เปิดเวที "รักษ์บ้านนอก" จุดประกายสื่อสร้างสรรค์ สืบสานภูมิปัญญาถิ่น

22 Jan 2019
กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กระทรวงวัฒนธรรม จัดเวทีเสวนา พร้อมแนะนำโครงการ "รักษ์บ้านนอก" โดยมีนายสุรีย์ บัวรัตน์ ผอ.โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ที่ 16 ให้การต้อนรับ ทีมงานโครงการ วิทยากร ชาวบ้านและเยาวชนในพื้นที่เข้าร่วมงาน เมื่อเร็วๆ นี้ ณ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ที่ 16 ต. หัวเรือ อ. วาปีปทุม จ. มหาสารคาม
เปิดเวที "รักษ์บ้านนอก" จุดประกายสื่อสร้างสรรค์ สืบสานภูมิปัญญาถิ่น

นายจักรพงษ์ ศรีสุนทร หัวหน้าโครงการ "รักษ์บ้านนอก" กล่าวว่า ปัจจุบัน เด็ก และเยาวชน อยู่ท่ามกลางการไหลบ่าของข้อมูลข่าวสาร หลงใหลไปกับความแปลกใหม่ของวิถีทันสมัย จนหลงลืมการมีส่วนร่วม ธำรงไว้ซึ่งวิถีถิ่น โครงการ "รักษ์บ้านนอก" (LUX BAANNOK) เป็นโครงการที่จะนำเอาวิถีดั้งเดิมผ่านการถ่ายทอดจาก "ผู้ใหญ่" ที่เป็นผู้มีองค์ความรู้ใน "วิถีถิ่น" ผลิตออกมาเป็น "สื่อสร้างสรรค์" โดย "เด็กและเยาวชน" ที่เปรียบเสมือน "คนรุ่นใหม่" ในพื้นที่ เพื่อให้เยาวชนได้เรียนรู้ เข้าใจ ภูมิใจ ตระหนักถึงการ "รักษ์" ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ธำรงไว้ซึ่งวิถีของท้องถิ่น

โครงการรักษ์บ้านนอก จะดำเนินการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการสื่อสารเบื้องต้นและการผลิตสื่ออย่างสร้างสรรค์ให้กับเยาวชนในพื้นที่ โดยนำเรื่องราวของภูมิปัญญาชาวบ้านในท้องถิ่นออกมานำเสนอในรูปแบบสื่อออนไลน์และออฟไลน์ โดยมีเป้าหมายให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ ได้รับรู้และเข้าใจถึงความสำคัญของการส่งต่อและรับข่าวสาร จาก "สื่อสร้างสรรค์" พร้อมทั้งมีส่วนร่วมในการสืบสานเรื่องราวอันทรงคุณค่าในท้องถิ่น ลดช่องว่างของความสัมพันธ์ที่ดีของคนระหว่างวัย สร้างความภาคภูมิใจให้คนในท้องถิ่น อันจะเชื่อมโยงการพัฒนางานหัตกรรมท้องถิ่นและการท่องเที่ยวชุมชน โดยจะมีระยะเวลาโครงการในเดือน มกราคม-มีนาคม 2562

ทั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.ปรีชา สาคร หัวหน้าภาควิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, นายชูสง่า ชัยวัฒน์ ผอ.โรงเรียนบ้านชาด ฝาง หัวเรือ อ.วาปีปทุม, นายจักรินทร์ สวาศรี ผอ.โรงเรียนบ้านหนองแก ต.หัวเรือ วาปีปทุม ได้ร่วมเสวนาแสดงความคิดเห็นในวิถีชีวิตท้องถิ่น เชื่อมโยงการผลิตสื่ออย่างสร้างสรรค์ ให้แก่คณะครู-บุคลากรทางการศึกษา นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย แขกผู้เกียรติจากองค์การบริหารส่วนตำบลหัวเรือ ผู้นำชุมชน และพ่อแม่ ผู้ปกครอง ที่เข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก โดยหลังจากจบกิจกรรมเสวนา ผู้เข้าร่วมงานยังได้รับประทานอาหารท้องถิ่น ซึ่งปรุงจากวัตถุดิบในพื้นที่โดยฝีมือแม่บ้านในชุมชนอีกด้วย

เปิดเวที "รักษ์บ้านนอก" จุดประกายสื่อสร้างสรรค์ สืบสานภูมิปัญญาถิ่น