การประกาศเจตนารมณ์ "ขับเคลื่อนมหาสารคาม...สู่การเป็นเมืองหลวงแห่งเกษตรกรรมยั่งยืน" ในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 300 คน ซึ่งเป็นผู้แทนจากทุกอำเภอ ประกอบด้วย เกษตรกรองค์กรจากเกษตรกร ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ทั้งระดับอำเภอและระดับจังหวัด เพื่อมารับฟังนโยบายและแนวทางในการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืน ตลอดทั้งประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันในการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนของจังหวัดมหาสารคาม สู่การเป็นเมืองหลวงแห่งเกษตรกรรมยั่งยืน
"ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อทุกภาคส่วนร่วมแรงร่วมใจกัน ดังที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ตรัสว่า 'สามัคคีคือพลัง ค้ำจุนแผ่นดินไทย' ภาคเกษตรของไทยจะไปไม่รอด หากไม่มีการปรับตัว เนื่องจากปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจของโลกกำลังตกต่ำลงทุกขณะ ส่งผลให้อาหารโลกเข้าสู่ภาวะวิกฤติ ประชากรโลกเพิ่มมากขึ้นทุกวัน ในขณะที่อาหาร และอากาศบริสุทธิ์ลดน้อยลงทุกที โดยปัจจุบันค่า GDP ไม่สามารถวัดคุณภาพชีวิตของประชากรได้ แต่สิ่งที่วัดได้ คือ มีอากาศบริสุทธิ์อยู่หรือไม่ ดังนั้น ระบบการผลิตทุกด้านจึงต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย ทุกโรงพยาบาล ทุกโรงเรียน ทุกโรงแรม ต้องมีอาหารปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภค โดยรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการทำเกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยมุ่งลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนสร้างความมั่นคงทางอาหาร รวมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ จังหวัดมหาสารคามจะเป็นเมืองหลวงแห่งเกษตรกรรมยั่งยืนได้ ด้วยการบูรณาการร่วมกันขับเคลื่อนเกษตรกรรมในทุกระดับพื้นที่ เน้นการลงมือทำ เพื่อผลักดันให้เกษตรกรรมของจังหวัดเกิดความยั่งยืนไปสู่ชั่วลูกชั่วหลานต่อไป" นายวิวัฒน์ กล่าว