นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องในหลายพื้นที่ ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกิดน้ำล้นตลิ่งและน้ำไหลหลากใน 7 จังหวัด 31 อำเภอ 140 ตำบล 919 หมู่บ้าน ประกอบด้วย นครพนม เกิดฝนตกหนักและน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองนครพนม อำเภอเรณูนคร อำเภอปลาปาก อำเภอท่าอุเทน อำเภอโพนสวรรค์ อำเภอธาตุพนม อำเภอบ้านแพง และอำเภอนาแก รวม 56 ตำบล 398 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 9 หลัง พื้นที่การเกษตรคาดว่าได้รับความเสียหาย 128,098 ไร่ ปัจจุบันระดับน้ำเพิ่มขึ้น มุกดาหาร เกิดฝนตกหนักและน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอ ดงหลวง อำเภอเมืองมุกดาหาร อำเภอนิคมคำสร้อย อำเภอดอนตาล อำเภอหว้านใหญ่ และอำเภอหนองสูง รวม 43 ตำบล 318 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 6,754 ครัวเรือน 15,534 คน พื้นที่การเกษตรคาดว่าได้รับความเสียหาย 28,582 ไร่ ปัจจุบันระดับน้ำเพิ่มขึ้น อำนาจเจริญ เกิดฝนตกหนัก ทำให้น้ำในลำน้ำโขงล้นตลิ่งในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองอำนาญเจริญ อำเภอเสนางคนิคม อำเภอ หัวตะพาน และอำเภอชานุมาน รวม 6 ตำบล 11 หมู่บ้าน พื้นที่การเกษตรคาดว่าได้รับความเสียหาย 1,930 ไร่ ปัจจุบันระดับน้ำเพิ่มขึ้น อุบลราชธานี เกิดฝนตกหนักทำให้น้ำในแม่น้ำโขงล้นตลิ่งในพื้นที่ 5อำเภอ ได้แก่ อำเภอเขมราฐ อำเภอโพธิ์ไทร อำเภอโขงเจียม อำเภอนาตาล และอำเภอศรีเมืองใหม่ รวม 9 ตำบล 63 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,118 ครัวเรือน 2,964 คน อพยพ 43 ครัวเรือน 215 คน ปัจจุบันระดับน้ำเพิ่มขึ้น บึงกาฬ เกิดฝนตกหนักทำให้น้ำในแม่น้ำโขงล้นตลิ่งในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองบึงกาฬ อำเภอบุ่งคล้า อำเภอศรีวิไล และอำเภอปากคาด รวม 6 ตำบล 26 หมู่บ้าน พื้นที่การเกษตรคาดว่าได้รับความเสียหาย 2,107 ไร่ ปัจจุบันระดับน้ำเพิ่มขึ้น สกลนคร เกิดฝนตกหนัก ทำให้น้ำไหลเข้าท่วมพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสว่างแดนดิน และอำเภอโพนนาแก้ว รวม 5 ตำบล 23 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 48 ครัวเรือน 134 คน นาข้าว 240 ไร่ ปัจจุบันระดับน้ำเพิ่มขึ้น ร้อยเอ็ด เกิดฝนตกหนัก ทำให้น้ำไหลเข้าท่วมพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเสลภูมิ และอำเภอโพนทอง รวม 15 ตำบล 80 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3,971 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรคาดว่าได้รับความเสียหาย 28,230 ไร่ ปัจจุบันระดับน้ำเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงแจกจ่ายถุงยังชีพและเครื่อง อุปโภคบริโภคแก่ผู้ประสบภัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่องบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ปภ.จึงได้ประสานจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต ในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับมือ ป้องกัน และแก้ไขปัญหาอุทกภัยจากฝนตกหนักและปริมาณ ฝนสะสมในระยะนี้ โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด อีกทั้งจัดเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยประจำพื้นที่เสี่ยงภัยให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมแจ้งเตือนประชาชนให้ระมัดระวังอันตรายจากภาวะฝนตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำล้นตลิ่ง น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม โดยติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด หากได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป