อาจารย์อุษณีษ์ เลิศรัตนานนท์ อาจารย์ประจำหลักสูตรจีนศึกษา วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เทศกาลตรุษจีนเป็นเทศกาลแห่งการเริ่มต้นปีใหม่ ชีวิตใหม่ และเป็นช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองของชาวจีน โดยจะเป็นช่วงเวลาที่คนจีนได้พักผ่อนก่อนจะเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ ในปีถัดไป คนจีนจำนวนไม่น้อยถือโอกาสนี้เดินทางออกไปท่องเที่ยวในต่างประเทศ และประเทศไทยเองก็เป็นประเทศเป้าหมายอันดับหนึ่งของนักท่องเที่ยวชาวจีนอยู่แล้ว ข้อมูลเบื้องต้นจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่า ตัวเลขนักท่องเที่ยวจากจีนที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปีล่าสุด อีกทั้งนักท่องเที่ยวจากจีนที่เดินทางมาเยือนประเทศไทยมีจำนวนสูงกว่าสิบล้านคน และสามารถดึงดูดเม็ดเงินเข้าประเทศได้กว่า 5.8 แสนล้านบาท สำหรับเทศกาลตรุษจีนที่กำลังจะมาถึงนี้เป็นอีกหนึ่งโอกาสทองที่ไทยจะสามารถคว้าเม็ดเงินจำนวนมหาศาลนี้ไว้ได้ หากรู้และเข้าใจวัฒนธรรมเล็กๆ น้อยๆ และความต้องการของชาวจีนบทความนี้จะพาไปเช็คลิสต์ 6 เรื่องง่ายๆ ที่หากคนไทย รวมทั้งภาคบริการไทยทำตาม รับรองว่าจับใจนักท่องเที่ยวชาวจีนได้อย่างแน่นอน และมีโอกาสดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเหล่านี้กลับมาเยือนไทยในโอกาสถัดไปอีกด้วย
รู้คำอวยพรจีนง่ายๆ ได้ใจชาวจีน ชาวจีนมักใช้โอกาสนี้กล่าวคำอวยพรให้กัน เพื่อเป็นศิริมงคลต่อตัวเองและคนรอบข้าง ซึ่งหากภาคบริการหรือคนทั่วไปมีโอกาสได้ทักทายชาวจีนและสามารถกล่าวคำอวยพรภาษาจีนได้ ก็จะได้ใจชาวจีนไปเต็มๆ โดยคำอวยพรภาษาจีนกลางแบบง่ายๆ ที่เราควรรู้ไว้ ก็เช่น ซินเหนียนไคว่เล่อ แปลว่า สวัสดีปีใหม่ ว่านซื่อหรูอี้ แปลว่า ขอให้สมหวังดังปรารถนาทุกประการ เซินถี่เจี้ยนคัง แปลว่า ขอให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง และ กงสี่ฟาฉาย แปลว่า ขอให้ร่ำรวยเงินทองไหลมาเทมา
มอบสิ่งดีๆ ให้กันในวันตรุษจีน นอกจากคำอวยพรง่ายๆ ที่สามารถกล่าวทักทายกันในเทศกาลตรุษจีนแล้ว การมอบของขวัญเล็กๆ น้อยๆ ก็เป็นธรรมเนียมที่ชาวจีนมักปฏิบัติกันในเทศกาลนี้ ไม่ว่าจะเป็น การมอบส้มจำนวนเลขคู่ ที่แสดงถึงความโชคดี หรือการมอบอั่งเป่า เพื่อแสดงถึงความกตัญญูซึ่งเป็นปรัชญาจีนสำคัญที่ชาวจีนยึดถือ สำหรับภาคบริการไทยก็สามารถเอาใจนักท่องเที่ยวชาวจีนง่ายๆ ด้วยการสร้างกิมมิคเล็กๆ น้อยๆ อย่างเช่น การมอบซองแดงที่มีคำอวยพรจีนอยู่ข้างใน หรือการให้ใบเสร็จโดยใส่ในซองแดงเพื่อให้เข้ากับเทศกาล เป็นต้น รวมถึงการจัดกิจกรรมสนับสนุนการขาย หรือการร่วมสนุกผ่านแฮชแท็กเพื่อลุ้นรับรางวัล ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะขยายการรับรู้ไปยังชาวจีนจำนวนมาก และตอบโจทย์ความนิยมเล่นโซเชียลมีเดียเป็นชีวิตจิตใจของชาวจีนได้
การแต่งกาย ประดับตกแต่งสถานที่ให้เข้ากับเทศกาล ข้อนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่คนไทยทำได้ดีอยู่แล้ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนไทยให้ความสำคัญกับเทศกาลต่างๆ ทั้งการแต่งกายด้วยชุดกี่เพ้า การเปิดเพลงจีนประกอบตามสถานที่ต่างๆ รวมทั้งการประดับตกแต่งอาคารบ้านเรือนด้วยสิ่งของมงคล ไม่ว่าจะเป็น โคมแดง ป้ายอักษรมงคลจีน รูปภาพมงคลต่างๆ เช่น มังกร ปลา เด็กที่มีร่างกายสมบูรณ์ ดอกเก๊กฮวย ดอกโบตั๋น เป็นต้น ของประดับตกแต่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่มีความหมายต่อชาวจีน และสามารถสร้างความประทับใจให้ชาวจีนได้ไม่น้อย
รองรับขาช็อปชาวจีนด้วยระบบ E-Commerce จากสถิติการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจีน อันดับหนึ่งอยู่ที่การช็อปปิ้ง ซึ่งประเทศไทยเองก็มีสินค้าและย่านช็อปปิ้งที่หลากหลาย ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวจีน สิ่งที่ภาคการค้าของไทยควรพัฒนาเพิ่มเติมก็คือ การอำนวยความสะดวกพฤติกรรมการจับจ่ายของชาวจีนที่นิยมใช้จ่ายผ่านระบบ E-Commerce โดยการที่ร้านค้าทุกขนาดปรับตัวเพื่อรองรับการจ่ายเงินด้วย e-Money ไม่ว่าจะเป็น การใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชั่น Alipay WeChat ที่คนจีนนิยมใช้กัน เป็นต้น จะยิ่งเป็นการอำนวยความสะดวกให้ชาวจีนจับจ่ายได้ง่ายขึ้น และอาจทำให้ตัวเลขการใช้จ่ายของชาวจีนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอีกด้วย
พัฒนาแอปฯ แนะนำแหล่งที่เที่ยว ชิม ช็อป เจาะกลุ่มชาวจีนโดยเฉพาะ ปัจจุบันรูปแบบของนักท่องเที่ยวจีนที่มาเที่ยวเมืองไทยเป็นแบบอิสระมากขึ้น (non-group tour) เนื่องจากการเข้าถึงข้อมูลแหล่งที่กิน ที่เที่ยว สามารถทำได้ง่ายขึ้น เพื่อให้การอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวจีนที่มาเที่ยวในเมืองไทยเป็นไปได้อย่างราบรื่นยิ่งขึ้น เราจึงควรพัฒนาแอปพลิเคชันต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวจีนโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็น แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว แหล่งร้านอาหารที่น่าสนใจ การใช้บริการคมนาคมที่สะดวก ครอบคลุมทุกไลฟ์สไตล์การท่องเที่ยวของชาวจีน การทำให้นักท่องเที่ยวชาวจีนเข้าถึงข้อมูลการท่องเที่ยวไทยได้ง่ายขึ้นผ่านแอปพลิเคชัน จะทำให้ในอนาคตชาวจีนหันมาท่องเที่ยวแบบอิสระ ไม่ผ่านกรุ๊ปทัวร์ และทำให้เม็ดเงินของชาวจีนกระจายไปสู่ธุรกิจภาคบริการ และการท่องเที่ยวไทยอย่างแท้จริง
ตรุษจีนนี้ ลดค่า P.M. 2.5 ด้วยประทัดแบบไร้มลพิษ หนึ่งในสิ่งที่ขาดไม่ได้ในเทศกาลตรุษจีน ก็คือการจุดประทัด ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งการเริ่มต้นที่ยิ่งใหญ่ เสียงดัง เหมือนเสียงประทัด แต่ทราบหรือไม่ว่าที่มาของการจุดประทัดก็คือการใช้เสียงดังเพื่อขับไล่ปีศาจที่ชั่วร้าย คนจีนจึงนิยมจุดประทัดเพื่อปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายตั้งแต่ต้นปี แต่ด้วยสถานการณ์ฝุ่นพิษ P.M. 2.5 ในตอนนี้ การจุดประทัดอาจจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมความเลวร้ายของสภาพอากาศ แต่เมื่อเรารู้ถึงที่มาของธรรมเนียมการจุดประทัดที่ต้องการเพียงแค่เสียงดังแล้ว ก็อาจจะปรับเปลี่ยนวิธีการทำให้เกิดเสียงดังโดยไม่เกิดมลพิษได้ ประเทศจีนเองที่มีปัญหามลพิษทางอากาศก็เริ่มหันมาเปลี่ยนจากการจุดประทัดเป็นการใช้ลูกโป่งมาประดิษฐ์ด้วยวิธีการที่ทำให้เกิดเสียงเช่นเดียวกับประทัด เรียกได้ว่ายังคงตอบโจทย์ความเชื่อเดิม แต่เปลี่ยนวิธีการใหม่ที่ไม่กระทบต่อมลพิษ สำหรับประเทศไทยในช่วงท่ามกลางวิกฤตฝุ่นพิษ ถ้าลองหันมาใช้วิธีแบบจีนก็จะช่วยป้องกันการเกิดมลพิษเพิ่มขึ้นได้ไม่น้อย
การเอาใจนักท่องเที่ยวชาวจีน ก็เป็นเหมือนการค่อยๆ ซึมซับวัฒนธรรมจีนเล็กๆ น้อยๆ เพื่อเข้าใจความชอบและความต้องการที่แท้จริงของชาวจีนซึ่งเปรียบเสมือนการลงทุนอันยิ่งใหญ่ ในระยะยาว เพื่อตอบรับโอกาสอื่นๆ จากจีนที่จะตามมาในอนาคต อีกทั้งในปัจจุบันเทรนด์การเรียนรู้และทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ในอาณาบริเวณศึกษาแห่งหนึ่งโดยเฉพาะ เป็นเทรนด์การเรียนรู้ที่มาแรงอย่างยิ่ง จีนเองเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีการเติบโตในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็น เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ รวมถึงด้านวัฒนธรรม และภาษาที่ทรงอิทธิพลมากขึ้นทั่วโลก จีนจึงเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจในการศึกษาแบบอาณาบริเวณศึกษา ซึ่งการเรียนหลักสูตรจีนศึกษา วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ จะสามารถตอบโจทย์การเรียนรู้ที่ลึกซึ้งและรอบด้าน เพื่อรองรับอนาคตที่เติบโตอย่างก้าวไกลของจีนได้แน่นอน อ.อุษณีษ์ กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับน้องๆ มัธยมปลายที่สนใจรายละเอียดหลักสูตรของวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ www.pbic.tu.ac.th สอบถามโทร. 0-2613-3720 หรือ facebook.com/PBIC.TU
HTML::image( HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit