เพราะมีตัวเลขที่น่าตกใจว่า ในช่วงปิดเทอมของเด็กไทยยุคดิติทัลนั้นจะใช้เวลากว่า 6 ชั่วโมงหมดไปในการท่องโลกอินเตอร์เน็ต โดยร้อยละ 85 จะเข้าไปเพื่อเล่นเกม ด้วยเหตุนี้ทาง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้ร่วมกับองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิด "กิจกรรมปิดเทอมสร้างสรรค์" เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้ใช้เวลาว่างช่วงปิดเทอมให้เกิดประโยชน์ มีพื้นที่ทำกิจกรรมเพื่อสร้างความสุขในการเรียนรู้ ควบคู่ไปกับพัฒนาทักษะชีวิตในด้านต่างๆ
จึงเป็นที่มาของ"ค่ายวันหนึ่งฉันเดินเข้าป่า ครั้งที่ 1" ที่จัดขึ้นโดย บริษัท กล่องดินสอ จำกัด ร่วมกับ สสส. และสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมดีๆ ในช่วงปิดเทอมที่เปิดโอกาสให้พ่อแม่และผู้ปกครองของน้องๆ ในระดับประถมศึกษา ได้พาลูกหลานมาเปิดประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ๆ จากธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่น่าตื่นตาและตื่นใจ ไม่น้อยกว่าสีสันและความเคลื่อนไหวบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่บ้าน และที่สำคัญยังเปิดโอกาสที่น่าตื่นเต้นให้กับน้องๆ ซึ่งเป็นกลุ่ม "เด็กพิเศษ" ได้มาเรียนรู้ร่วมกัน โดยเป็นการเปิดมุมมองใหม่บนความแตกต่างอย่างสร้างสรรค์ของเด็กๆ วัยเดียวกันโดยมีธรรมชาติเป็นจุดเชื่อมโยง
"ภรณี ภู่ประเสริฐ" ผู้อำนวยการสำนัก สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า ช่วงเวลาปิดเทอมเป็นโอกาสสำคัญของการสั่งสมประสบการณ์นอกห้องเรียน ซึ่งการเรียนรู้ที่ดีที่สุดของเด็กเยาวชนคือการได้ลงมือทำและออกไปสัมผัสประสบการณ์จริง จึงเกิดความร่วมมือของบริษัท กล่องดินสอ จำกัด สสส. และสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช ผ่านกิจกรรมในรูปแบบค่าย ซึ่งนอกจากจะได้เรียนรู้เรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นการเรียนรู้การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันบนความหลากหลายระหว่างเด็กปกติและเด็กพิเศษ ระหว่างทางของการทำกิจกรรมร่วมกันในค่ายจึงได้เห็นการแบ่งปัน ช่วยเหลือ และเข้าใจความหลากหลายในสังคมมากยิ่งขึ้น"ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล" ผู้ก่อตั้งบริษัทกล่องดินสอ และผู้รับผิดชอบกิจกรรม กล่าวว่า ค่ายวันหนึ่งฉันเดินเข้าป่าถือว่าเป็นครั้งแรกที่มีการจัดกิจกรรมให้กับเด็กปกติทั่วไปและน้องๆ ที่เป็นเด็กพิเศษได้มาทำกิจกรรมที่ท้าท้ายร่วมกันโดยเฉพาะการเข้าป่าเพื่อสัมผัสกับธรรมชาติ ซึ่งเหมือนกับการเข้าค่ายลูกเสือเพื่อให้เด็กและผู้ปกครองทั้งสองกลุ่มเกิดประสบการณ์ร่วม เกิดความผูกพัน เกิดมิตรภาพ และเกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน
"เราอยากให้เด็กพิการและเด็กปกติได้มาทำกิจกรรมร่วมกัน ให้เขาได้เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างเพื่อสร้างสรรค์สังคมที่ทุกคนสามารถอยู่ได้ร่วมกัน ซึ่งค่ายนี้จะเป็นค่ายศึกษาธรรมชาติ น้องๆ ก็จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติ จากที่เคยอยู่แค่ในเมืองวันนี้เขาได้มาดูได้มารู้ว่าธรรมชาติมันน่าสนุกและน่าตื่นเต้นขนาดไหน อีกฝั่งหนึ่งก็คือการที่เขาได้มาเดินป่าร่วมกัน มีประสบการณ์ร่วมกันทำให้เขาเรียนรู้ที่จะเป็นเพื่อนกันถึงแม้ว่าจะมีความแตกต่างกันก็สามารถที่จะเป็นเพื่อนกันและสามารถอยู่ร่วมกันได้ จากเดิมที่เรื่องราวของคนพิการเป็นเรื่องที่ไกลตัวเขา แต่พอเขามาค่ายนี้เขาก็จะได้รู้จักเพื่อนของเขาที่เป็นเด็กพิเศษหรือคนพิการแล้ว ประเด็นอะไรก็ตามปัญหาอะไรก็ตามที่เป็นปัญหาสำหรับผู้พิการ จากที่เคยเป็นปัญหาไกลตัวของเขา จะกลายเป้นเป็นหาที่ใกล้ตัวเขา เป็นปัญหาของเพื่อนเขา แล้วเขาก็จะคิดว่าทำยังไงให้เพื่อนของเขาเนี่ยสามารถที่จะอยู่ร่วมกับเขาได้"
โดยค่ายนี้ครอบครัวของเด็กพิเศษทั้ง 8 ครอบครัว และเด็กปกติ 12 ครอบครัว จะได้ทำกิจกรรมร่วมกัน 2 วัน 1 คืน เริ่มจากในวันแรกเข้าฐานเรียนรู้ต่างๆ เพื่อให้เด็กๆ ได้เห็นความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงไฮไลท์ในช่วงเย็นที่ดูเหมือนว่าจะสร้างความตื่นเต้นและสนุกสนานให้กับเด็กๆ ทุกคนมากเป็นพิเศษนั่นก็คือการเดินป่าเพื่อตามหา "ไก่ฟ้าพญาลอ" ส่วนในช่วงค่ำหลังอาหารเย็นเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่เด็กๆ ตั้งตารอไม่ยอมง่วง นั่นก็คือการ "ดูดาว" ท่ามกลางท้องฟ้าที่มืดมิด ทำให้เด็กๆ ได้รู้จักดวงดาวต่างๆ บนท้องฟ้าที่มีเรื่องเล่าและเรื่องราวที่สนุกสนานที่คนเมืองแทบไม่มีโอกาสได้สัมผัส
ส่วนช่วงเช้าของวันที่สองถือว่าเป็นโอกาสดีมาก เพราะทีมนักวิจัยงูจากประเทศอังกฤษได้มาชวนน้องๆ เรียนรู้และศึกษาธรรมชาติของงูแต่ละสายพันธุ์ทั้งที่มีพิษและไม่มีพิษ รวมถึงวิธีการป้องกันตัวจากการถูกงูกัด พร้อมกับเน้นย้ำและสร้างความเข้าใจว่าคนกับงูสามารถอยู่ร่วมกันได้ และยังเปิดโอกาสให้เด็กปกติและเด็กพิเศษได้มีโอกาสสัมผัสงูตัวเป็นๆ สร้างประสบการณ์ใหม่ที่น่าประทับใจและน่าจดจำสำหรับเด็กหลายๆ คน
ในตอนสายจะเป็นกิจกรรมเดินป่าศึกษาธรรมชาติท่องไพรป่าดิบแล้ง-ป่าเต็งรัง และรับประทานอาหารกลางวันกลางป่า ระหว่างเส้นทางเดินเด็กๆ ก็จะได้เรียนรู้เรื่องของพืชพันธุ์ไม้ต่างๆ ในธรรมชาติจากคุณลุงวิทยากรผู้ใจดี ตื่นเต้นกับใบไม้สติกเกอร์ รู้จักกับผึ้งจิ๋วใจดีหรือตัวชันโรง รู้จักสัตว์ต่างๆ อย่างเจ้ากิ้งกือที่มีชื่อเท่ห์ว่ากระสุนพระอินทร์ ได้ลองรับประทานลูกกระบกซึ่งเป็นอาหารจากป่า พร้อมกับเรื่องราวที่น่าสนใจอีกมากมาย
มะลิวัลย์ เอี่ยมทอง คุณแม่ของ "น้องเฟิร์ส" ฐาปกรณ์ สร้อยเพ็ชร นักเรียนชั้น ป.2 ที่มาจากจังหวัดสมุทรสาครเล่าให้ฟังว่าเป็นครั้งแรกที่ได้พาลูกชายมาเที่ยวป่า เพราะอยากให้ลูกได้เปิดโลกกว้างเปลี่ยนประสบการณ์ทำอะไรที่แปลกและแตกต่างไปจากการเล่นเกม
"กิจกรรมนี้ดีมากสำหรับเด็กๆ เพราะได้เรียนรู้ทั้งธรรมชาติ และได้เรียนรู้ที่จะได้อยู่กับเพื่อนที่เป็นเด็กพิเศษ แรกๆ เขาก็กลัว แต่พอรู้ว่าพฤติกรรมต่างๆ ของเพื่อนที่แสดงออกมานั้นเกิดจากความผิดปกติของร่างกายและการเติบโตของสมองที่ช้ากว่า เขาก็เข้าใจและสามารถเล่นและทำกิจกรรมด้วยกันได้อย่างสนุก" แม่วัลย์กล่าว
"ได้เห็นไก่ฟ้า 3 ตัว ได้เห็นตัวกระสุนพระอินทร์ เจอกระรอกสีขาว เจอกิ้งกือตัวใหญ่แต่กลัว ตอนเดินป่าไปดูดาวก็กลัวเพราะว่ามันมืด แต่พอเห็นดาวก็รู้สึกสนุกมาก เพราะไม่เคยเห็นมาก่อน รู้จักดาวนายพราน ดาวจระเข้ ได้กินข้าวจี่ ได้จับคราบงู แต่ไม่ชอบจับตัวงูเพราะกลัว ถ้ามีโอกาสก็จะชวนเพื่อนมาเที่ยวป่า" น้องเฟิร์สเล่า
ด้าน ภาสวรรณ์ ศรลัมพ์ ผู้ปกครองของ "น้องเก็ท" อิธราณุวัฒฐ์ ศรลัมพ์ กล่าวว่า ปกติไม่เคยพาหลานชายไปเที่ยวป่าครั้งนี้เป็นครั้งแรก ที่ตัดสินใจมาก็เพราะว่าอยากให้เขาได้มาลองใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับเด็กปกติ เพราะถึงแม้ว่าเขาจะเป็นเด็กพิเศษ แต่ก็สามารถทำกิจกรรม มีความสุขและสนุกได้เหมือนกับเพื่อนๆ แม่ว่าบางเรื่องอาจจะช้าหน่อย ซึ่งเด็กพิเศษก็เหมือนกับเด็กทั่วไปคือเขาก็อยากที่จะเรียนรู้ และอยากที่จะเล่นกับเพื่อน
"น้องเก็ทได้ประสบการณ์ใหม่เยอะมากโดยเฉพาะการควบคุมตนเองและการอยู่ร่วมกับผู้อื่น รู้จักการทำตามกฏกติการของส่วนรวม การเดินป่าทำให้น้องเก็ทเกิดทักษะในการควบคุมประสาทสัมผัสต่างๆ ของตัวเองให้ประสานกันได้ดีมากขึ้น มีความระมัดระวังในการเดิน ระหว่างทำกิจกรรมต่างๆ เราก็สามารถใช้โอกาสเหล่านี้สอนเขา และใช้เพื่อนๆ เป็นตัวอย่างในการสอนเขาเกิดการเรียนรุ้จากเพื่อนและเขาก็ทำตาม" คุณอาของน้องเก็ทระบุ
"พอมันมีสิ่งที่สนุกกว่าในธรรมชาติ น้องเข้าก็ไปหาธรรมชาติ ไปไล่จับตั๊กแตน ไปเก็บใบไม้มาดู ในค่ายจะเห็นว่าไม่มีใครหยิบมือถือมาเล่นเลย ดังนั้นเด็กในเมืองที่เขาติดเกมส์ติดคอม ก็เป็นเพราะว่าเขาขาดโอกาสในการ มาหาความสนุกตื่นเต้นจากธรรมชาติ และค่ายนี้ยังเป็นการจุดประกายให้เขาได้รู้ว่าธรรมชาติจริงๆ นั้นน่าสนใจและน่าสนุก แล้วพอเขากลับไปเข้าไปในชั้นเรียนวิทยาศาสตร์ เรียนรู้เรื่องธรรมชาติเขาก็จะสนใจมากขึ้น แล้วก็เชื่อว่าถ้ามีโอกาสเขาก็จะอยากกลับมาหาธรรมชาติอีกอย่างแน่นอน" ผู้ก่อตั้งบริษัทกล่องดินสอกล่าว
"ค่ายวันหนึ่งฉันเดินเข้าป่า" จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่การใช้เวลาช่วงปิดเทอมของเด็กๆ ออกไปศึกษาเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับธรรมชาติ แต่หากเป็นการออกไปเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับในสังคมกับเพื่อนคนอื่นๆ ที่มีความแตกต่างๆ ออกไปจากเด็กปกติทั่วไป โดยใช้กิจกรรมและเรื่องราวต่างๆ จากธรรมชาติเป็นจุดเชื่อมโยงเพื่อสร้างพื้นฐานที่ดี ในการที่เราจะก้าวไปสู่การเป็นสังคมที่ไม่ท้องทิ้งผู้พิการเอาไว้เบื้องหลัง
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit