จังหวัดศรีสะเกษ (แหล่งปลูกอันดับ 1 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) มีเนื้อที่เพาะปลูก 23,748 ไร่ เพิ่มจากปีที่แล้ว ร้อยละ 0.28 ผลผลิตรวม 68,370 ตัน ลดลงจากปีที่แล้วร้อยละ 14.63 และผลผลิตต่อเนื้อที่เก็บเกี่ยว 2,888 กิโลกรัม/ไร่ ลดลงจากปีที่แล้วร้อยละ 15.83 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดของศัตรูพืช โรคหมานอนและการระบาดของหนอนกระทู้หอมแดงจังหวัดยโสธร (แหล่งปลูกอันดับ 3 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองจากชัยภูมิ) เนื้อที่เพาะปลูกรวม 998 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 1.11 ผลผลิตรวม 3,291 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 1.35 ผลผลิตต่อเนื้อที่เก็บเกี่ยว 3,321 กิโลกรัม/ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 0.94 เนื่องจากมีการเฝ้าระวังและติดตามข่าวสารการระบาดของศัตรูพืชอย่างใกล้ชิดและรีบแจ้งให้เกษตรกรรับทราบ ประกอบกับเกษตรกรมีการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นในการดักผีเสื้อหนอนกระทู้หอมด้วยวิธีการใช้ไฟล่อแมลง จึงทำให้สามารถบริหารจัดการศัตรูพืชได้ทันสถานการณ์
นอกจากนี้ พบว่า เกษตรกรในพื้นที่ได้ให้ความสนใจในการปลูกหอมแดงอินทรีย์มากขึ้น ซึ่งนอกจากจะปลอดภัย ต่อผู้ปลูกและผู้บริโภคแล้ว ยังได้ราคาสูงกว่าราคาหอมทั่วไป เฉลี่ยหอมปึ่งอินทรีย์ราคาอยู่ที่ 25 - 30 บาท/กิโลกรัม สูงกว่าหอมปึ่งทั่วไป ซึ่งราคาประมาณ 15-25 บาท/กิโลกรัม โดยขณะนี้มีการปลูกหอมแดงอินทรีย์มากในพื้นที่อำเภอค้อวัง จังหวัดยโสธร อำเภอยางชุมน้อยและอำเภอราศีไศล จังหวัดศรีสะเกษ ทั้งนี้ ในจังหวัดศรีสะเกษ มีแหล่งรับซื้อหอมแดงอินทรีย์รายใหญ่ เช่น วิสาหกิจชุมชนตำบลละทาย อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งส่งออกทั้งหอมแดง กระเทียม ขิง ข่า ตะไคร้ มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ได้แก่ มาตรฐานระบบเกษตรอินทรีย์สหภาพยุโรป (EU) มาตรฐานระบบเกษตรอินทรีย์สหรัฐอเมริกา ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (United States Department of Agriculture – USDA) และมาตรฐานระบบเกษตรอินทรีย์ญี่ปุ่น (Japanese Agricultural Standard– Organic JAS mark) ไปยังประเทศเนเธอร์แลนด์ ในชื่อแบรนด์ "อรชัญ ออร์แกนิค"
ด้านนายไพฑูรย์ สีลาพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 11 จ.อุบลราชธานี (สศท.11) กล่าวเสริมว่า ผลผลิตของจังหวัดศรีสะเกษและยโสธรออกสู่ตลาดมากขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2561 พื้นที่เพาะปลูกบางส่วนพบการระบาดของหนอนกระทู้ในหอมแดง โดยเฉพาะในอำเภอค้อวัง จังหวัดยโสธร และ อำเภอยางชุมน้อย จังหวัดศรีสะเกษ สาเหตุเกิดจากสภาพอากาศที่ร้อนและมีฝนตก อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมวิชาการเกษตร ได้ลงพื้นที่ให้คำแนะนำในการควบคุมการระบาดของโรคโดยการใช้สารชีวภัณฑ์กำจัดแมลง DOA BIO-V1 ซึ่งเป็นหนึ่งในสารชีวภัณฑ์ประเภทไวรัสเอ็นพีวี ที่มีอยู่ในธรรมชาติ สำหรับฉีดพ่นลงแปลงปลูกหอมแดงตามอัตราที่กำหนด ซึ่งจะส่งผลให้หนอนเกิดโรคติดเชื้อ และตายในที่สุด อีกทั้งเกษตรกรยังใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการดักผีเสื้อหนอนกระทู้หอมร่วมด้วย ดังนั้น เกษตรกรที่เริ่มทำการ เพาะปลูกใหม่ ควรหมั่นสังเกตดูแลแปลงเพาะปลูก หากพบหรือสงสัยว่าหอมแดงจะเป็นโรค สามารถขอคำปรึกษาได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอ และสำนักงานเกษตรจังหวัดในพื้นที่ทันที