ตัวเลขที่น่าตกใจข้างต้น เป็นหนึ่งในสัญญาณที่บอกว่า ขั้นตอนการเก็บรวบรวมพยานหลักฐานเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน มีโอกาสเกิดความผิดพลาดได้มาก และมีผลต่อการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนอย่างมีนัยยะสำคัญ ด้วยเหตุนี้ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) จึงได้ร่วมกับ Rule of Law and Development Fellows (RoLD Fellows) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ศูนย์สิทธิมนุษยชนแห่งนอร์เวย์ (Norwegian Centre for Human Rights) และวิทยาลัยตำรวจนอร์เวย์ (Norwegian Police University College) ร่วมกันจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการพิเศษ เรื่อง "จากการสอบปากคำสู่การซักถามเพื่อการสืบสวนสอบสวน" ให้แก่ผู้ปฏิบัติงานในกระบวนการยุติธรรม เพื่อส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับวิธีการสืบสวนสอบสวนในคดีอาญา โดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและการค้นหาข้อเท็จจริงเป็นสำคัญ ในพิธีเปิดการอบรม ได้รับเกียรติจาก นางแชสตี เริดส์มูน (Mrs. Kjersti Rødsmoen) เอกอัครราชทูตนอร์เวย์ประจำประเทศไทยมาร่วมงาน
"Confirmation Bias" หรือการสืบสวนที่มองหาเฉพาะหลักฐานที่สนับสนุนความคิดของตน เป็นสิ่งที่ผู้ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมต้องให้ความสนใจ เพราะจากการด่วนสรุปโดยไม่ได้พยายามมองให้เห็นความเป็นไปได้ในหลายๆ ทาง ณ จุดเริ่มต้น อาจนำไปสู่การปักใจเชื่อ ด่วนสรุป และพยายามกดดันให้ได้ความจริงในลักษณะ
ที่ต้องการ อันจะนำไปสู่ "วัฒนธรรมการรับสารภาพ" ที่ความไม่ชอบธรรมซึ่งมีจุดตั้งต้น ณ กระบวนการสืบสวนสอบสวน จะกลายเป็นตัวบั่นทอนความน่าเชื่อถือในหลักนิติธรรมและความชอบธรรมของรัฐในเวลาต่อมา
Investigative Interviewing เป็นการซักถามเพื่อใช้ในการสอบสวน คือเทคนิคที่ศูนย์สิทธิมนุษยชน วิทยาลัยตำรวจแห่งนอร์เวย์ พัฒนาขึ้นโดยผู้ปฏิบัติงานจริงภายใต้การเก็บรวบรวมข้อมูลและการศึกษาอย่างเป็นระบบผ่านการศึกษาวิจัยมากว่า 30 ปี เพื่อให้ "การซักถาม" ซึ่งเป็นวิธีการขั้นแรกของกระบวนการยุติธรรม เป็นขั้นตอนสำคัญที่ช่วยค้นหาความจริง และให้การคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ถูกกล่าวหา ผู้เสียหาย และพยาน ไปพร้อม ๆ กัน ทั้งยังเป็นวิธีการที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรวบรวมและความน่าเชื่อถือของข้อมูล ลดความผิดพลาด ลดทรัพยากรและระยะเวลาที่อาจเกิดขึ้นในขั้นตอนต่อ ไป
ภายใต้พันธกิจหลักของ TIJ ในฐานะสถาบันเครือข่ายแผนงานสหประชาชาติด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา หรือ UN PNIs ผสานการทำงานด้วยความมุ่งมั่นเพื่อเชื่อมประสานองค์ความรู้ แนวปฏิบัติและมาตรฐานด้านกระบวนการยุติธรรมในระดับสากลสู่การปฏิบัติจริงในประเทศไทย
ศ.พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการ TIJ กล่าวว่า "การผลักดันหลักการซักถามเพื่อการสืบสวนสอบสวนด้วยการเสริมสร้างองค์ความรู้และพัฒนาทักษะให้กับบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมจึงเป็นพันธกิจเร่งด่วนที่ TIJ ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ และในครั้งนี้ TIJ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานไทยที่ทำหน้าที่ด้านการสืบสวนสอบสวนจัดส่งบุคลากรคุณภาพเข้าร่วมการอบรม อาทิ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ซึ่ง TIJ เชื่อว่า การอบรมหลักสูตรการเพิ่มศักยภาพพนักงานสอบสวน – สืบสวนในการสอบปากคำอย่างเต็มรูปแบบเป็นครั้งแรกของประเทศไทยในครั้งนี้ คือ จุดเริ่มต้นของการสกัดความอยุติธรรมในกระบวนการยุติธรรมที่เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนที่สุดครั้งหนึ่งในประเทศไทย"
ทั้งนี้ พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดี DSI กล่าวเพิ่มเติมว่า "กระบวนการสืบสวนสอบสวนถือเป็นขั้นตอนที่มีรายละเอียดมาก ผู้ปฏิบัติงานต้องดำเนินการอย่างระมัดระวังตามหลักนิติธรรม ด้วยความโปร่งใสและตรงตามหลักฐาน การฝึกอบรมในครั้งนี้คือการเพิ่มทักษะเชิงคุณภาพที่ก่อให้เกิดคุณประโยชน์แก่กระบวนการทางกฎหมายไทยอย่างแท้จริง เพราะนอกจากจะทำให้ผู้ปฏิบัติงานมีความเป็นมืออาชีพแล้ว ยังส่งเสริมความเชื่อมั่นแก่บุคลากร องค์กร ตลอดจนภาพลักษณ์ด้านความยุติธรรมของประเทศไทยในระยะยาว"
หลักการ Investigative Interviewing เป็นวิธีการสอบปากคำด้วยหลักจิตวิทยาชั้นสูงตามโมเดล CREATIV ซึ่งผ่านการคิดค้นและถูกยอมรับในระดับสากลว่ามีประสิทธิภาพ เชื่อถือได้ ทั้งยังเคารพสิทธิมนุษยชน ปราศจากการบังคับ ข่มขู่ ขืนใจ ล่อลวง หรือการใช้กำลังประทุษร้ายบังคับให้ผู้ถูกกล่าวหา ให้การรับสารภาพโดยไม่เต็มใจ โดยโมเดล CREATIV ประกอบด้วย การให้ความสำคัญกับการสื่อสาร (Communication) การใช้หลักนิติธรรม (Rule of law) การใช้จริยธรรมและความเข้าใจ (Ethics and Empathy) การฟังอย่างตั้งใจ (Active Consciousness) การสร้างความเชื่อใจ (Trust) การให้ความสำคัญกับการเปิดรับข้อมูล (Information) และการตรวจสอบความถูกต้อง (Verification) โดยถอดขั้นตอนการปฏิบัติจากโมเดล PEACE ซึ่งประกอบด้วย "Planning and preparation" การวางแผนและการเตรียมความพร้อม "Engage and explain" การมีส่วนร่วมและการอธิบาย "Account" การให้ปากคำ "Closure" การจบการซักถาม และ "Evaluation" การประเมินผล ซึ่งกระบวนการต่างๆ จะได้รับการบูรณาการสู่การปฏิบัติโดยผู้รักษากฎหมายไทยต่อไป
ในส่วนขององค์การสหประชาชาติ มีการให้ความสำคัญอย่างสูงกับการรวบรวมพยานหลักฐานอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ปัจจุบัน ได้ร่วมกับองค์กรภาคีต่าง ๆ จัดทำ International Protocol for Investigative Interviewing and Associated Safeguards เพื่อสร้างมาตรฐานการสืบสวนสอบสวน รวบรวมหลักฐานจากผู้ต้องสงสัยและพยาน เพื่อจะนำมาให้ประเทศสมาชิก ได้ร่วมกันให้ความคิดเห็นและลงมตินำไปใช้ต่อไป โดยแนวปฏิบัติร่างแรกจะได้นำสู่การพิจารณาในราวกลางปีนี้ ผู้ที่สนใจข้อมูลเกี่ยวกับหลักนิติธรรมและการส่งเสริมความยุติธรรมทางอาญา สามารถติดตามกิจกรรมของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย เพิ่มเติมได้ทาง https://www.facebook.com/tijthailand.org/ และ https://www.tijthailand.org/
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit