ความสำเร็จเครือข่ายลดบริโภคเค็ม ปี 2561

02 Aug 2018
เครือข่ายลดบริโภคเค็มร่วมกับ สมาคมโรคไต และสสส. เผยความสำเร็จในการลดบริโภคเค็มและการขับเคลื่อนนโยบายลดเกลือและโซเดียมแห่งชาติ ประจำปี 2561" พร้อมสรุปความสำเร็จของนักวิจัยไทยกับผลงานวิจัยทั้ง 6 โครงการ และเปิดตัวคลิ๊ปภาพยนตร์สั้นรณรงค์ลดเค็ม เรื่อง " The Ingredients : มื้อพิ(ษ)เศษ"และมอบรางวัลให้แก่องค์กรภาครัฐและเอกชน ด้านอุตสาหกรรมอาหารที่มีส่วนช่วยในการลดการบริโภคโซเดียมของคนไทย
ความสำเร็จเครือข่ายลดบริโภคเค็ม ปี 2561

ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่าเครือข่ายลดบริโภคเค็ม เป็นความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจำนวนมาก ร่วมกันสร้างสรรค์งาน โดยมีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งในส่วนของการทำงานวิจัย เพื่อปรับและละลายพฤติกรรมของประชาชน ให้หันมาใส่ใจ ลด ละ เลิกการบริโภคเค็ม รวมถึงการประสานความร่วมมือกับภาคเอกชน ให้ผลิต ผลิตภัณฑ์เพื่อลดเค็มให้กับผู้บริโภคโดยเฉพาะ โดยปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้มีนโยบายให้ทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานตามยุทธศาสตร์นโยบายลดเกลือดและโซเดียมแห่งชาติ เพื่อรวมพลังขับเคลื่อนจากทุกภาคส่วนอย่างบูรณาการ ซึ่งในปีที่ผ่านมาได้รณรงค์ให้ความรู้ประชาชนผ่านสื่อโทรทัศน์ วิทยุ สิ่งพิมพ์ และสื่อออนไลน์อย่างต่อเนื่อง มีการจัดประชาสัมพันธ์ผ่านเครือข่ายวิทยุในต่างจังหวัด 4 ภาค ใน 6 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดเชียงใหม่ พิษณุโลก ขอนแก่น อุบลราชธานี สงขลา และตรัง โดยมีสถานีวิทยุกระจายเสียงกว่า 30 แห่ง ช่วยกันร่วมกันรณรงค์ให้ความรู้ในรูปแบบต่าง ๆ มากมาย ซึ่งในปีหน้าทางเครือข่ายลดบริโภคเค็มมีแผนที่จะขยายกิจกรรมนี้เป็น 5 ภาค จำนวน 10 จังหวัด เพื่อให้เกิดการรับรู้กับประชาชนและผู้บริโภคมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาเว็บไซต์www.lowsaltthai.com เพื่อผู้บริโภคให้มีความทันสมัยมากขึ้นและเปิดตัวภาพยนตร์สั้นรณรงค์ลดการบนริโภคเค็ม เรื่อง" The Ingredients : มื้อพิ(ษ)เศษ" ซึ่งนำแสดงโดยนักแสดงชื่อดัง คุณ สินจัย เปล่งพานิช ซึ่งมีความยาว 8 นาที เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนในสังคมได้ตระหนักถึงการบริโภคเค็ม

ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า เครือข่ายลดบริโภคเค็มได้ร่วมกับองค์การอนามัยโลก (TheWorld Health Organization:WHO) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรืออย.ร่วมกันผลักดันให้บริษัทผู้ผลิต ผลิตภัณฑ์อาหารในท้องตลาดและจำหน่ายในท้องตลาด มีการปรับเปลี่ยนฉลากเพื่อลดโซเดียม จนถึงปัจจุบันมีบริษัทจำนวน 68 บริษัท ประกอบด้วย บริษัทเครื่องดื่ม 50 บริษัท บริษัทเครื่องปรุงรส 3 บริษัท บริษัทผลิตภัณฑ์นม 7 บริษัท กลุ่มอาหารกึ่งสำเร็จรูป 4 บริษัท กลุ่มขนมขบเคี้ยว 3 บริษัท กลุ่มไอศครีม 1 บริษัท นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์ที่เปลี่ยนฉลากและจำหน่ายในท้องตลาดแล้วทั้งหมด 250 ผลิตภัณฑ์ แบ่งเป็น ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม 193 ผลิตภัณฑ์ กลุ่มอาหารกึ่สำเร็จรูป 10 ผลิตภัณฑ์ กลุ่มขนมขบเคี้ยว 5 ผลิตภัณฑ์ กลุ่มไอศกรีม 8 ผลิตภัณฑ์ กลุ่มเครื่องปรุงรส 7 ผลิตภัณฑ์ กลุ่มผลิตภัณฑ์นม 27 ผลิตภัณฑ์

นอกจากนี้ยังได้สนับสนุนให้ผู้ประกอบการอาหาร ติดฉลาก"ทางเลือกสุขภาพ"เพื่อให้ผู้บริโภคได้มีทางเลือกในการบริโภคอาหารที่เหมาะกับสุขภาพของตนเอง โดยมีผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองแล้วทั้งสิ้น 633 ผลิตภัณฑ์แบ่งเป็นกลุ่มอาหารมื้อหลัก 10 ผลิตภัณฑ์ เครื่องปรุงรส 12 ผลิตภัณฑ์ อาหารกึ่งสำเร็จรูป (บะหมี่และโจ๊ก) 22 ผลิตภัณฑ์ ขนมขบเคี้ยว30 ผลิตภัณฑ์ กลุ่มเครื่องดื่ม 458 ผลิตภัณฑ์ผลิตภัณฑ์นม 81 ผลิตภัณฑ์และไอศกรีม 20 ผลิตภัณฑ์ อีกทั้งยังได้ร่วมกับอย.ได้กำหนดแนวทางในการผลักดันมาตรการลดโซเดียมในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารแช่เย็นแช่แข็ง ผงหรือก้อนปรุงรส โดยหวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นในการจัดตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนเป้าหมายร่วมกัน และจัดทำแผนการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมเพื่อเกิดประสิทธิผล ก่อนมีมาตรการทางกฎหมายต่อไป

สำหรับงานวิจัยของเครือข่ายลดบริโภคเค็มในปี 2561 นี้ ส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยที่ต่อยอดและพัฒนาจากงานวิจัยเดิม เพื่อพัฒนาให้งานวิจัยเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคและสังคมอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย 6 โครงการเด่นได้แก่ 1. โครงการวิจัยการผลิตเครื่องตรวจสอบความเค็มในตัวอย่างอาหารและปัสสาวะเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพของประชาชนทั่วไป 2.โครงการวิจัย Food safety Forum: ลดเกลือโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป 3.โครงการวิจัยต้นแบบผลิตภัณฑ์เกลือลดโซเดียม: การใช้ประโยชน์และการถ่ายทอดเทคโนโลยีเชิงพาณิชย์ 4.โครงการวิจัยการศึกษาปริมาณโซเดียมและโซเดียมคลอไรด์ในอาหารบาทวิถี (Street Foods) 5.โครงการวิจัยการพัฒนาคุณภาพปลาร้าและผลิตภัณฑ์ปลาร้าทางเลือกตามภูมิปัญญาท้องถิ่น และโครงการวิจัยการทดสอบความแม่นยำของเครื่องตรวจปริมาณเกลือในตัวอย่างอาหารและปัสสาวะเพื่อประเมินการบริโภคเกลือในคนและการประยุกต์ใช้เพื่อช่วยลดการบริโภคเกลือในประชากร

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)กล่าวว่า ปัจจุบันมีหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ได้มีการรณรงค์ลดบริโภคเค็มหรือลดโซเดียม เพื่อให้ประชาชนเกิดความตระหนักถึงอันตรายของการบริโภคอาหารโซเดียมสูง โดยสสส. ได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อให้คนไทยมีสุขภาพดีอย่างต่อเนื่อง แต่ในขณะนี้คนไทยบริโภคโซเดียมสูงเกินกว่าค่ากำหนดของ WHO ถึง 2 เท่า หรือประมาณ 4,350 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยเฉพาะ โรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง นอกจากนี้การบริโภคอาหารโซเดียมสูงยังเป็นปัจจัยที่นำไปสู่การเกิดความเคยชินต่อรสเค็ม หรือพฤติกรรมติดเค็ม ทำให้บริโภคอาหารโซเดียมสูงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ความเคยชินต่อรสเค็ม หรือการติดรสชาติเค็มเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการปรับลดปริมาณโซเดียม แนวทางการปรับลดปริมาณปริมาณโซเดียมในอาหารหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่นิยมในปัจจุบันคือการใช้สารทดแทนเกลือ เช่น เกลือโพแทสเซียมคลอไรด์ ซึ่งการใช้สารทดแทนเกลือดังกล่าว ยังมีข้อจำกัดบางประการ เช่น ทำให้เกิดรสเฝื่อนในอาหาร หรือการใช้ในผู้ป่วยที่ต้องจำกัดปริมาณโพแทสเซียม ดังนั้นการหาแนวทางปรับลดโซเดียมในอาหารโดยไม่ส่งผลกระทบต่อรสชาติและการยอมรับผู้บริโภคจึงถือเป็นเป้าหมายสำคัญอีกทางหนึ่ง

รศ.นพ.เกรียงศักดิ์ วารีแสงทิพย์ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่าสถานการณ์โรคไตในปัจจุบันกำลังเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก ปัจจุบันในภาครัฐบาลไทยได้ย้ำให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมมือกัน และได้มีการประกาศให้มีการขับเคลื่อนนโยบายลดเกลือและโซเดียมแห่งชาติตั้งแต่ ปี 2560 เป็นต้นมา มีหลายประเทศทั่วโลก ที่มีการออกมาตรการเก็บภาษีเกลือ ออกมาแล้ว เนื่องจากไม่สามารถปรับลดปริมาณโซเดียมในอาหารลงได้ หรือไม่

ได้รับความร่วมมือจากภาคผู้ผลิต อันได้แก่ บริษัท ร้านค้า กลุ่มฟาสต์ฟู้ดส์ ต่าง ๆ ก็ดี สำหรับในประเทศไทยยังไม่ถึงขั้นที่จะมีการนำมาตรการนี้ออกมาใช้ แต่อาศัยการเจรจาพูดคุยระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนตามความสมัครใจ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มีการผลิต ผลิตภัณฑ์ลดโซเดียมหรืออาหารลดโซเดียมออกมาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามปัญหาสำคัญอยู่ที่พฤติกรรมของผู้บริโภคที่จะต้องสร้างการรับรู้อย่างสม่ำเสมอ ให้มีการเปลี่ยนแปลงแนวทางการรับประทานอาหารจากที่มีรสชาติอาหารที่จัดจ้านให้เปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานให้มาเป็นรสชาติอาหารที่มีความพอดีให้ได้

สำหรับในปีนี้เครือข่ายลดบริโภคเค็มได้มอบรางวัลแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ รางวัล องค์กรดีเด่นด้านช่วยสนับสนุนการลดบริโภคโซเดียม และรางวัลองค์กรดีเด่น ด้านสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์สุขภาพ (ลดโซเดียม)โดยรางวัลประเภทองค์กรดีเด่นด้านช่วยสนับสนุนการลดบริโภคโซเดียม มี 3 รางวัล ได้แก่ 1.สถาบันสถานศึกษาวิทยาลัยเทคโนโลยีธุรกิจการอาหารไทยและนานาชาติ 2. บริษัทโตโยต้า ไดฮัทสุ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด และ 3.กรมวิทยาศาสตร์บริการ ส่วนรางวัลองค์กรดีเด่น ด้านสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์สุขภาพ (ลดโซเดียม)

สำหรับ รางวัลองค์กรดีเด่น ด้านสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์สุขภาพ (ลดโซเดียม) มี 10 รางวัล ได้แก่ 1. บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) 2. บริษัท ริชชี่ ไรซ์ โปรดักส์ จำกัด 3. บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) 4. บริษัท นอติลุสฟู้ด (ประเทศไทย) จำกัด 5. บริษัท เค.เอส.เอฟ ฟู้ดส์ โปรดักส์ จำกัด 6. บริษัท ไทยรสทิพย์ จำกัด 7.บริษัท Tasty Treasure จำกัด 8. บริษัทอกริ โพรเซสซิ่ง อินดัสทรี จำกัด 9.บริษัทอาหารเบทเทอร์ จำกัด และ 10.บริษัทลีนมิลออลคลีน จำกัด

ความสำเร็จเครือข่ายลดบริโภคเค็ม ปี 2561 ความสำเร็จเครือข่ายลดบริโภคเค็ม ปี 2561