ในส่วนของประเทศไทย ได้มีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตตามอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของยานพาหนะมาตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2559 และโครงการฯ ได้เข้ามาผลักดันให้เกิดการปรับปรุงมาตรการการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตดังกล่าว โดยทำการศึกษานโยบายการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในภาคขนส่งทางบก และพบว่ามาตรการการปรับปรุงอัตราการ เก็บภาษีสรรพสามิตฯ นี้ กระตุ้นให้ผู้ผลิตรถยนต์เกิดการปรับตัวที่จะผลิตรถใหม่ซึ่งช่วยประหยัดพลังงาน ส่งผลให้เกิดการลดการใช้น้ำมันเฉลี่ยจาก 7.08 ลิตรต่อ 100 กม. ในปี พ.ศ. 2558 เหลือเพียง 6.75 ลิตรต่อ 100 กม. ในปี พ.ศ. 2560 สำหรับรถใหม่ทุกคันที่ขาย
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า "การใช้พลังงานจากภาคการขนส่ง นอกจากจะส่งผลต่อเศรษฐกิจ สังคม และปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น ปัญหา PM 2.5 แล้ว ยังส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอีกด้วย เนื่องจากปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะแปรผันกับการใช้พลังงาน กล่าวคือ ยิ่งมีการใช้พลังงานจากภาคการขนส่งมาก ก็ยิ่งมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์มาก ซึ่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่สามารถสลายไปได้ ต่างจาก PM 2.5 ที่จะสลายไปได้ตามธรรมชาติเมื่อเจอฝนและลมมรสุม การใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคการขนส่งที่สูงถึง 61 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2e) ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 19.2 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งหมดของประเทศไทย จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ทุกท่านควรใส่ใจอย่างยิ่ง เนื่องจากก๊าซเรือนกระจกส่งผลต่อโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาว"
Caroline Capone ผู้อำนวยการโครงการการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับภาคการขนส่งทางบกในภูมิภาคอาเซียนของ GIZ กล่าวว่า "เป็นที่น่าสนใจว่าประเทศไทยมีนโยบายการขนส่งยั่งยืนที่พัฒนาไปมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น นโยบายการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตตามอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยโครงการฯ เข้ามาผลักดันให้เกิดการปรับปรุงมาตรการการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตดังกล่าวให้ดีขึ้น ส่งผลให้เกิดการลดการใช้น้ำมันเฉลี่ยในรถยนต์ใหม่ทุกคัน หากมีการดำเนินมาตรการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตตามการปล่อยมลพิษในลักษณะนี้ต่อไป ในปี พ.ศ. 2573 จะสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 4.2 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และหากมีการปรับปรุงมาตรการทางภาษีที่เข้มข้นขึ้นร่วมกับมาตรการอื่นๆ เช่น การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตตามอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของรถจักรยานยนต์ การปรับปรุงอัตราการเก็บภาษีรถยนต์ประจำปีตามอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และการปรับปรุงอัตราการเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคลให้เข้มข้นขึ้น ก็จะช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อีก 4.75 ล้านต้น คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าในปีพ.ศ. 2573 คิดเป็นร้อยละ 29 ของเป้าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคขนส่ง ตามข้อตกลงที่รัฐบาลไทยได้ให้ไว้ในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 21 (COP21) แม้ว่าโครงการฯ จะสิ้นสุดลงแต่ความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและเยอรมนีจะยังคงอยู่ โดยตั้งแต่ปีพ.ศ. 2562 GIZ จะดำเนินงานเกี่ยวกับการขนส่งในเมืองอย่างยั่งยืน การแก้ไขการจราจรติดขัด การลดมลพิษทางอากาศ และการทำให้ชีวิตในเมืองน่าอยู่มากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาการขนส่งในเมือง โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครและในเมืองรองที่เติบโตอย่างรวดเร็ว"
เกี่ยวกับโครงการ
โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการบรรเทาผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคการขนส่งทางบกของภูมิภาคอาเซียน ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากกระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ) ให้มาดำเนินงานด้านการพัฒนากลยุทธ์และแผนปฏิบัติการเพื่อปรับปรุงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการขนส่งทางบก รวมถึงวิเคราะห์นโยบายการประหยัดเชื้อเพลิง และการติดตาม ทวนสอบ และรายงานผลจากการดำเนินนโยบายในประเทศฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซียและไทย
เกี่ยวกับ สนข.
สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 และพระราชกฤษฎีกาการโอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ซึ่งกำหนดให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นส่วนราชการที่รวม 3 หน่วย ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (สจร.) สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี บางส่วนของสำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม และบางส่วนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการพาณิชยนาวี สังกัดกระทรวงคมนาคมมาไว้ด้วยกัน พันธกิจของ สนข. คือ เสนอแนะนโยบาย มาตรการและจัดทำแผนพัฒนาระบบคมนาคมและขับเคลื่อนให้เกิดผลในการปฏิบัติ รวมทั้งศึกษา วิจัยและพัฒนางาน คมนาคมด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปพร้อมๆ กับการส่งเสริมความปลอดภัยและคุณภาพสิ่งแวดล้อมในระบบคมนาคม
เกี่ยวกับ GIZ
องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) เป็นองค์กรของรัฐบาลเยอรมันที่ดำเนินงานด้านความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน GIZ ปฏิบัติงานในนามของหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนทั้งในประเทศเยอรมนีและต่างประเทศ รวมทั้งรัฐบาลของประเทศต่างๆ สหภาพยุโรป องค์การสหประชาชาติ ธนาคารโลก และองค์กรที่ให้ทุนอื่นๆ GIZ ดำเนินงานอยู่ในประเทศต่างๆ ราว 120 ประเทศทั่วโลก และมีพนักงานประมาณ 19,000 คน ซึ่งร้อยละ 70 เป็นคนในประเทศ ข้อมูลเพิ่มเติม สามารถดูได้ที่ www.giz.de
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit