ดร.ชินาวุธ ชินะประยูร ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) เปิดถึงรายละเอียดของการจัดงาน แฮคกาธอน (Hackathon) ว่า โจทย์ในการแข่งขันจะแบ่งออกเป็น 10 หัวข้อ ให้สอดคล้องไปกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ของรัฐบาล ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคตของไทย ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวถือเป็นไฮไลต์สำคัญในงานดิจิทัล ไทยแลนด์ บิ๊กแบง 2018 โดยจะเปิดเวทีเพื่อดึงสตาร์ทอัพหน้าใหม่ในระดับที่เริ่มตั้งไข่หรือ Seed Stage เข้าร่วมแข่งขันระดมไอเดีย เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ใน 10 หัวข้อสำหรับต่อยอดกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ ขณะเดียวกัน ก็เป็นการสร้างโอกาสให้แก่สตาร์ทอัพหน้าใหม่ ได้เพิ่มพูนประสบการณ์จากการเวิร์คช็อปกับวิทยากรและได้ทดลองแข่งขันพิชชิ่งด้วย
ดร.ชินาวุธ กล่าวถึง โจทย์ทั้ง 10 หัวข้อที่เปิดให้ระดมไอเดียในครั้งนี้ ว่า ประกอบด้วย 1.เทคโนโลยีด้านการท่องเที่ยว (Travel Tech) 2.เทคโนโลยีด้านอาหาร (Food Tech) 3.เทคโนโลยีด้านเกษตรกรรม (Agri Tech) 4.ซอฟต์แวร์ในรูปแบบบริการ (Software as a Service หรือ SaaS) 5.เทคโนโลยีด้านการอยู่อาศัย (Living Tech) 6.เทคโนโลยีด้านการศึกษา (EdTech)7.เทคโนโลยีสีเขียว (Green Tech) 8.เทคโนโลยีด้านทรัพยากรมนุษย์ (HR Tech) 9.เทคโนโลยีด้านอีคอมเมิร์ซ (e-Commerce) 10.เทคโนโลยีด้านสุขภาพ (Health Tech) โดยผู้ชนะสูงสุด จะได้รับเงินรางวัล 500,000 บาท ส่วนผู้ชนะสำหรับแต่ละโจทย์จะได้รับเงินรางวัล 100,000 บาท นอกจากนี้ ยังมีรางวัลพิเศษจากบรรดาพาร์ทเนอร์เพิ่มเติมด้วย รวมมูลค่ารางวัลไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านบาท
"จากความร่วมมือกันระหว่าง 3 ฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนที่เข้าใจระบบนิเวศของสตาร์ทอัพ และภาคเอกชนที่เชี่ยวชาญเรื่องสตาร์ทอัพจากต่างประเทศ เชื่อว่าจะช่วยสร้างประโยชน์ได้อย่างแท้จริง และมีผู้เข้าร่วมงานจำนวนมาก สำหรับไอเดียที่ได้รับจากการแข่งขันในงานจะได้รับการนำไปพิจารณาต่อยอด เพื่อให้เกิดการใช้จริงในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมเป้าหมาย ผลักดันอุตสาหกรรมเป้าหมายสู่ไทยแลนด์ 4.0 อย่างเต็มรูปแบบ" ดร.ชินาวุธ กล่าว
ด้านนายอมฤต เจริญพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ฮับบา จำกัด (HUBBA) กล่าวว่า แฮคกาธอน ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในต่างประเทศ ใช้ในการระดมไอเดีย เพื่อค้นหานวัตกรรมใหม่ๆ มาต่อยอดกับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ขณะเดียวกัน ก็เป็นทั้งเวทีและจุดเริ่มต้นในการเพิ่มศักยภาพให้แก่สตาร์ทอัพหน้าใหม่ จนหลายรายกลายเป็นสตาร์ทอัพที่มีชื่อเสียงในปัจจุบัน สำหรับประเทศไทยเองมีสตาร์ทอัพที่เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวและเติบโตจนเป็นสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จหลายราย
"เราเชื่อว่ายังมีโอกาสและช่องว่างอีกมากในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าไปช่วยตอบโจทย์ 10 หัวข้อ และต่อยอดเพื่อขับเคลื่อน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และเชื่อว่า Hackathonครั้งนี้จะพร้อมตอบโจทย์ทั้งภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนการเติบโตของสตาร์ทอัพ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ HUBBA ในการช่วยสร้างระบบนิเวศ" นายอมฤต กล่าว
สำหรับกิจกรรม แฮคกาธอน ภายใต้ชื่อ "Startup Battleground" ในครั้งนี้ จะจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 19-23 ก.ย. ภายในงานดิจิทัลไทยแลนด์ บิ๊กแบง 2018 ณ อาคารชาเลนเจอร์ 3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี กิจกรรมในงานประกอบด้วย การเวิร์คช็อปโดยวิทยากรชั้นนำในแวดวงสตาร์ทอัพทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ อาทิ วิทยากรจาก เทคสตาร์ส การแข่งขัน 3 รอบ ประกอบด้วย รอบคัดเลือก รอบรองชนะเลิศ และรอบชิงชนะเลิศ
ทั้งนี้ จะเปิดรับผู้สมัครเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 4-8 คน ที่มีถิ่นพำนักอยู่ในประเทศไทย ไม่จำกัดสัญชาติ มีประสบการณ์ระดมทุนไม่เกิน 2 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีไอเดียที่พร้อมจะนำมาต่อยอดพัฒนาในงาน โดยจะเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมกิจกรรมตั้งแต่วันนี้ - 9 ก.ย. นี้ ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ หรือสมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ที่ https://digitalthailandbigbang.com/hackathon หรือโทรสอบถามที่ 086-415-0979
HTML::image( HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit