สวรส. เปิดเวทีระดมความคิดพัฒนาระบบดูแลสุขภาพประชากรย้ายถิ่น

11 Feb 2019
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) และองค์การอนามัยโลก (WHO) จัดประชุมเครือข่ายสุขภาพของประชากรเคลื่อนย้ายถิ่นในประเทศไทยระดับชาติ เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลการทำงาน สถานการณ์ปัจจุบัน ตลอดจนระดมความคิดเห็นเพื่อหาแนวทางความร่วมมือของเครือข่าย เพื่อพัฒนาระบบสุขภาพของประชากรเคลื่อนย้ายถิ่นในอนาคต ทั้งนี้ในการประชุมดังกล่าวมีหน่วยงาน อาทิ กระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข
สวรส. เปิดเวทีระดมความคิดพัฒนาระบบดูแลสุขภาพประชากรย้ายถิ่น

กรมควบคุมโรค กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ สำนักงานประกันสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สถาบันการศึกษาต่างๆ หน่วยงานระหว่างประเทศ เช่น WHO, IOM, UNICEF, UNFPA, UNAIDS และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมกว่า 100 คน ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 29 มกราคม ที่ผ่านมา

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัญหาประชากรเคลื่อนย้ายถิ่นในประเทศไทยเป็นปัญหาสำคัญที่เผชิญกันมานาน และมีความพยายามที่จะดำเนินการต่อสู้กับปัญหาเหล่านี้ และแม้จะมีข้อมูลที่ชัดเจนว่า แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยมีส่วนต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ GDP ดีขึ้น แต่คนกลุ่มนี้ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพถ้วนหน้าได้ เนื่องจากมีปัญหาเรื่องสถานะและสิทธิ รวมทั้งไม่สามารถนำงบประมาณมาใช้ในการแก้ปัญหาได้ สิ่งเหล่านี้คือความท้าทายที่ต้องหาทางออกที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกัน รวมถึงคำถามต่างๆ ที่ต้องการหลักฐานเชิงประจักษ์และองค์ความรู้มาสนับสนุนในการวางแผนและแก้ปัญหา ซึ่ง สวรส.จะเป็นหน่วยงานหลักในการดูแลโปรแกรมต่างๆ ภายใต้โครงการแผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและองค์การอนามัยโลก ค.ศ.2017-2021 (Country Cooperation Strategy, CCS) ‎

"ที่ผ่านมาพบว่า ข้อเสนอหรือมาตรการต่างๆ หลายเรื่องยังไม่มีคำตอบชัดเจนว่าจะเดินไปทางไหน อย่างไร เช่น รูปแบบการประกันสุขภาพที่เหมาะสมสำหรับแรงงานต่างด้าวและผู้ติดตาม หรือคนที่ไม่ใช่สัญชาติไทย โดยเฉพาะกลุ่มประชากรเปราะบาง การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ มาตรฐานการดูแลสุขภาพ ฯลฯ รวมถึงเรื่องพื้นฐานหลักที่สำคัญคือ ระบบข้อมูลของกลุ่มประชากรที่ไม่ใช่สัญชาติไทย ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ในหน่วยงานต่างๆ และยังไม่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์และสังเคราะห์เป็นนโยบายในการดำเนินงานที่ชัดเจนได้ ซึ่งเวทีในวันนี้จะเป็นการระดมความเห็น หาทางออกและข้อเสนอที่มุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกันคือ เพื่อสุขภาพที่ดีของทุกคนบนแผ่นดินไทย ไม่ว่าจะเป็นสัญชาติใดก็ตาม" นพ.ศุภกิจ กล่าว

นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวว่า แม้ช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบความสำเร็จในเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ยังมีประชากรบางกลุ่มที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย เช่น แรงงานข้ามชาติหรือผู้ลี้ภัย ยังไม่สามารถเข้าถึงการบริการทางด้านสุขภาพในสถานพยาบาลได้ ส่งผลต่อความมั่นคงทางด้านสุขภาพของประเทศเป็นอย่างมาก ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องภาษาหรือการขาดความรู้ทางด้านสุขภาพเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของการบริหารจัดการในระบบหลักประกันสุขภาพ โดยข้อท้าทายหนึ่งในระบบหลักประกันสุขภาพที่เกี่ยวกับเรื่องประชากรเคลื่อนย้ายถิ่นคือ กลุ่มแรงงานที่ไม่มีเอกสารการขึ้นทะเบียนที่ถูกต้อง ดังนั้นจึงเชื่อว่าเวทีการระดมความคิดเห็นในวันนี้ ไม่ว่าจะเป็น ข้อมูลสถานการณ์ การดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ประสบการณ์การทำงานในพื้นที่ ฯลฯ จะเป็นส่วนสำคัญในการวางแผนร่วมกันในอนาคต ซึ่ง สวรส. จะพยายามผลักดันให้เกิดการสร้างความรู้เชิงประจักษ์ที่สามารถเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายได้ เนื่องจากปัญหานี้ไม่สามารถแก้ได้ด้วยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกัน จัดทำเป็นมาตรการ วิธีการ หรือข้อเสนอแนะ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพที่สามารถใช้ได้จริง และคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนเป็นสำคัญ

นอกจากนี้ในเวทีดังกล่าว ยังได้มีการนำเสนอนโยบายและกรอบการดำเนินงานด้านสุขภาพของประชากรเคลื่อนย้ายถิ่น ทั้งในระดับโลก ระดับภูมิภาค และระดับชาติ รวมไปถึงการดำเนินงานโครงการสุขภาพของประชากรเคลื่อนย้ายถิ่นในประเทศไทย ในประเด็นช่องว่าง และความท้าทาย ทั้งของหน่วยงานภาครัฐ อาทิ กรมการจัดหางาน สำนักงานประกันสังคม กระทรวงสาธารณสุข และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ตลอดจนการพูดคุยแลกเปลี่ยนสถานการณ์การเฝ้าระวัง ควบคุม ป้องกันโรค และการวิจัยสำคัญ เพื่อสนับสนุนนโยบายและการพัฒนาระบบสุขภาพของประชากรเคลื่อนย้ายถิ่นในประเทศไทย ผ่านการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากผู้แทนหน่วยงานต่างๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างแผนที่ความร่วมมือการทำงานในภาพรวมระหว่างองค์กร/ภาคีเครือข่าย และการร่วมกันพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพของประชากรเคลื่อนย้ายถิ่นในประเทศไทยและระดับภูมิภาคต่อไป

HTML::image(