กรมส่งเสริมสหกรณ์ คิกออฟ ปล่อยคาราวานสินค้าประมงและปศุสัตว์กระจายสู่ผู้บริโภคภาคเหนือ เตรียมจับมือไปรษณีย์ขายสินค้าประมงแปรรูปจากสหกรณ์ผ่านตลาดออนไลน์ส่งตรงผู้บริโภค

16 Aug 2018
สหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่นำร่องนโยบายการตลาดนำการผลิต หนุนเกษตรกรภาคประมง-ปศุสัตว์ ปล่อยคาราวานสินค้าประมงและปศุสัตว์ กระจายผ่านเครือข่ายสหกรณ์ภาคเหนือ 25 แห่ง พร้อมเชื่อมโยง Modern Trade หวังลดค่าครองชีพผู้บริโภคภาคเหนือ และตอบสนองความต้องการผู้บริโภค เตรียมแพ็คกุ้งแห้ง กะปิ อาหารทะเลแปรรูปเสิร์ฟผู้บริโภคผ่านไปรษณีย์ปลายปีนี้ หลังประเมินช่องทางตลาดออนไลน์เติบโตต่อเนื่อง
กรมส่งเสริมสหกรณ์ คิกออฟ ปล่อยคาราวานสินค้าประมงและปศุสัตว์กระจายสู่ผู้บริโภคภาคเหนือ เตรียมจับมือไปรษณีย์ขายสินค้าประมงแปรรูปจากสหกรณ์ผ่านตลาดออนไลน์ส่งตรงผู้บริโภค

นายเชิดชัย พรหมแก้ว รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นประธานปล่อยคาราวานรถบรรทุกสินค้าประมงและปศุสัตว์ของชุมนุมสหกรณ์ประมงแห่งประเทศไทย จำกัด และสหกรณ์ปศุสัตว์ จ. เชียงใหม่ จำนวน 7 คัน มูลค่ารวมกว่า 2,000,000 บาท สินค้าส่วนใหญ่ ได้แก่ อาหารทะเลแปรรูป ปลานิลแดดเดียว กะปิ น้ำปลา ปลาเค็ม ปลาสลิดแดดเดียว ปลาดุกแดดเดียว กุ้งก้ามกราม กุ้งขาวแวนนาไมแช่แข็ง ปลาร้า ผลิตภัณฑ์แปรรูปสัตว์น้ำ ไก่ไข่ ผลิตภัณฑ์สุกรและเนื้อโคขุนรวมทั้งสินค้าเกษตรอื่น ๆ เพื่อส่งกระจายไปยังเครือข่ายสหกรณ์ในพื้นที่ภาคเหนือและจังหวัดใกล้เคียง เช่น พะเยา เชียงราย น่าน แพร่ จำนวน 25 สหกรณ์ และเชื่อมโยงกับห้าง Modern Trade ในเขตภาคเหนือด้วย ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นในการเชื่อมโยงเครือข่ายสหกรณ์ เพื่อช่วยกันกระจายสินค้าประมงไปสู่ผู้บริโภค เป็นการสนองนโยบายการตลาดนำการผลิต เนื่องจากภาคเหนือและจังหวัดใกล้เคียงมีความต้องการที่จะบริโภคสินค้าประมงและปศุสัตว์จำนวนมาก

นายเชิดชัย กล่าวต่อว่า ชุมนุมสหกรณ์ประมงแห่งประเทศไทย จำกัด จะเป็นสื่อกลางระหว่างสหกรณ์ผู้ผลิตและสหกรณ์ฝั่งที่เป็นผู้บริโภค ได้มาพบกัน โดยมีจุดศูนย์กระจายสินค้าอยู่ 2 จุด คือ สหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้ง จำกัด จังหวัดนครปฐม และเครือข่ายสหกรณ์ในจังหวัดอุตรดิตถ์ โดยสหกรณ์จากนครปฐม จะรวบรวมและรับซื้อสินค้าจากสหกรณ์การเกษตร ภาคกลางตอนล่างในราคาที่นำตลาดประมาณ 5-10 % แล้วส่งต่อไปยังสหกรณ์ในจังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อนำสินค้าดังกล่าวไปกระจายต่อให้กับสหกรณ์ 25 แห่ง ในภาคเหนือ แต่ตลาดหลักจะอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ และร้านค้าภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งมีอยู่ 3 สาขา ทั้งนี้ หากนำสินค้าดังกล่าวไปวางขายตามตลาด จะทำให้สหกรณ์สามารถขายในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดประมาณ 10-15% เหตุผลที่สหกรณ์ทำแบบนี้ได้เนื่องจากสหกรณ์ในฐานะผู้รวบรวมผลผลิตได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อนำไปสร้างประโยชน์ให้กับเกษตรกรผู้ผลิตสินค้าสามารถขายผลผลิตได้ราคาสูงขึ้น ขณะเดียวกันยังทำประโยชน์ให้ผู้บริโภคได้ซื้อของดีมีคุณภาพและราคายุติธรรมด้วย

"สถานการณ์สินค้าประมงตอนนี้ ราคาเป็นที่น่าพอใจ แต่ผู้บริโภคในพื้นที่ภาคเหนือยังต้องซื้อสินค้าประมงในราคาที่สูง เนื่องจากการจัดการด้านการตลาดของภาคเอกชนมีราคาสูง ดังนั้น กรมฯในฐานะหน่วยงานที่สนับสนุนการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ มีเป้าหมายที่จะสร้างตลาดที่ถาวรให้กับสหกรณ์การเกษตรในฐานะเป็นแหล่งผลิตสินค้า เพื่อผลิตสินค้าขายให้กับผู้บริโภคในราคาไม่แพง และในปัจจุบันพ่อค้าเอกชนได้เข้าไปรับซื้อสินค้าประมงจากสหกรณ์โดยตรงถึงฟาร์ม แต่นำไปขายต่อให้ผู้บริโภคในราคาที่สูง ดังนั้นถ้าสหกรณ์ผู้ผลิตสินค้าประมงสามารถจัดส่งสินค้าเองได้ ก็ไม่ต้องขายผ่านพ่อค้าคนกลาง จึงต้องการลดขั้นตอนการตลาดลง รวมทั้งต้องการฝึกสหกรณ์ให้ทำธุรกิจด้วยตัวเอง ทั้งนี้ เชื่อว่าวิธีการของระบบสหกรณ์จะทำให้ต้นทุนในการจัดการด้านการขนส่งต่ำกว่าเอกชน ซึ่งจะช่วยผู้บริโภคให้สามารถซื้อสินค้าได้ในราคายุติธรรม ขณะที่เกษตรกรผู้ผลิตก็สามารถขายสินค้าได้ราคาที่สูงขึ้นเพราะระบบสหกรณ์จะรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรในราคานำตลาด"นายเชิดชัย กล่าว

นอกจากนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ยังได้ส่งเสริมให้สหกรณ์มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสามารถนำไปจำหน่ายผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce) เช่น e-marketplace ของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัดอีกด้วย และสิ่งที่จะพัฒนาต่อไป คือ นำกุ้งแห้ง กะปิ อาหารทะเลแปรรูป มาขายผ่านช่องทางตลาดออนไลน์ ซึ่งในเบื้องต้นกรมฯได้ให้ความรู้ แก่สหกรณ์เพื่อนำไปพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้มีขนาดที่เหมาะสมที่จะขายออนไลน์ได้ ก่อนจะมีการถ่ายภาพสินค้าขึ้นประชาสัมพันธ์ทางเว็บไซต์ของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ร่วมกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการในปลายปี 61 นี้ เนื่องจากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา กรมฯได้มีการทดลองนำสินค้าสหกรณ์ขายผ่านทางไปรษณีย์ เช่น เงาะ ลำไย มังคุด และลองกอง และได้มีการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภค พบว่า ผู้บริโภคมีความ พึงพอใจมาก เพราะได้รู้จักสินค้าสหกรณ์ และไม่อยากเสียเวลาไปเดินเลือกซื้อ และมีความมั่นใจว่าสหกรณ์ขายสินค้าที่มีคุณภาพ ดังนั้น กรมฯจึงได้ประมินว่าการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เป็นตลาดที่เติบโตอย่างรวดเร็ว จึงเกิดแนวคิดที่จะนำสินค้าประมงแปรรูปเข้ามาขายผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งคาดว่าเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการช่วยขยายตลาดสินค้าสหกรณ์ได้เพิ่มขึ้นในอนาคต

HTML::image( HTML::image( HTML::image(