"ขณะนี้มีความก้าวหน้าในการก่อสร้างกว่า 90% คาดว่าจะแล้วเสร็จตามกำหนดภายในสิงหาคมนี้ ซึ่งจะทำให้สหกรณ์มีความพร้อมในการบริการสมาชิก สามารถรวบรวมข้าวเปลือกเจ้ามาเก็บสต๊อกไว้เพื่อรอเข้าสู่โรงสีแปรรูปเป็นข้าวเปลือก เพื่อเพิ่มมูลค่า ทำให้สมาชิกมีความพึงพอใจกับการนำข้าวเปลือกมาขายให้กับสหกรณ์ เพราะนอกจากจะได้รับค่าข้าวเป็นเงินสดในราคานำตลาด 100 บาท/ตันแล้ว หากสหกรณ์ขายข้าวได้กำไร จะมีการปันผลคืนสู่สมาชิกด้วยอีกต่อหนึ่ง"
ในโอกาสนี้ ได้ร่วมประชุมชี้แจงมาตรการช่วยเหลือและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2561/62 กับตัวแทนสหกรณ์ในพื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง 190 แห่ง จาก 23 จังหวัด โดยมาตรการดังกล่าว ภายใต้โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกและการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวเปลือก ซึ่ง ธ.ก.ส. จะให้สินเชื่อแก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เพื่อชะลอการจำหน่ายผลผลิตข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกเหนียว ข้าวเปลือกเจ้า และข้าวเปลือกปทุมธานี 1 โดยให้ค่าบริหารจัดการแก่สถาบันเกษตรกรตันละ 1,500 บาท และให้สินเชื่อเพื่อสร้าง ยุ้งฉางให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร มีเป้าหมายช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยที่ขึ้นทะเบียน กับกรมส่งเสริมการเกษตร โดยจะช่วยเหลือตามพื้นที่ปลูกข้าวจริง ไร่ละ 1,500 บาท รายละไม่เกิน 12 ไร่ หรือไม่เกินครัวเรือนละ 18,000 บาท ซึ่งจะเป็นมาตรการด้านการตลาดที่กระทรวงเกษตรฯ ต้องเร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อช่วยเหลือสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และเกษตรกรรายย่อย ให้มีโอกาสได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐ และสามารถจำหน่ายข้าวเปลือกในราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรมผ่านระบบสหกรณ์ที่เข้มแข็ง
ด้านนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับข้าวนาปีในฤดูการผลิต ปี 2561/62 ได้เตรียมความพร้อมให้สหกรณ์โดยการสนับสนุนงบประมาณอุดหนุนจากรัฐภายใต้โครงการไทยนิยม ยั่งยืน ในการก่อสร้างปัจจัยพื้นฐานเพื่อจัดเก็บข้าวเปลือก โดยวางเป้าหมายที่จะดำเนินการรวบรวมข้าวเปลือกเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านตัน แบ่งเป็นการรวบรวมเพื่อแปรรูป ประมาณ 70,000 ตัน และรวบรวมเพื่อจำหน่าย จำนวน 1.93 ล้านตัน ซึ่งในส่วนนี้จะมีการเก็บรวบรวมเพื่อชะลอการจำหน่ายประมาณ 529,500 ตัน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit