รศ.เอนก ศิริพานิชกร ประธานวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า ในกรุงเทพมหานครและเมืองใหญ่มีอุบัติเหตุจากเครน หรือ ปั้นจั่น บ่อยครั้ง ล่าสุดจากเหตุการณ์เศร้าสลดเครนถล่ม เกิดขึ้นในเวลา 12.50 น. วันที่ 23 ม.ค. 2562 บริเวณคอนโดมิเนียมขนาด 35 ชั้นในระหว่างการก่อสร้าง พบทาวเวอร์เครนสูงประมาณ 40 เมตร ซึ่งเป็นปั่นจั่นหอสูงแบบคอห่าน (Goose Neck) มี 2 แขนต่อด้วยจุดหมุน ติดตั้งเสร็จแล้ว 12 เมตร เหลือเพียงท่อนสุดท้าย โครงการนี้เป็นการต่อเสาแบบยาก ปกติจะใช้ลักษณะซองดีดเป็นตัวประคอง โดยมีเสาเหล็กอยู่ด้านข้าง แต่กรณีนี้เป็นการสอดเสาจากด้านบนลงมา สาเหตุอาจเป็นไปได้ว่าระหว่างการตอกยึดใช้แรงมากเกินไป ทำให้เครนเสียสมดุลจนแขนบูมกระดก 180 องศาไปกระแทกแขนบูมอีกอันหนึ่งหักลงมา เหตุเกิดในขั้นตอนการประกอบเครนของทีมคนงานติดตั้งมีทั้งหมด 8 คน ซึ่งเป็นบริษัทผู้รับเหมารายย่อย โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างการประกอบเครนเพื่อยกความสูงขึ้นไป จนกระทั่งเสาท่อนสุดท้ายที่สูงสุดเกิดหลุดร่วงลงมาทับไซโลปูนที่อยู่ด้านล่าง ส่งผลให้มีคนงานเสียชีวิต 5 ราย โดยเสียชีวิต 2 รายที่ชั้น 5 และเสียชีวิตที่ชั้นล่าง 2 ราย นอกจากนี้ยังมีผู้ติดค้างอยู่บนปลายเครน ท่ามกลางความตระหนกของประชาชนที่มาเฝ้าดูการช่วยเหลือและให้กำลังใจ ซึ่งเจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัยได้ช่วยลงมานำส่งโรงพยาบาลและเสียชีวิตในเวลาต่อมา รวมทั้งมีผู้บาดเจ็บหลายราย ขณะเกิดเหตุเป็นช่วงพักเที่ยง หากเกิดขึ้นในชั่วโมงการทำงานอาจทำให้เกิดการสูญเสียมากกว่านี้
ปัจจุบันกฎหมายกำหนดให้ผู้ที่ทำงานร่วมกับเครนมีทั้งหมด 3 คน ได้แก่ 1.ผู้ขับเครน ซึ่งต้องผ่านการอบรมความรู้และทักษะความเชี่ยวชาญตามมาตรฐาน 2.ผู้ให้สัญญาณ และ3.ผู้ผูกของ ควบคุม ซึ่งต้องมีใบอนุญาตตามวิชาชีพวิศวกร ในการลดปัญหาเครนถล่ม แนะนำว่า ควรเพิ่มความรู้ความเชี่ยวชาญในการติดตั้ง ปฏิบัติการเครน โดยอบรมอย่างเข้มข้นตามมาตรฐานที่ถูกต้อง, โครงการอสังหาริมทรัพย์และงานก่อสร้างต่าง ๆ ควรให้ความสำคัญและเพิ่มมูลค่างบประมาณด้านความปลอดภัยอย่างมีคุณภาพให้มากขึ้น และเข้มงวดในการปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัย ขั้นตอน และการควบคุมตามกฎหมายด้วย
รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ ที่ปรึกษา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า จากการตรวจสอบของ วสท. สาเหตุเครนถล่ม มีความเป็นไปได้จากการติดตั้งด้วยความแรงเกินก่อนจะยึดสลัก เนื่องจากเครนชนิดนี้จะตั้งประมาณ 90 องศา ซึ่งมีโอกาสที่จะเอนห้อยหลังได้เสมอ หากช่างหรือผู้ควบคุมไม่มีความชำนาญในการขับก็จะทำให้เกิด Shock load อย่างรุนแรง จนเครนเสียสมดุลเอียงไปด้านหลังและถล่มลงมาในที่สุด ส่วนด้านความแข็งแรงของเครนนั้น เครนถูกออกแบบมาให้อยู่ภายใต้เงื่อนไขความสมดุลและใช้หลักการทางกลศาสตร์เข้ามาช่วย
