วันนี้ (30 มกราคม 2562) ที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และนายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และนายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ แถลงข่าวมาตรการดูแลสุขภาพประชาชนที่ได้รับผลกระทบในสถานการณ์ฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5
ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญกับมาตรการการดูแลสุขภาพประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยให้ศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) ในพื้นที่เสี่ยง 5 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม และกรุงเทพมหานคร ติดตามเฝ้าระวังผลกระทบด้านสุขภาพจากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ในกลุ่มผู้ป่วยที่มารับการรักษาในโรงพยาบาลเครือข่าย 22 แห่ง และดำเนินการเชิงรุกโดยให้ อสม. และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ร่วมกับภาคีเครือข่าย ลงพื้นที่เสี่ยงที่มีค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน และกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ โรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ สถานีตำรวจ สื่อสารแจ้งเตือน ให้ความรู้ในการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพที่ถูกต้อง การใส่หน้ากากที่ถูกต้อง สร้างความตระหนักในการป้องกันตนเอง ในวันนี้ ได้ส่งทีมปฏิบัติการกรมอนามัยลงพื้นที่พระราม 2 แล้ว
ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล กล่าวต่อว่า ในการดูแลสุขภาพ ขอให้ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หลีกเลี่ยงการออกนอกบ้านและเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง หากอยู่นอกบ้านและขณะเดินทางให้สวมหน้ากาก ไม่ออกกำลังกายในพื้นที่เสี่ยง ผู้ป่วยโรคเรื้อรังมีอาการผิดปกติให้ไปพบแพทย์ ประชาชนทั่วไป ขอให้ลดเวลาการทำกิจกรรมนอกบ้าน หากจำเป็นต้องสวมหน้ากากป้องกันฝุ่น จำกัดการทำกิจกรรมที่แรงมากและการออกกำลังกายกลางแจ้ง ติดตามสถานการณ์และคำแนะนำในการดูแลสุขภาพจากเว็บไซต์กรมอนามัย anamai.moph.go.th หัวข้อ ภัยสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 สำหรับสถานการณ์ฝุ่นละอองขอให้ติดตามจากเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน Air4Thai ของกรมควบคุมมลพิษ หรือ AirVisual
นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ประชุมมาตรการเร่งด่วนด้านการแพทย์และสาธารณสุขกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมควบคุมมลพิษ กรุงเทพมหานครอย่างใกล้ชิด เพื่อดูแลและคุ้มครองสุขภาพของประชาชนโดยใช้ 5 มาตรการได้แก่ 1. กำชับผู้บริหารใน 5 จังหวัดปริมณฑลให้ติดตามสถานการณ์และดูแลสุขภาพประชาชนอย่างใกล้ชิด และได้ให้กรมอนามัย กรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ จัดทีมปฏิบัติการลงพื้นที่เสี่ยงทั้งในกทม.และปริมณฑลตั้งแต่เริ่มพบสถานการณ์ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน 2.ดำเนินการเชิงรุกในการให้ความรู้ สร้างความตระหนักแก่ประชาชน ป้องกันและดูแลสุขภาพ ร่วมกับภาคีเครือข่าย เช่น โรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย สถานีรถไฟฟ้า สถานีตำรวจ ศูนย์การค้า สวนสุขภาพ และชุมชน 3.เผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้อง การป้องกันตนเองที่ถูกต้องผ่านสื่อโซเชียลและสื่อหลัก 4.สนับสนุนสื่อให้ความรู้ แจกหน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 พร้อมแนะนำวิธีการใช้ที่ถูกต้อง 5.เตรียมความพร้อมสถานพยาบาล จัดคลินิกเฉพาะโรคให้คำปรึกษา ประชาชนมีข้อสงสัยสอบถามสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
ด้าน แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัย ได้จัดทีมปฏิบัติการลงให้ความรู้ประชาชนในลงพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพ รณรงค์การไม่เพิ่มปริมาณฝุ่นละออง สนับสนุนสื่อ แจกหน้ากากอนามัย และได้วางแผนดำเนินการระยะเร่งด่วน โดยสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการใช้ พ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ศ.2535 ลงพื้นที่เชิงรุก เฝ้าระวังผลกระทบสุขภาพประชาชน เน้นกลุ่มเสี่ยง เฝ้าระวังและตอบโต้ข่าวที่เป็นเท็จ จัดเวทีสัมมนาวิชาการ สร้างความรู้ ความเข้าใจเรื่องฝุ่นและการป้องกันตนเองที่ถูกต้อง และขอความร่วมมือมูลนิธิและศาสนสถานลดกิจกรรมก่อให้เกิดฝุ่น
นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรค ได้ติดตามเฝ้าระวังกลุ่มผู้ป่วยที่มารับการรักษาในโรงพยาบาลเครือข่าย 22 แห่ง ของผู้ป่วยใน 3 โรค ได้แก่ โรคหอบหืด ถุงลมโป่งพอง หลอดเลือดหัวใจเฉียบพลัน และส่งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วลงพื้นที่กรณีพบผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจจำนวนมากผิดปกติ