่างประเทศที่เข้ามาเรียนรู้การบินทำฝนหลวง เนื่องจากการบินทำฝนแตกต่างจากการบินปกติ และจัดสร้างศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการดัดแปรสภาพอากาศ ที่ จ.เพชรบุรี เป็นแหล่งความรู้ด้านงานวิจัย งานวิชาการ โดยเป็นศูนย์อบรมเพิ่มพูนความรู้ให้กับบุคลากรฝนหลวง และต่างประเทศที่สนใจ รวมทั้งโรงเรียนการบินฯ และศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยี คาดว่าในปี 2563 จะเป็นรูปธรรม