"หลังจากนี้ควรมีการรื้อถอนทั้งเครนที่พังลงมาเสียหาย และเครนอีกตัวที่ได้รับผลกระทบซึ่งยังมี Counter Weight ถ่วงอยู่ หากร่วงลงมาซ้ำอีกอาจสร้างความเสียหายแก่บ้านเรือนบริเวณนั้นได้ จึงต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพราะสภาพอากาศไม่สามารถคาดเดาได้ จนกลายเป็นอุปสรรคและเกิดเหตุการณ์รุนแรงซ้ำได้อีกครั้ง ทั้งนี้ถ้าทางโครงการคอนโดมิเนียมยังไม่สามารถดำเนินการรื้อถอนเครนได้ทันที ขอให้มีการแจ้งเตือนประชาชนใกล้เคียงได้รับทราบถึงมาตรการป้องกัน ส่วนในด้านการพัฒนาบุคคลากรของไทยในการใช้และควบคุมเครนนั้น ทาง วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ซึ่งมีบทบาทในการอบรมและพัฒนาความรู้แก่บุคลากรด้านวิศวกรรมและการก่อสร้าง ได้เพิ่มเติมเนื้อหาอบรมเจาะลึกด้านความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้างในการติดตั้งเครนด้วย เช่น การออกแบบฐานทาวเวอร์เครน การออกแบบจุดต่อต่างๆ เป็นต้น"
ด้านคุณหฤษฏ์ ศรีนุกูล คณะอนุกรรมการวิศวกรรมยกหิ้วและปั้นจั่นไทย วสท. กล่าวว่า สำหรับ ปั้นจั่น หรือ เครน นับเป็นเครื่องจักรสำคัญที่ใช้ในการยกสิ่งของที่มีน้ำหนักมาก ซึ่งอาจแยกได้เป็นหลายชนิด เช่น ปั้นจั่นหอสูง (Tower Crane), ปั้นจั่นชนิดเคลื่อนที่ (Mobile Crane)รวมถึงรถเครน, ปั้นจั่นเหนือศีรษะ (Overhead Crane) ปั้นจั่นขาสูง (Gantry Crane) และรอกไฟฟ้า (Electric Hoist) ตามโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึงการใช้งานสลิงและอุปกรณ์ช่วยยกแบบต่าง ๆ โดยตามกฎหมายได้มีการกำหนดให้มีการตรวจสอบและทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่นตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ แต่ไม่เกินกว่า 1 ปี ในต่างประเทศมีการพัฒนาเทคโนโลยีเครนก้าวหน้า แต่ในประเทศไทยเกินกว่าครึ่งหนึ่งของตลาดการใช้งานเป็นเครนเก่ามือสองมือสาม ดังนั้นการบำรุงรักษาในขั้นตอนก่อนการติดตั้งหรือขั้นตอนการติดตั้งที่ต้องมีการตรวจสอบตามคู่มือที่ผู้ผลิตกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด ผู้บังคับเครนและผู้ยึดเกาะวัสดุอีกไม่น้อยที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจควรเข้าฝึกอบรมตามมาตรฐานในการใช้งาน รวมถึงผู้รับเหมาและผู้รับจ้างจำเป็นต้องใส่ใจเรื่องคุณภาพ ความพร้อมของเครนและความปลอดภัยในการใช้งาน
ปัจจุบันจะพบเครนกระจายอยู่ทั่วไปทั้งในพื้นที่ทำงาน รวมถึงไซต์ก่อสร้างอาคารและสาธารณูปโภคต่าง ๆ จึงนับว่าอุบัติภัยจากเครน อาจเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงภัยสาธารณะที่ควรแก้ไขเพราะส่งผลกระทบต่อผู้คนและชุมชนได้ ในอนาคตประเทศไทยจะมีการปรับปรุงข้อกฎหมายปั้นจั่นฉบับใหม่ เรียกว่า"กฎกระทรวงการบริหารความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมเกี่ยวกับเครื่องจักรปั่นจั่น หม้อน้ำ พ.ศ. ..." คาดว่าจะออกภายในกลางปี 2562 โดยจะมีการเพิ่มมาตรการของการวางแผน (ทำแผนการยกก่อนใช้งานจริง) ลงนามรับรองการใช้งานโดยวิศวกรผู้ควบคุมเครน บังคับใช้ในงานที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง หรือในการยกที่อยู่ในภาวะวิกฤติ เช่น ยกของที่มีน้ำหนักมาก ๆ การยกของที่ใกล้เคียงกับพิกัดยก
HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit