ในขณะที่จังหวัดราชบุรี เป็นเมืองเกษตรแต่เกษตรกร ประสบปัญหาการทำการเกษตร และหนี้สิน อีกทั้งประสบกับปัญหาความยากจน จะทำอย่างไรให้เกษตรกรเหล่านี้สามารถลืมตาอ้าปาก มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ มหาวิทยาลัยราชภัฎจอมบึง จ.ราชบุรี จึงได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ตามแผนงานโครงการวิจัยท้าทายไทยและโครงการวิจัยตอบสนองนโยบายเป้าหมายรัฐบาลตามระเบียบวาระแห่งชาติ กลุ่มเรื่อง นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาพื้นที่ โดยดำเนินโครงการ การพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงเกษตรกรตามเส้นทางท่องเที่ยวแบบมีส่วนร่วมของชุมชนจังหวัดราชบุรี ขึ้น
ดร.ทัศนีย์ นาคเสนีย์ คณบดีคณะวิทยาการจัดการ อาจารย์ผู้สอนประจำสาขาการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยราชภัฎจอมบึง ในฐานะหัวหน้าโครงการ การวิจัยเพื่อพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงเกษตรตามเส้นทางท่องเที่ยวท้องถิ่นแบบมีส่วนร่วมของชุมชนจังหวัดราชบุรี เปิดเผยว่า ตนได้อาศัยอยู่ในจังหวัดราชบุรี มากว่า 10 ปี ได้พบเห็นปัญหาของชาวบ้านและเกษตรกร ผู้มีรายได้ที่ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย จึงคิดทำโครงการดังกล่าวขึ้น เพื่อหาช่องทางสร้างทางเลือกให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการท่องเที่ยว ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของจังหวัด ราชบุรี ในด้านการผลักดันให้จังหวัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร
งานวิจัยดังกล่าว ใช้กระบวนการวิจัยที่เรียกว่า งานวิจัยเชิงพื้นที มุ่งศึกษาเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงเกษตรแบบมีส่วนร่วมกับชุมชนในพื้นที่ 4 อำเภอ คือ จอมบึง ปากท่อ สวนผึ้ง และบ้านคา ซึ่งมีความโดดเด่นทางทรัพยากรธรรมชาติ วิถีวัฒนธรรม กลุ่มชาติพันธุ์ไทยกะเหรี่ยง ไทยทรงดำ ด้านภูมิปัญญา ความเป็นเจ้าบ้านที่ดี การเดินทางเข้าถึงสะดวก โดยการศึกษาวิจัยพบเส้นทางเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวใน 4 อำเภอ รวมระยะทาง 124 กิโลเมตร (ตั้งแต่แยกเจดีย์หัก แยกนิสสัน แยกห้วยชิณสีห์ และ แยกปากท่อ) รวมทั้งสิ้น 32 แห่ง ครอบคลุมกลุ่มเกษตรกร 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้ปลูกสับปะรด กลุ่มผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม กลุ่มผู้ปลูกผลไม้ กลุ่มพืชผักสวนครัวปลอดสาร และแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตร โดยทั้ง 32 แห่ง ผู้วิจัยได้เชื่อมโยงข้อมูล ที่ได้จากการสำรวจและสัมภาษณ์เจ้าของแหล่งท่องเที่ยว รวบรวมไว้ในเฟสบุคและคิวอาร์โค้ช
"ผลจากการวิจัย พบว่า สิ่งที่เราค้นพบแหล่งที่สามารถพัฒนา ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทั้ง 32 จุดนั้น บางแหล่ง ชาวบ้าน ในพื้นที่ใกล้เคียง ไม่รู้ด้วยซ้ำ พื้นที่ใกล้เคียง เป็นแหล่งท่องเที่ยว หรือ จะสามารถพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวได้
เราในฐานะนักวิจัย ได้ทำการสำรวจและสอบถามผู้รู้หรือปราชญ์ชุมชน เพื่อรวบรวม เรื่องราวเรื่องเล่าของแต่ละแหล่งท่องเที่ยวมาเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว ซึ่งในอนาคต เราสามารถที่จะพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทั้ง 32 แหล่ง ที่กระจายอยู่ ใน 4 อำเภอนี้ ให้เป็นแหล่งเที่ยวชุมชนเชิงสร้างสรรค์ และแหล่งเรียนรู้ที่สร้างประสบการณ์ด้านการเกษตร โดยเฉพาะการปลูกพืชไร่สับปะรด ให้เป็นที่รู้จักสำหรับผู้ที่สนใจพิเศษ ของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ซึ่ง เป็นอีกจุดเด่นหนึ่งของจังหวัดราชบุรีได้ ไม่แพ้กับแหล่งท่องเที่ยวในที่อื่นๆ ซึ่งลักษณะของแหล่งท่องเที่ยว ในพื้นที่ 4 อำเภอนี้ พบว่า มีความสอดคล้องกับ พฤติกรรมของนักท่องเที่ยว ที่ค้นพบจากการวิจัยครั้งนี้ ที่พบว่า ส่วนใหญ่เดินทางมาท่องเที่ยวแบบครอบครัว ชอบการท่องเที่ยวที่สร้างประสบการณ์ให้ตนเอง ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรือทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนเกษตรกรหรือแหล่งเรียนรู้ทางด้านเกษตรแบบวิถีพอเพียง"
นอกจากนี้จากการดำเนินโครงการฯ ยังสามารถจัดตั้งตลาดชุมชนในรูปแบบที่ชุมชนเป็นผู้กำหนดอนาคตของตนเอง ขึ้น ชื่อ ตลาดชุมชนกลุ่มส่งเสริมอาชีพสตรีบ้านหินสี ต.ยางหัก อ.ปากท่อ ในรูปแบบสหกรณ์ร้านค้าร่วมทุน มีรูปแบบการบริหารจัดการโดยคณะกรรมการบริหาร จำนวน 7 คน มีสมาชิก 27 ราย มีผู้ถือหุ้น 134 หุ้นจำหน่าย สินค้าพืชผักสด ผลไม้
ซึ่งตลาดแห่งนี้ดำเนินการมาตั้งแต่เดือน มีนาคม 2561 และ ได้ยกระดับ เป็นร้านค้าของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ในเวลาต่อมา ตลาดแห่งนี้ มิไม่ใช่ตลาดธรรมดาทั่วไป แต่ยังเป็นศูนย์กลางการฝึกอาชีพให้กลุ่มสตรีในพื้นที่สูง และเป็นศูนย์ประสานงานการท่องเที่ยวอีกด้วย จากการเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนผ่านกระบวนการวิจัย ส่งผลให้ ในปี พ.ศ. 2562 หมู่บ้านหินสี ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด จำนวน 2 ล้านบาท เพื่อพัฒนาหมู่บ้านให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ที่มีความโดดเด่นในวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยกะเหรี่ยง และ ในอนาคต มีแผนพัฒนาตลาดแห่งนี้ ให้เป็นศูนย์ประสานงานทางด้านการท่องเที่ยว (HUB) ในพื้นที่อีกด้วย
ดร.ทัศนีย์ กล่าวในตอนท้ายว่า ในอนาคต ต้องการสานต่อด้านการท่องเที่ยว ด้วยการยกระดับเส้นทางท่องเที่ยวผ่านช่องทางจัดจำหน่ายที่เรียกว่า แพลตฟอร์ม (Platform)ทางการท่องเที่ยว เพื่อขยายช่องทางการตลาดทางการท่องเที่ยวสู่สากล และเพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรรากหญ้าได้อย่างแท้จริง เนื่องจาก จังหวัดราชบุรี ยังมีทรัพยากรทางธรรมชาติที่หลากหลาย สามารถพัฒนา ให้เป็นจุดหมายปลายทางทางการท่องเที่ยวได้อีกมาก เช่น การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม อาทิ วัฒนธรรมไทยกะเหรี่ยง วัฒนธรรมไทยทรงดำ การจัดทำเส้นทางปั่นจักรยานเพื่อการท่องเที่ยว ในพื้นที่เกษตร ซึ่งเป็นผลจากการต่อยอดงานวิจัยที่ผ่านมาให้ก้าวไกลขึ้นไปอีก
"และอีกประเด็น ที่เราจะต้องช่วยชุมชนพัฒนาเพิ่ม คือ การเป็นผู้ประสานงานระหว่างเครือข่ายการท่องเที่ยวต่างๆ อาทิ ที่พักแรม แหล่งท่องเที่ยวอื่น ทั้งในท้องถิ่น และ บริษัทนำเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ (Travel Agent) ให้สามารถติดต่อเชื่อมโยงและเจรจาต่อรอง เรื่องการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยว การขายทัวร์ ได้ด้วยชุมชนเอง และเมื่อชุมชนสามารถ บริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวได้ด้วยตนเอง ชุมชนจะมีความเข้มแข็ง เกิดความภาคภูมิใจในชาติพันธุ์ของตนเอง ลดการพึ่งพาจากคณะนักวิจัย ซึ่ง หากถึงวันนั้น ชุมชนจะมีความภาคภูมิใจในชาติพันธ์ ประเพณี วิถีชีวิตของตนเอง และ มีความพร้อมที่จะพัฒนาพื้นที่ให้เป็นอีกหนึ่งจุดหมายของการเป็นแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน ที่แตกต่าง โดดเด่น เป็นเอกลักษณ์ สะท้อนถึงความเป็นตัวตนได้อย่างแท้จริง และสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี"
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit