เพราะ "คน" คือต้นทุนที่สำคัญของการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะ "คุณลักษณะ" ของคนในประเทศที่มี "วินัย คุณธรรม และจริยธรรม" จะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการนำพาประเทศฝ่าวิกฤติการณ์ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิในประเทศญี่ปุ่น
ขณะที่เพื่อนบ้านของไทยอย่าง มาเลเซียได้กำหนดคุณลักษณะของคนในชาติโดยมุ่งเน้นที่ "ความสามัคคี เพื่อสร้างความเจริญมั่งคั่งอย่างถั่วถึง" ส่วนสิงคโปร์ก็มุ่งเน้นการพัฒนาบุคคลากรของตนเองให้มีคุณลักษณะที่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศภายใต้แนวคิด "โรงเรียนนักคิด ชาติแห่งการเรียนรู้"
สำหรับการพัฒนาประเทศไทยตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ได้กำหนดสมรรถนะของคนไทยในศตวรรษที่ 21 ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือการปลูกฝัง ระเบียบ วินัย คุณธรรม และจริยธรรม มีค่านิยมที่พึงประสงค์ ตลอดจนสร้างเสริมให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดี ดังนั้นเพื่อขับเคลื่อนกระบวนทัศน์และหลักคิดใหม่ของคนไทยให้สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และเพื่อเตรียมคนไทยสู่ทศวรรษที่ 21 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จึงร่วมกับ กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรม "ค่ายเยาวชนปิดเทอมสร้างสรรค์ ตอน : เปิดกล่องแห่งการเรียนรู้ ผู้นำคุณธรรม 4.0" เพื่อปลูกฝังค่านิยม " ความพอพียง มีวินัย สุจริต จิตอาสา และความรับผิดชอบ" หรือ "คุณธรรม 4.0" สู่เยาวชนคนรุ่นใหม่
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาวะ สสส. กล่าวว่าจากการสำรวจความคิดเห็นสถานการณ์คุณธรรมของสังคมไทยโดย ศูนย์คุณธรรม(องค์การมหาชน) ร่วมกับนิด้าโพล พบว่าปัญหาวิกฤตด้านคุณธรรมที่มีความรุนแรงในสังคมไทยอันดับที่ 1 ก็คือปัญหาความซื่อสัตย์สุจริตการทุจริตคอรัปชั่นมากถึงร้อยละ 20.73 รองลงมาคือปัญหาขาดความสามัคคีเกิดความขัดแย้งในสังคมร้อยละ 19.3 ปัญหาจิตสำนึกสาธารณะขาดความรับผิดชอบต่อสังคม เห็นแก่ตัวร้อยละ 14.6 และขาดระเบียบวินัยไม่เคารพกฎหมายร้อยละ 12.51 นอกจากนี้ยังพบว่าคุณธรรมที่เยาวชนไทยควรได้รับการปลูกฝัง 5 อันดับคือความมีระเบียบวินัยร้อยละ 75.35 ความซื่อสัตย์สุจริต ร้อยละ 75.35 ความมีวินัยเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ร้อยละ 57.94 ความกตัญญูกตเวที ร้อยละ 52.82 และความขยันหมั่นเพียรร้อยละ 47.51
"การขับเคลื่อนกระบวนทัศน์และหลักคิดใหม่ของคนไทยให้สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 คณะอนุกรรมเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 ได้วางเป้าหมายการพัฒนาและสร้างเสริมศักยภาพของคนไทยมีคุณธรรมที่พึงประสงค์ 5 ประการคือ ความพอเพียง มีวินัย สุจริต จิตอาสา และรับผิดชอบ ดังนั้นเพื่อปลูกฝังคุณธรรมที่พึงประสงค์ กิจกรรมค่ายเยาวชนปิดเทอมสร้างสรรค์ ตอนเปิดกล่องแห่งการเรียนรู้ ผู้นำคุณธรรม 4.0 จึงเกิดขึ้น โดยคัดเลือกตัวแทนของสภาเด็กและเยาวชนในระดับจังหวัดเพื่อส่งเสริมความเป็นผู้นำด้านคุณธรรม 4.0 เพื่อส่งเสริมความเป็นผู้นำผ่านเยาวชนคนรุ่นใหม่จำนวน 154 คน จากทั่วประเทศ เพื่อนำองค์ความรู้และรูปแบบการจัดกิจกรรมที่ได้รับกลับขยายผลสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับพื้นที่ และยังเป็นการส่งเสริมการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ในช่วงปิดเทอม"
โดย "ค่ายกิจกรรมปิดเทอมสร้างสรรค์ ตอน เปิดกล่องแห่งการเรียนรู้ ผู้นำคุณธรรม 4.0" เป็นการจัดกิจกรรมในรูปแบบของฐานการเรียนรู้ในเรื่องของ "คุณธรรม 4.0" ในแต่ละหัวข้อ ประกอบไปด้วย ฐานความพอเพียง ฐานวินัย ฐานสุจริต และฐานจิตอาสา โดยแต่ละฐานจะสอดแทรกองค์ความรู้และหลักคิดของคุณธรรมในหัวข้อ "ความรับผิดชอบ" เข้าไปในแต่ละกิจกรรมที่จัดขึ้นหลังจากได้เรียนรู้และทำความเข้าใจกับ "คุณธรรม 4.0" กันไปแล้วในวันแรก วันที่สองน้องๆ เยาวชนทั้งหมดก็จะได้เริ่มต้นการคิดและวิเคราะห์สภาพปัญหาในพื้นที่เพื่อค้นหา "คุณธรรมที่อยากเห็น" ผ่านการสำรวจพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้น และค้นหาพฤติกรรมด้านบวกที่ตนเองอยากจะเห็นในชุมชนหรือพื้นที่ของตนเอง รวมไปถึงการ "ออกแบบคุณธรรม 4.0" ด้วยการระดมความคิดเพื่อกำหนดประเด็นพร้อมออกแบบกิจกรรมการทำงานเพื่อนำกลับไปทำในพื้นที่ และสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น
นายศตวรรษ จันทร์รักษ์ หรือ "ก๊อต" รองประธานสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดพัทลุง กล่าวว่ากิจกรรมนี้เป็นเรื่องทั่วไปที่เราทุกคนควรจะต้องรู้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเวทีนี้ช่วยตอกย้ำว่าหน้าที่และสิทธิ์ของเราคืออะไรในการที่จะเป็นเยาวชนที่ดีหรือเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ดีเพื่อไปพัฒนาประเทศในอนาคต โดยเฉพาะคุณสมบัติคุณธรรม 4.0 ที่เราต้องเรียนรู้จากข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นแล้วจะต้องไม่ทำผิดพลาดซ้ำเดิม
"เวทีในวันนี้ปัญหาหลักๆ ที่เพื่อนๆ ทุกคนเห็นตรงกันก็คือเรื่องทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมาก แต่ทุกวันนี้เรามองดูเป็นเรื่องปกติเพราะเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับมัน ซึ่งหลังจากวันนี้กลับไปแล้วก็จะนำเอาองค์ความรู้เรื่องของคุณธรรม 4.0 เข้าไปสอดแทรกในโครงการเยาวชนไทยหัวใจใสสะอาดที่กำลังดำเนินการอยู่เพื่อขยายผลสิ่งดีๆ เหล่านี้ต่อไปให้กับเด็กและเยาวชนในพื้นที่ของเรา"
น.ส.ดัชนียา รัตนศิริ หรือ "แยม" ประธานสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดเลย กล่าวว่ากิจกรรมในวันนี้ทำให้เราได้ทบทวนตัวเองและทบทวนว่าในบ้านของเรานั้นมีปัญหาอะไรบ้างที่เกิดขึ้น และก็ได้รู้จักกับคำว่าผู้นำคุณธรรม 4.0 และการที่เราได้คิดวิเคราะห์และมาระดมแนวทางการแก้ปัญหาต่างๆ ในพื้นที่ทำให้เรามีช่องทางหรือแสงสว่างและรู้จักวิธีการที่จะแก้ปัญหาต่างๆ มากขึ้น"อีกปัญหาหนึ่งในการระดมความคิดที่เห็นตรงกันคือเรื่องของยาเสพติด ที่เคยมองว่าแก้กันมานานแล้วก็ยังแก้ไม่ได้สักที แต่วันนี้ทำให้มองเห็นว่ามันยังมีอีกมุมที่เยาวชนอย่างเราช่วยได้ เราช่วยบำบัดหรือจับผู้ขายหรือผู้เสพไม่ได้ แต่เราสามารถดึงเพื่อนๆ ของเราที่มีความเสี่ยง ให้เขาเข้ามาทำกิจกรรมอะไรก็ได้ ที่เราต้องออกแบบให้เขาทำได้ เป็นกิจกรรมในอย่างที่เขาชอบ โดยไม่ให้เขาไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดและมีความภูมิใจเหมือนอย่างกิจกรรมในฐานจิตอาสา paper ranger ที่ช่วยกันทำสมุดเพื่อน้องที่ยากจนเป็นต้น"
ด้านประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย นายปุณณพัทธ์ อรุณิชย์ตระกูล หรือ "น้ำพุ"กล่าวถึงหลักคุณธรรม 4.0 ว่า ข้อเสนอต่างๆ ในเวทีนี้สอดคล้องกับข้อเสนอต่อสมัชชาการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ซึ่งเป็นสมัชชาของผู้ที่ทำงานด้านเด็กและเยาวชนเพื่อนำนโยบายไปแก้ปัญหาต่อในส่วนของภาครัฐ ส่วนตัวของเยาวชนเองก็สามารถขับเคลื่อนคุณธรรม 4.0 ได้ในนามของสภาเด็กและเยาวชนฯ
"หลักคุณธรรม 4.0 เป็นเรื่องที่ท้าทายแต่ไม่ใช่เรื่องยากที่เราจะทำไม่ได้ โดยโครงการที่สภาเด็กและเยาวชนฯ ที่ผ่านมาจะเน้นตอบโจทย์สอดรับกับนโยบายของรัฐบาล ซึ่งในวันนี้เมื่อมีเรื่องของคุณธรรม 4.0 เข้ามาเราก็จะต้องให้น้องๆ ที่ทำงานคำนึกถึงหลักของความพอเพียง มีวินัย สุจริต จิตอาสา และความรับผิดชอบ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับการทำงานมากยิ่งขึ้น จะทำกิจกรรมอะไรก็ตามจะต้องคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้และสอดแทรกเรื่องคุณธรรม 4.0 เข้าไปด้วย ซึ่งเชื่อมันว่าสิ่งเหล่านี้สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศไทยให้ดีขึ้นได้ วันนี้เราอาจะเปลี่ยนความคิดของผู้ใหญ่ไม่ได้แต่เราสามารถสร้างปลูกฝังและสร้างสิ่งเหล่านี้ให้กับเด็กและเยาวชนได้ หรือง่ายที่สุดก็คือการเปลี่ยนตัวเองเริ่มจากตัวเราเอง ทุกคนสามารถเริ่มต้นด้วยการเปลี่ยนตัวเอง ถ้าเราเริ่มจากตัวเราเองได้ทุกอย่างก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำ"
"คุณธรรม 4.0" ที่ประกอบไปด้วย พอเพียง มีวินัย สุจริต จิตอาสา และความรับผิดชอบ จึงเป็นโจทย์ใหม่ที่ท้าท้ายให้เยาวชนทั้ง 157 คนจะได้ขบคิด ทบทวน แล้วประมวลผลผ่านความคิดสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาและออกแบบเป็นกิจกรรมดีๆ ที่สามารถบูรณาการองค์ความรู้เหล่านี้ลงไปในระดับพื้นที่ เพื่อให้เด็กเยาวชนไทยได้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคมไทยไปสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างมั่นคง.
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit