นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมตลาดเกษตรดิจิทัล ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ที่ประชุมเห็นชอบการลงนามความร่วมมือโครงการ NGV Marketplace แห่งแรก ณ สถานีบริการ NGV ปตท. แฮนด์ลิตา เอ็นจิเนียริ่ง (อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี) ตามยุทธศาสตร์ยกระดับการเกษตร 4.0 (ยุทธศาสตร์พระพิรุณ) ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในพื้นที่นำร่องจังหวัดชลบุรี เพื่อขับเคลื่อนโครงการเกษตรอุ่นใจในฐานะศูนย์กลาง (Hub) กระจายและรวบรวมสินค้าเกษตรมาตรฐานในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ให้แก่เครือข่ายโรงอาหารปลอดภัยจากหน่วยงาน ทั้งสถานศึกษาและโรงงานในเขต อ.เมือง และ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี และกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ รวมทั้งประยุกต์โครงการของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) มาใช้เป็นหลักปฏิบัติ เพื่อสนับสนุนการบริโภคและจัดหาวัตถุดิบสินค้าเกษตรมาตรฐาน
สำหรับรายการสินค้าคุณภาพมาตรฐานนำร่อง ได้มีการพิจารณารายการผลผลิตและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่โดดเด่นรายจังหวัด ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รวบรวมเกษตรกรและผู้ประกอบการที่พร้อมผลิตสินค้าเกษตรมาตรฐาน จำนวน 1,150 ราย โดยมีจำนวนผู้ผลิตสินค้าทั้งในลักษณะวิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจแปลงใหญ่ กลุ่มเกษตรกร จนถึงเกษตรกรรายย่อยที่มีโอกาสได้รับประโยชน์จากการดำเนินงานตามแผนการจัดตั้ง NGV Marketplace ประกอบด้วย ผู้ผลิตข้าว 300 ราย ผู้ผลิตไข่ 5 ราย ผู้ผลิตผัก 60 ราย ผู้ผลิตปลา 55 ราย ผู้ผลิตไก่ 10 ราย ผู้ผลิตเห็ด 20 ราย และผู้ผลิตสินค้าอื่น ๆ 700 ราย พร้อมทั้งยังมีสินค้าที่รวบรวมจากผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าเกษตรมาตรฐานในระบบ DGT Farm จำนวน 550 ราย โดยเมื่อแยกประเภทสินค้าเกษตรมาตรฐานแล้ว ประกอบด้วย ผู้ผลิตข้าว 49 ราย ผู้ผลิตไข่ 1 ราย ผู้ผลิตผัก 13 ราย และผู้ผลิตสินค้าอื่น ๆ 487 ราย
นอกจากนี้ ยังได้เห็นชอบการจัดทำโครงการตรวจรับรองสินค้าเกษตรก่อนการส่งออก (Certify Hub) ตามยุทธศาสตร์ยกระดับการเกษตร 4.0 (ยุทธศาสตร์พระพิรุณ) ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ซึ่งเป็นแนวทางดำเนินการที่สำคัญเพื่อรองรับการกระจายสินค้าไปยังท่าอากาศยานเครือข่าย โดยเฉพาะในประเทศที่มีมาตรฐานสุขอนามัยสูง โดย AOT ได้จัดทำความตกลงความร่วมมือกับเครือข่ายท่าอากาศยานต่างชาติ เช่น ท่าอากาศยานลีแอช (Liege) ให้เครือข่ายท่าอากาศยานของ AOT จำนวน 6 แห่งในประเทศไทย สามารถพัฒนาการปฏิบัติเพื่อจัดทำ Certify Hub ตามมาตรฐานสุขอนามัยและความปลอดภัยอาหารระดับสากล เพื่อลดปัญหาสินค้าเกษตรถูกตีกลับที่ปลายทาง ทำให้อำนวยความสะดวกต่อผู้ประกอบการทั้งของไทยและคู่ค้าต่างประเทศ รวมทั้งลดค่าใช้จ่ายและปัญหาความน่าเชื่อถือสินค้าปลายทางระยะยาว ซึ่งเป็นการสนับสนุนการดำเนินงานของยุทธศาสตร์พระพิรุณ
HTML::image( HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit