นางสมร เทิดธรรมพิบูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) กล่าวว่า ไปรษณีย์ไทย ได้ขยายพื้นที่ติดตั้งเครื่องบริการไปรษณีย์อัตโนมัติ (Automated Postal Machine: APM) เพิ่มใน 7 ท่าอากาศยาน รวมทั้งสิ้น 9 เครื่อง ได้แก่ ท่าอากาศยานนานาชาติกระบี่ จำนวน 2 เครื่อง ท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช จำนวน 1 เครื่อง ท่าอากาศยานนานาชาติสุราษฎร์ธานี จำนวน 1 เครื่อง ท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี จำนวน 2 เครื่อง ท่าอากาศยานขอนแก่น จำนวน 1 เครื่อง ท่าอากาศยานแม่สอด จำนวน 1 เครื่อง และท่าอากาศยานนานาชาติอุบลราชธานี จำนวน 1 เครื่อง หลังจากนำร่องติดตั้ง ณ ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิเป็นแห่งแรกเมื่อปี 2560 เพื่อรองรับการใช้บริการของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติให้เพียงพอ และครอบคลุมทั่วประเทศ
"โดยภายในปี 2562 ไปรษณีย์ไทย และกรมท่าอากาศยาน จะร่วมกันนำเครื่องบริการไปรษณีย์อัตโนมัติ มาติดตั้งเพิ่มเติมอีก 10 แห่ง และคาดว่าจะสามารถติดตั้งครบทุกแห่งภายในปี 2563"
นางสมร กล่าวต่อว่า สำหรับขั้นตอนการส่งสะดวกสบายเพียง "ชั่งน้ำหนักสิ่งของ" โดยการฝากส่งในประเทศต้องมีน้ำหนักไม่เกิน 500 กรัม ขณะที่การฝากส่งปลายทางต่างประเทศต้องไม่เกิน 10 กิโลกรัม "เลือกปลายทาง" ที่ต้องการฝากส่งก่อนจะชำระเงิน โดยเครื่องจะจำหน่ายซองกันกระแทกขนาด C4 ที่มีข้อความ "Post & Fly" กำกับอยู่ที่มุมซอง พร้อมสติ๊กเกอร์สำหรับประทับบนซองแทนตราประทับประจำวัน จากนั้นจึงฝากส่งโดยให้ "บรรจุสิ่งของ" ลงในซองที่ได้จากเครื่องเท่านั้น ผนึกสติ๊กเกอร์รอยประทับไปรษณียากรให้เรียบร้อย และวางซองดังกล่าวลงในช่องรับฝาก
โดยผู้ใช้บริการ "ต้องกรอกหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน" หรือหมายเลขหนังสือเดินทาง เพื่อยืนยันตัวตนผู้ฝากส่ง และยืนยันว่าสิ่งของที่ฝากส่งมิใช่สิ่งของต้องห้ามฝากส่งทางไปรษณีย์ อาทิ วัตถุมีคมที่มีหรือไม่มีเครื่องหุ้มห่อป้องกัน วัตถุระเบิด สิ่งมีชีวิต วัตถุอัดก๊าซและวัตถุไวไฟ ฯลฯ ทั้งนี้ หากตรวจพบสิ่งของต้องห้ามฝากส่งจะถูกปฏิเสธจากอากาศยาน ตามมาตรการรักษาความปลอดภัยของไปรษณีย์ไทยและท่าอากาศยานฯ และหากเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบผู้กระทำผิด ไปรษณีย์ไทยจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินคดีตามกฎหมาย
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถใช้บริการดังกล่าวได้ง่ายๆ ด้วยค่าบริการแบบเหมาจ่ายในราคาประหยัด ส่งไปยังปลายทางได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศทั่วโลก โดยการฝากส่งที่มีปลายทางในประเทศ ไปรษณีย์ไทยจะจัดส่งด้วยบริการไปรษณีย์ด่วนพิเศษ (EMS) มีอัตราค่าบริการแบบเหมาจ่าย ในราคา 50 บาทต่อชิ้น สำหรับปลายทางต่างประเทศ จะให้บริการด้วยบริการไปรษณีย์ลงทะเบียนระหว่างประเทศ อัตราค่าบริการจะจัดแบ่งตามโซนหรือทวีป ได้แก่ ทวีปเอเชีย ค่าบริการ 400 บาท ทวีปยุโรป แอฟริกา กลุ่มโอเชียเนีย และโซนอเมริกา ค่าบริการ 450 บาท นางสมร กล่าว
อย่างไรก็ตาม เครื่องบริการไปรษณีย์อัตโนมัติ (APM) เป็นหนึ่งในการยกระดับระบบปฏิบัติการของไปรษณีย์ไทยสู่การเป็นไปรษณีย์ไทยยุคดิจิทัล ซึ่งมุ่งมั่นในการพัฒนานวัตกรรมการปฏิบัติการและการบริการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดประโยชน์กับผู้ใช้บริการสูงสุด ครอบคลุมทั่วประเทศตลอด 24ชั่วโมง นางสมร กล่าวทิ้งท้าย
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ THP Contact Center 1545 หรือเว็บไซต์ www.thailandpost.co.th
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit