“หัวใจวาย” จะป้องกันและรับมืออย่างไร?

04 Feb 2019
โดย ผศ.นพ.สุรพันธ์ สิทธิสุข
“หัวใจวาย” จะป้องกันและรับมืออย่างไร?

ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย

ในปัจจุบันการทำความเข้าใจกับคำว่า "หัวใจวาย" ซึ่งมีความหมายแตกต่างจาก "หัวใจล้มเหลว" ยังมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องของคนในสังคม ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยจึงอยากให้ประชาชนทั่วไปได้ทราบและตระหนักถึงเรื่องนี้ ก่อนที่จะเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้องถูกวิธี เพื่อที่จะรักษาชีวิตของผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที

"หัวใจวาย" หมายถึง การทำงานของหัวใจสิ้นสุดลง นั่นคือหัวใจหยุดเต้น หยุดบีบตัวส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย อวัยวะทุกอย่างจะหยุดทำงานตามไปด้วย อาการนี้ร้ายแรงเกิดขึ้นกะทันหัน และถ้าไม่ได้รับการกู้ชีวิต ผู้ที่มีหัวใจวายก็จะถึงแก่ความตายทันที สำหรับ "หัวใจล้มเหลว" เป็นภาวะที่เกิดจากหัวใจทำงานไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เช่น การบีบตัวของหัวใจอ่อนลง หรือหัวใจขยายตัวไม่ดีไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ได้เพียงพอ เกิดการคั่งของน้ำในปอด มีน้ำท่วมปอด ขาบวม มีน้ำในท้อง ตับโต ซึ่งเป็นได้ทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง อาการของหัวใจล้มเหลวนี้ มีตั้งแต่อาการจากน้อยจนถึงอาการหนักมาก เช่น เหนื่อยมาก นอนราบไม่ได้ ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอย่างฉุกเฉิน และอาจนำไปสู่ภาวะ "หัวใจวาย" ได้ ซึ่งในครั้งนี้จะกล่าวถึงเฉพาะภาวะหัวใจวายเท่านั้น

หัวใจวายที่อาจทำให้เกิดการเสียชีวิตกะทันหัน เกิดจากสาเหตุหลายอย่าง ทั้งที่เป็นโรคที่หัวใจเอง และโรคอื่นที่มีผลกระทบร้ายแรงมาที่หัวใจ โรคที่เป็นพันธุกรรมจากกำเนิดหรือโรคที่เกิดขึ้นภายหลังก็ทำให้เกิดหัวใจวายได้ สามารถเกิดได้ทั้งในคนที่ไม่เคยทราบมาก่อนว่าเป็นโรคหัวใจ และในคนที่เคยมีประวัติเป็นโรคหัวใจอยู่นานแล้ว และสามารถเกิดกับนักกีฬาที่ลงแข่งในสนามซึ่งมีร่างกายฟิตแข็งแรงมากได้ด้วย แต่สาเหตุที่พบได้บ่อยคือ หัวใจวายที่เกิดจากโรคหัวใจขาดเลือด มักพบในผู้ใหญ่อายุกลางคนขึ้นไป พบบ่อยในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน ได้แก่ผู้ที่เป็นเบาหวาน สูบบุหรี่ เป็นความดันโลหิตสูง มีภาวะไขมันในเลือดสูง มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดสมองหรือหัวใจอุดตัน ผู้ที่ขาดการออกกำลังกาย เป็นต้น เนื่องจากหัวใจวายเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็จะนำไปสู่การสูญเสีย เราจึงต้องหาทางป้องกันและรับมือ เตรียมพร้อมไว้ก่อนเมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น จะได้ผ่อนหนักเป็นเบาหรือรับมือได้อย่างทันท่วงที การป้องกันและรับมือนี้ไม่ใช่จะต้องทำเฉพาะผู้ป่วยโรคหัวใจเท่านั้น ผู้ที่ยังไม่เป็นโรคอะไรรวมทั้งญาติรอบข้างทุกคน ก็ควรเตรียมการให้พร้อมด้วย มีข้อแนะนำ ดังนี้

1.ตรวจหาความเสี่ยงของตัวเราเอง รวมทั้งญาติพี่น้องในครอบครัวว่ามีใครมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดหัวใจวายได้หรือไม่ เช่น ดูอายุของสมาชิกในครอบครัว รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดโรคหลอดเลือดตีบตัน โดยการตรวจเช็คร่างกายประจำปีทุกปีในคนอายุเกิน 40 ปีขึ้นไป หากมีประวัติการตายที่ไม่ทราบสาเหตุในครอบครัวหรือประวัติหลอดเลือดสมองหรือหลอดเลือดหัวใจตีบ ก็อาจตรวจหาความเสี่ยงในอายุที่น้อยกว่านี้ก็ยิ่งเป็นการดี หากพบปัจจัยเสี่ยงใด ๆ ก็ควรรีบดำเนินการควบคุมทุกปัจจัยเสี่ยงให้ดี

2.เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการกู้ชีพ ในปัจจุบันมีการเปิดอบรมทักษะการกู้ชีวิตในเชิงปฏิบัติให้แก่ประชาชนทั่วไปในโรงพยาบาลใหญ่ๆ หลายแห่ง ควรหาโอกาสอ่านภาคทฤษฎี ดูวีดีโอและไปฝึกปฏิบัติด้วย

1. มองหาโรงพยาบาลใกล้บ้าน และศูนย์ให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินที่ถ้าเกิดหัวใจวายขึ้น เราจะมีคนช่วยกู้สถานการณ์ให้รอดพ้นไปได้

2. มองหาตำแหน่งของอุปกรณ์ช่วยในการกู้ชีพ คือ เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจกึ่งอัตโนมัติ (Automated External Defibrillator หรือ AED) ที่มีอยู่ตามที่สาธารณะต่างๆ เช่น ตามสถานีรถไฟฟ้า, สนามบิน หรือโรงพยาบาลและสถานที่ราชการขนาดใหญ่ ควรดูวีดีโอสาธิตการใช้เครื่องมือดังกล่าว

การจะกู้ชีวิตของคนที่เกิดหัวใจวายต้องกระทำทันทีและควรหาเครื่อง AED มาช่วยภายในเวลาอันสั้น เราจึงควรต้องเตรียมรับสถานการณ์ให้พร้อม หัวใจวายจะเกิดกับใครก็ได้ เมื่อไรก็ได้ ทุกสถานที่จึงควรเตรียมการป้องกันและรับมือให้ทันท่วงที

“หัวใจวาย” จะป้องกันและรับมืออย่างไร? “หัวใจวาย” จะป้องกันและรับมืออย่างไร? “หัวใจวาย” จะป้องกันและรับมืออย่างไร?