รมช.ลักษณ์ ตรวจเยี่ยมและพบปะกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน มุ่งจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาปาล์มน้ำมันในพื้นที่ทุ่งรังสิต พร้อมส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกปาล์มน้ำมันให้ได้คุณภาพ และมีตลาดรองรับ

10 Aug 2018
นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและพบปะกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นทุ่งรังสิตจังหวัดปทุมธานี และจังหวัดสระบุรี ว่า การปลูกปาล์มน้ำมันในเขตทุ่งรังสิต มีจุดเริ่มต้นจากโครงการศึกษาทดสอบการปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันตก โดยเป็นการทดสอบการเจริญเติบโต เปรียบเทียบกับพื้นที่ปลูกทางภาคใต้ ประมาณการผลผลิตและรายได้ของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อเป็นพืชทางเลือกอีกชนิดหนึ่งในเขตพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งจากแปลงศึกษาทดสอบในจังหวัดปทุมธานี เพียง 100 ไร่ ในปี 2547 ปัจจุบันเกษตรกรมีการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันออกไปในจังหวัดสระบุรี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดนครนายก เป็นพื้นที่กว่า 15,000 ไร่ โดยปลูกในพื้นที่สวนส้มร้างที่ได้รับความเสียหาย แต่ยังมีระบบร่องสวนที่มีน้ำ สามารถปลูกปาล์มน้ำมันได้ดี ให้ผลผลิตสูง มีแหล่งปลูกหลัก ๆ ในเขตทุ่งรังสิต ได้แก่ จังหวัดปทุมธานี ปัจจุบันมีเกษตรกรสนใจปลูกปาล์มน้ำมันกันมากขึ้น มีพื้นที่ปลูก 9,082 ไร่ (ข้อมูลทะเบียนเกษตรกร 16 พ.ค. 61) โดยเกษตรกรมีการรวมตัวเป็นแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมัน ในปี 2561 จำนวน 1 แปลง เกษตรกร 80 ราย พื้นที่ 2,239 ไร่ มีแผนการพัฒนาของสมาชิกกลุ่มเพื่อเสริมรายได้ในช่วงที่ผลผลิตมีราคาตกต่ำ คือ เลี้ยงปลาในร่องสวน เลี้ยงไก่ไข่ หรือไก่พื้นบ้าน เลี้ยงหมูหลุม และมีการลดต้นทุนการผลิต โดยส่งเสริมการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และสำหรับจังหวัดสระบุรี เกษตรกรมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไปปลูกปาล์มน้ำมัน พื้นที่ 3,075 ไร่ (ข้อมูลทะเบียนเกษตรกร 16 พ.ค. 61) เกษตรกรผู้มีการรวมตัวเป็นแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมัน ในปี 2561 จำนวน 1 แปลง เกษตรกร 30 ราย พื้นที่ 1,773 ไร่ มีแผนการพัฒนาของสมาชิกกลุ่มเพื่อตัดปาล์มน้ำมันให้ได้คุณภาพ และส่งเสริมการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน
รมช.ลักษณ์ ตรวจเยี่ยมและพบปะกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน มุ่งจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาปาล์มน้ำมันในพื้นที่ทุ่งรังสิต พร้อมส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกปาล์มน้ำมันให้ได้คุณภาพ และมีตลาดรองรับ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดครั้งแรก ในปี 2550 มีบริษัทรับซื้อปาล์มน้ำมันในจังหวัดชลบุรี มาเปิดจุดรับซื้อในพื้นที่ โดยกำหนดช่วงเวลารับซื้อ 15 วัน/ครั้ง ต่อมาเมื่อพื้นที่ปลูกมากขึ้น ผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น ผู้ประกอบการจึงมีการเปิดจุดรับซื้อผลผลิตปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้น โดยเกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตไปจำหน่ายได้ทุกวัน จุดรับซื้อในพื้นที่ ได้แก่ 1) เสถียรปาล์ม คลอง 9 ตำบลบึงชำอ้อ อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี 2) สหกรณ์ปฏิรูปที่ดิน หนองเสือ คลอง 8 ตำบลบึงชำอ้อ อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี 3) สหกรณ์ปั๊มบางจาก คลอง 13 ตำหนองหมู อำเภอวิหารแดง จังหวัดสระบุรี และ 4) ลานปราโมทย์การเกษตร ทั้งนี้ สำหรับเกษตรกรกลุ่มแปลงใหญ่ในจังหวัดปทุมธานีและจังหวัดสระบุรี ได้มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตที่มีคุณภาพ โดยกลุ่มได้ให้ความรู้กับสมาชิกในการเก็บเกี่ยวผลผลิตตามมาตรฐานสินค้าเกษตรทะลายปาล์มน้ำมัน (มกษ.5702 - 2552)

"ได้มีการหารือถึงการทำงานร่วมกันจากทุกภาคส่วน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้นำ ซึ่งจะมีการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาปาล์มน้ำมันในพื้นที่ทุ่งรังสิต โดยต้องมีพื้นที่สวนปาล์มขนาดใหญ่ ตั้งแต่ 30,000 ไร่ขึ้นไป มีการบริหารจัดการแบบครบวงจร รวบรวมผลผลิตของพี่น้องเกษตรกรเป็นลานเทเพื่อส่งโรงงานสกัดเอทานอลไปใช้ในอุตสาหกรรมน้ำมัน ถ้าพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันอยู่ในพื้นที่เดียวกัน จะช่วยลดต้นทุนทางด้านการขนส่งได้ และหากโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มเป็นขององค์กรเกษตรกรเองก็จะยิ่งสามารถดำเนินการบริหารจัดการได้ มูลค่าเพิ่มจะตกอยู่ในท้องถิ่น เกษตรกรจะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ จะเชื่อมโยงเอาน้ำมันปาล์มดิบที่สกัดได้เข้าสู่ระบบการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งปัจจุบันนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงานยกระดับการเอาน้ำมันปาล์มมาผลิตเป็นไบโอดีเซล ผลิตเป็น B20 (ใช้เฉพาะกับรถบรรทุกขนาดใหญ่) จะทำให้ตลาดที่มารองรับน้ำมันปาล์มดิบกว้างขวางยิ่งขึ้น ทั้งนี้ จะให้ดำเนินการจัดตั้งคณะทำงานโดยให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเป็นฝ่ายเลขานุการ และให้รีบดำเนินการพัฒนารูปแบบให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน เพื่อพัฒนาเป็นแผนแม่บทพัฒนาพื้นที่นี้ต่อไป" นายลักษณ์ กล่าว

HTML::image( HTML::image(