ตรุษจีนนี้องค์กรไวล์ดเอดชวนคนไทย #ฉลองไม่ฉลาม เป็นกิจที่ต้องทำตลอดไป

01 Feb 2019
องค์กรไวลด์เอด ช่วยสัตว์ป่า (WildAid) ชวนคนไทยเลิกบริโภคหูฉลาม และเมนูที่ทำจากฉลามต้อนรับตรุษจีน พร้อมเผยคลิปวิดีโอสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมจีน และอาจารย์แพทย์แผนจีน ที่ตอกย้ำว่า หูฉลามไม่ได้เป็นของมงคล และไม่เคยนำไปใช้เป็นยา ตรุษจีนคือเทศกาลเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่ของคนไทย ที่พบว่ามีการบริโภคหูฉลามมากที่สุดอีกงาน และมีส่วนกระตุ้นให้ประเทศไทยเป็นตลาดบริโภคและค้าหูฉลามที่สำคัญของโลก โดยขอชวนทุกคนยึดการ #ฉลองไม่ฉลาม เป็นกิจที่ต้องทำตรุษจีนนี้ และตลอดไป
ตรุษจีนนี้องค์กรไวล์ดเอดชวนคนไทย #ฉลองไม่ฉลาม เป็นกิจที่ต้องทำตลอดไป

ผลสำรวจความต้องการบริโภคหูฉลามในประเทศไทย พ.ศ 2560 ขององค์กรไวลด์เอดพบว่า คนไทยในเขตเมืองมากกว่าครึ่งเคยบริโภคหูฉลาม และที่น่าเป็นห่วงคือมากกว่า 60% ยังต้องการบริโภคหูฉลามในอนาคต นอกจากนั้นยังพบด้วยว่า คนไทยรับประทานหูฉลามบ่อยครั้งที่สุดที่งานรื่นเริงต่างๆ นั่นคือ งานแต่งงาน (72%) ทานกับครอบครัวที่ร้านอาหาร (61%) และในงานเลี้ยงธุรกิจ (47%) ซึ่งเป็นที่มาของโครงการรณรงค์ #ฉลองไม่ฉลาม เพื่อชวนคนไทยเลิกเมนูจากฉลาม โดยโครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

"เนื่องในโอกาสที่ทุกคนต่างก็อยากเริ่มต้นปีใหม่ด้วยการทำสิ่งดีๆ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง เราอยากให้ทุกคนมองว่าการเลิกบริโภคหูฉลาม ถือเป็นสิ่งดีที่ทุกคนควรร่วมใจทำตลอดไป ผลการสำรวจขององค์กรเราในไทยพบว่ายังมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความตระหนักให้คนไทยเห็นถึงความสำคัญของฉลาม และภัยคุกคามที่ฉลามกำลังเผชิญ และรณรงค์ให้ทุกคนเลิกบริโภคผลิตภัณฑที่ทำจากฉลาม การได้รับการสนับสนุนจากบุคคลที่มีชื่อเสียง หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงพันธมิตรสื่อมวลชน ถือว่าสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อที่เราจะไม่ต้องเห็นฉลามเป็นเมนูบนโต๊ะอาหารอีกต่อไป" นายจอห์น เบเกอร์ ผู้อำนวยการโครงการรณรงค์ องค์กรไวล์ดเอดกล่าว

แต่ละปี มีฉลามกว่า 100 ล้านตัวถูกฆ่า ในจำนวนนี้ครีบของฉลามมากถึง 73 ล้านตัวถูกนำมาทำเป็น "ซุปหูฉลาม" หรือประกอบเป็นเมนูอื่นๆ ประเทศไทยจัดว่าเป็นตลาดค้าครีบฉลามรายใหญ่แห่งหนึ่งของโลก และผู้บริโภคไม่ตระหนักถึงการกระทำอันโหดร้ายเบื้องหลังเมนูหูฉลามนั้น ที่ฉลามต่างถูกลากขึ้นมาเพื่อเฉือนครีบของมันออกทั้งหมด ก่อนจะถูกโยนทิ้งกลับลงสู่ท้องทะเล ซึ่งทำให้ฉลามเหล่านั้นต้องจมน้ำตายทั้งเป็น เนื่องจากสูญเสียครีบอันเป็นอวัยวะสำคัญในการดำรงชีวิต

"หูฉลามไม่ได้เป็นของมงคล ไม่ได้จัดอยู่ในสมุนไพรจีน หรืออยู่ในตำราวิทยาการแพทย์แผนจีนใดๆ มาก่อน เป็นเพียงค่านิยมเดิมๆ ว่า การเสิร์ฟหูฉลาม จะเพิ่มความหรู ซึ่งไม่สะท้อนกับโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง การที่เราไปกินเอาค่านิยมความหรู กำลังสร้างความเสียหายมากมาย เราเอาความหรูออกไปได้ไหม เพื่อรักษาความสมดุลของธรรมชาติไม่ให้เสียไป" อาจารย์วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ ผู้เชี่ยวชาญวัฒนธรรมจีน กล่าว

นอกจากนี้ การสำรวจตลาดเบื้องต้นโดยองค์กร ไวลด์เอดยังพบว่าราคาซุปหูฉลามในประเทศไทยนั้น เป็นเหตุผลหนึ่งที่ส่งเสริมให้มีการบริโภคอย่างกว้างขวาง โดยมีราคาเริ่มต้นที่ชามละ 300 บาท ในร้านค้าข้างถนน ไปจนถึงชามละ 4,000 บาท หรือมากกว่านั้น ในภัตตาคารหรูใจกลางกรุงเทพมหานคร

"ในปัจจุบันตำราเรียนการแพทย์แผนจีน วิชาเภสัชวิทยา หรือวิชาสมุนไพรจีน ไม่มีชื่อหูฉลามเป็นสมุนไพรจีนอยู่อีกแล้ว โดยทั่วไปการเอามาเข้ายา จะต้องระบุปริมาณที่ใช้ต่อวันอย่างชัดเจน ซึ่งในหูฉลามไม่มีการระบุตรงนี้เอาไว้ และไม่เคยมีการนำมาใช้เพื่อเข้าตำรับยามาก่อน เดิมทีสมัยราชวงศ์หมิง ถือว่าเป็น 1 ใน 8 อาหารเลิศหรูในวังหลวง แต่จากสถานการณ์ปัจจุบัน การฉลองด้วยฉลามไม่มีความจำเป็นอีกแล้ว คุณสามารถใช้วัตถุดิบอื่นๆ ที่มีการปรุงแต่งให้มีความเลิศหรู ซึ่งเกิดจากฝีมือของพ่อครัว ไม่ได้เกิดจากวัตถุดิบที่ได้มา ถ้าต้องการบำรุงกำลัง บำรุงชี่ โสมคนก็เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดตัวหนึ่ง และการประกอบอาหารขึ้นจากพืชอื่นๆ ที่สามารถบำรุงกำลังได้ เช่น ห่วยซัว หรือ ซานเย่า เก๋ากี้ พุทราจีน หรือสมุนไพรอื่นๆ ที่มีมากมาย" อาจารย์แพทย์จีนธรรมธัช เชี่ยวพรหมคุณ คณะการแพทย์แผนจีน มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