โดยมหาวิทยาลัยที่ร่วมลงนามประกอบด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยนเรศวร และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และเทคโนธานี ซึ่งประกอบด้วย 3 หน่วยงานได้แก่ สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) การลงนามครั้งนี้เป็นส่วนขยายไปสู่ภูมิภาคและพื้นที่ที่มีศักยภาพ หลังจากได้ร่วมลงนามกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และมหาวิทยาลัยไปแล้ว เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2559 และ วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560
ดร.กิติพงค์ กล่าวว่า เมืองนวัตกรรมอาหารหรือ ฟู้ดอินโนโพลิส จัดตั้งขึ้นมาเพื่อสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของประเทศ และส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งศูนย์กลางนวัตกรรมอาหารของอาเซียนและของโลกภายในปี 2564 เพื่อนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ของระบบเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมในยุคประเทศไทย 4.0 ตลอดระยะเวลา 2 ปี ที่ดำเนินโครงการ เมืองนวัตกรรมอาหารได้รับความสนใจจากบริษัทเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศมาร่วมลงทุนวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอาหารเป็นจำนวนหลายบริษัท แต่ก็ยังไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการได้ครอบคลุมเนื่องจากภาคเอกชนจำนวนมากกระจายตัวอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ดังนั้นการร่วมจัดตั้งและดำเนินการเมืองนวัตกรรมอาหารส่วนขยาย จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนได้เข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม และลดความเสี่ยงในการลงทุนวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม ให้แก่อุตสาหกรรมอาหารทั่วประเทศ รวมทั้งเพื่อเร่งผลักดันให้ประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งศูนย์กลางนวัตกรรมอาหารของโลก
ด้าน ดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ ซีอีโอเมืองนวัตกรรมอาหาร กล่าวว่า ฟู้ดอินโนโพลิส มีเป้าหมายที่จะเชิญชวนบริษัทอาหารชั้นนำระดับโลกที่เน้นการวิจัยและพัฒนา และหน่วยงานผู้ให้บริการด้านการวิจัยชั้นนำของโลกเข้ามาให้บริการในฟู้ดอินโนโพลิส เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงกับบริษัทอาหารและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องของไทยตลอดทั้งห่วงโซ่มูลค่า รวมทั้งเกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี องค์ความรู้ และประสบการณ์ระดับสูงจากนักวิจัยต่างชาติสู่นักวิจัยชาวไทย ซึ่งจะเป็นจุดดึงดูดบริษัทอาหารจากประเทศต่าง ๆ ทั่วภูมิภาคมาลงทุนวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมอาหารในประเทศไทยอีกทางหนึ่งด้วย การขยายเมืองนวัตกรรมอาหารไปสู่พื้นที่ที่มีศักยภาพ โดยความร่วมมือของมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ตลอดจนภาครัฐ หน่วยงานวิจัย และภาคอุตสาหกรรม ให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมศักยภาพและขีดความสามารถของอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องของประเทศ ขณะเดียวกันก็จะเป็นการผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำไปสู่สินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง มีมาตรฐาน และตอบโจทย์รสนิยมของผู้บริโภคทั่วโลก
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit