ก่อนอื่นพระมหาสนั่นเกริ่นว่าธรรมชาติต้องการให้คนเราดูให้มาก ฟังให้มากและให้มีสติระมัดระวังเกี่ยวกับการพูดให้มาก หมายถึงว่าพูดให้พอเหมาะ พอดี หมายความว่า ทั้งผู้พูดก็มีความสุข ทั้งผู้ฟังก็มีความสุข อย่างนี้เรียกว่าวาจาสุภาษิต
ในขณะเดียวกันบุคคลที่กล่าวลักษณะวาจาที่พอเหมาะพอดี พุทธองค์ทรงตรัสว่าต้องปฏิบัติตามหลักวจีกรรมที่เป็นกุศล 4 ข้อด้วยกัน 1) ไม่พูดคำหยาบ 2) ไม่พูดโกหก 3) ไม่พูดเพ้อเจ้อ 4) ไม่พูดส่อเสียด อีกทั้งวาจานั้นต้องมีประโยชน์ 5 ประการ 1) พูดตามกาลเวลา พูดถูกกาละ ถูกเทศะ 2) พูดแต่ความจริง 3) พูดแต่คำอ่อนหวาน 4) พูดแต่คำที่มีประโยชน์ 5) พูดอะไรก็ตามให้ประกอบไปด้วยเมตตา
นอกจากนี้พระมหาสนั่นยังได้หยิบยก"อนิมิตคาถา"ของพระพุทธองค์มาให้ฟังว่า มี5ข้อคือ
1) ชีวิต แปลว่าการเป็นอยู่ ตรงข้ามกับคำว่าตาย เราจะอยู่สักกี่วันกี่เดือนกี่ปี ไม่สามารถเดาได้
2) พยาธิ แปลว่าโรคภัยไข้เจ็บ จะเกิดขึ้นตอนไหนเวลาไหนก็เดา ไม่ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญก็คือต้องดูแลสุขภาพ หมั่นออกกำลังกายหรือว่าเช็กตลอดเวลา บางคนทำงานเยอะ แต่บางครั้งลืมที่จะตรวจสอบร่างกาย อันนี้สำคัญ ถ้าร่างกายไม่ดี สุขภาพไม่ดี ประสิทธิภาพในการทำงานก็ลดลง การเป็นอยู่มันก็ลดลง เพราะฉะนั้นตรวจสอบสุขภาพร่างกายตัวเอง
3)กาโล ในเรื่องของกาลเวลา ทุกคนตอบได้เลยว่าเกิดวันที่เท่าไหร่ พ.ศ. ไหน วันที่เท่าไหร่ ตอบได้หมด แต่ ไม่มีใครรู้เวลาตาย
4) เทหะนิกเขปนะ แปลว่าสถานที่ที่จะนอนตาย อาจจะเกิดอยู่ในกรุงเทพฯ อาจจะไปตายที่ต่างจังหวัดก็ได้ เพราะสิ่งเหล่านี้เดาเองไม่ได้ พระองค์จึงบอกว่า อย่าเดาเอง อย่าหลงในสิ่งที่มี เพราะไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า
5) คติ ตายไปแล้วจะไปอยู่ตรงไหนก็ยังตอบไม่ได้อีก เพราะแต่ละคนที่ตายไปไม่มีใครกลับมาบอกสักราย แต่ดูที่ปัจจุบันขณะ
"5 ข้อนี้ ลองคิดลองพิจารณาดูว่า ชีวิตคนเรานั้นมันไม่มีอะไรที่แน่นอน เพราะฉะนั้นจะพูดจะจาจะกระทำหรืออยู่ด้วยกัน ให้คิดให้ไตร่ตรองให้ดี ให้คิดว่าถ้าคำพูดที่สื่อออกไปแล้วไม่ดี มีโทษมีคุณ ทั้งผู้พูดและผู้ฟังอย่างไร ต้องไตร่ตรองต้องคิดพิจารณาให้ดี ถ้าไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาตามมา ทำให้เดือดร้อน และไม่ใช่เดือดร้อนคนเดียว คนรอบข้างก็เดือดร้อนไปด้วย"
พระนักเทศน์ท่านนี้ยังชี้แนะด้วยว่า สมัยโบราณบัณฑิตท่านบอกว่า เกิดเป็นคนแล้วต้องรู้จักเตรียมพร้อมซ้อมตายก่อนที่จะตายจริง เกิดเป็นคนแล้วไม่รู้จักเตรียม เสียเหลี่ยมของความเป็นคน ท่านสอนให้ เตรียมตัวก่อนตาย เตรียมกายก่อนแต่ง เตรียมน้ำก่อนแล้ง เตรียมแบงค์เสียก่อนจะเดินทาง ทุกสิ่งต้องเตรียม แต่วิธีการเตรียมของพระพุทธเจ้า พระองค์สอนให้เตรียมอย่างนี้
ละห่วงนอก หมายถึงว่า พระองค์ทรงสอนให้ปลดปล่อยพันธะ ที่แปลว่าพันธนาการที่เราผูกพันเอาไว้ เช่น ต่อให้คนทั้งโลกพยายามจะเดินหนี แต่หนีอย่างไรก็หนีไม่พ้น พันธะที่ว่านั้นมีใครบ้าง เช่น บิดา มารดา เพื่อนสนิทมิตรสหาย สามภรรยา ลูกเมีย ยศถาบรรดาศักดิ์ แต่ถ้าเราทำใจแต่เนิ่นๆ ว่าสักวันหนึ่งตัวเราตัวเขาก็ต้องจากไปเป็นของธรรมชาติ ทำใจไว้แต่เนิ่นๆ จะได้ไม่ทุกข์ เรียกว่าปลดปล่อยพันธะ วางใจให้เป็นกลางเข้าไว้ จะได้ไม่เสียใจมาก
2) สำรอกห่วงใน เกิดแก่เจ็บตายเป็นเรื่องของสังขาร พระองค์ทรงสอนให้พิจารณาว่าเรามีความแก่เป็นธรรมดา มีความตายเป็นธรรมดา มีการพลัดพรากจากสิ่งของอันเป็นที่รักเป็นธรรมดา ทำใจเสียแต่เนิ่นๆ
3) พระองค์ทรงสอนให้นึกถึงพระไตรลักษณ์ ซึ่งมีอยู่ 3 อย่างด้วยกัน 1.อนิจจัง พออนิจจังไม่เที่ยงเกิดขึ้น สิ่งที่ตามมาคืออะไร ทุกขังอันเป็นทุกข์ พอความไม่เที่ยงเกิดขึ้น สิ่งที่ตามมาทุกข์มันเกิด พอทุกข์มันเกิดทีนี้เกิดอะไรขึ้น อนัตตา แม้กระทั่งร่างกายของเรายังยืมเขามาใช้ สักวันหนึ่งก็ต้องยืมหรือต้องคืนสู่ธรรมชาติไป
ดังที่นักปราชญ์กล่าวไว้ว่า อนิจจังสังขารานั้นไม่เที่ยง เกิดเท่าไหร่ตายเกลี้ยงไม่เหลือหลอ ทั้งผู้ดีเข็นใจตายเตียนยอ แม้นตัวหมอยังต้องตายวายชีวาต์
ฉะนั้นให้เข้าใจสัจธรรมความจริง และสุดท้ายพระพุทธเจ้าท่านสอนให้ยึดมั่นในพระพุทธคุณ เอาความดีเป็นที่พึ่ง เอาความดีเป็นสรณะ
สำหรับผู้ที่สนใจข้อคิดดี ๆ แบบนี้ สามารถเข้ารับฟังธรรมบรรยายกับโครงการ "เรายกวัดมาไว้ที่เซเว่นฯ" ได้ที่อาคารซีพี ทาวเวอร์ ชั้น 11 ถนนสีลม ทุกวันศุกร์ เวลา 12.00 – 13.30 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น
HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit