โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ผู้ทรงเป็นบิดาแห่งการวิจัยไทย และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 และพระบรมวงศานุวงศ์ ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่องานวิจัยไทย นอกจากนี้ยังเป็นเวทีเชื่อมโยงการวิจัยของไทยที่มีศักยภาพไปสู่กลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ในระดับประเทศและนานาชาติ ตลอดจนขับเคลื่อนให้เกิดกลไกพัฒนาการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ
ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับ 3 เรื่องหลักคือ 1) กลยุทธ์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 2) การพัฒนาการสื่อสาร 3) การพัฒนาการวิจัย ซึ่งที่ผ่านมาในประเด็นของการพัฒนาการวิจัย หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนงานวิจัยของประเทศ ได้มีการ
บูรณาการการทำงานร่วมกันภายใต้รูปแบบเครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) โดยในช่วงเดือนสิงหาคมของทุกปี คอบช. จะร่วมกันจัดงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ซึ่งเป็นงานใหญ่ประจำปีของวงการวิจัยไทยสาขาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพและสาธารณสุข วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การเกษตร สิ่งแวดล้อม การคมนาคมขนส่ง ฯลฯ ซึ่งภายในงานจะมีการนำสุดยอดงานวิจัยของประเทศในด้านต่างๆ มาร่วมแสดงและเผยแพร่ข้อมูลให้กับผู้ที่สนใจและผู้ประกอบการ เพื่อเพิ่มโอกาสของการใช้ประโยชน์และการต่อยอดงานวิจัยไปสู่กลุ่มเป้าหมายต่างๆ มากขึ้น
นอกจากนี้ภายในงานยังประกอบไปด้วย การประชุมสัมมนา การจัดนิทรรศการงานวิจัยจากเครือข่ายวิจัยต่างๆ ทั่วประเทศ การนำเสนอผลงานวิจัยเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการพัฒนาศักยภาพของนักวิจัย การประกวดผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา กิจกรรม Research Clinic การจัดแสดงและจำหน่วยผลิตภัณฑ์จากภาคเอกชนและภูมิปัญญาท้องถิ่น ฯลฯ ซึ่งงานวิจัยที่นำมาแสดงภายในงานฯ นับเป็นฐานความรู้ที่สำคัญในการนำไปสู่กลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ
รศ.ดร.จาตุรงค์ ตันติบัณฑิต คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เครือข่ายนักวิจัย สวรส. ให้ข้อมูลว่า ผลงานวิจัยเรื่อง ระบบคัดกรองผู้ป่วยโรคเบาหวานขึ้นจอตาและผู้ป่วยโรคจอประสาทตาเสื่อมอย่างอัตโนมัติ ที่ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นการพัฒนาเทคโนโลยีในการตรวจคัดกรองผู้ป่วยโรคเบาหวานขึ้นจอตาและผู้ป่วยโรคจอประสาทตาเสื่อมเบื้องต้น โดยพัฒนา แอปพลิเคชัน DeepEye
ที่สามารถใช้งานบนสมาร์ทโฟนได้อย่างสะดวก และกล้องถ่ายจอตาที่เชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟน สามารถใช้งานง่ายและราคาถูก โดยขั้นตอนและวิธีการตรวจคัดกรองสามารถบอกได้ว่าเป็นโรคดังกล่าวหรือไม่ และถ้าเป็นโรคก็สามารถคัดแยกระดับความรุนแรงของโรคได้ทั้ง 5 ระดับ ได้แก่ No DR, Mild NPDR, Moderate NPDR, Severe NPDR และ PDR ซึ่งเป็นการใช้ขั้นตอนวิธีการเรียนรู้เชิงลึก และเป็นเทคนิคหนึ่งในปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) สามารถนำไปประยุกต์ใช้เป็นระบบสนับสนุนในการตรวจวินิจฉัยโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเชื่อมต่อกับกล้องถ่ายภาพจอตาแบบพกพาได้ทุกรุ่น สามารถตรวจคัดกรองได้รวดเร็ว และมีความแม่นยำเทียบเท่าจักษุแพทย์
ทั้งนี้งานวิจัยดังกล่าวนับเป็นการพัฒนานวัตกรรมซอฟต์แวร์ที่ยังไม่มีผู้ใดทำมาก่อน ภายใต้ทุนสนับสนุนที่ไม่สูงมาก แต่สามารถลดการนำเข้าเครื่องมือวิทยาศาสตร์จากต่างประเทศ รวมทั้งยังช่วยบรรเทาปัญหาการตรวจคัดกรองผู้ป่วยโรคตาในพื้นที่ที่ขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ได้อีกด้วย
ด้าน ดร.จุไรรัตน์ พรหมใจ ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. กล่าวว่า โรคเบาหวานขึ้นจอตาเป็นปัญหาในระบบสุขภาพที่พบได้บ่อย แต่สามารถป้องกันหรือลดความรุนแรงของโรคได้ หากพบแนวโน้มการเป็นโรคตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อการนำไปสู่การรักษา ลดการสูญเสีย ลดค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ และเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้ ซึ่งการตรวจวินิจฉัยโรคเบาหวานขึ้นจอตา ต้องได้รับการตรวจจากจักษุแพทย์ หากแต่จักษุแพทย์ในประเทศไทยมีจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ห่างไกล ส่งผลให้การตรวจวินิจฉัยโรคมีข้อจำกัด บ่อยครั้งผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ส่งผลให้เกิดการสูญเสียการมองเห็น ดังนั้น สวรส.จึงร่วมกับ วช. สนับสนุนงานวิจัยเรื่อง ระบบคัดกรองผู้ป่วยโรคเบาหวานขึ้นจอตาและผู้ป่วยโรคจอประสาทตาเสื่อมอย่างอัตโนมัติ ซึ่งระบบคัดกรองผู้ป่วยฯ ที่งานวิจัยได้พัฒนาขึ้น เป็นการคัดกรองเบื้องต้นที่สามารถทำได้โดยบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนจักษุแพทย์
โดยในระยะต่อไป สวรส. ได้มีการวางแผนเรื่องการประเมินผลงานวิจัยในมิติต่างๆ อาทิ คุณภาพและมาตรฐาน ความคุ้มค่าทางด้านเศรษฐศาสตร์ ความพึงพอใจของผู้รับบริการ ฯลฯ รวมถึงการเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อการผลิตและนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น ทั้งนี้นอกจากงานวิจัยดังกล่าวแล้ว ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2561 สวรส.ยังมีผลงานวิจัยเด่นที่นำไปโชว์อีก 3 เรื่อง ได้แก่ 1) การประเมินผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกเพื่อป้องกันฟันผุเด็กเล็ก 2) การประเมินความปลอดภัยของวัสดุปิดแผลไฟโบรอินผสมสารสกัดจากวุ้นว่านหางจระเข้ในการรักษาแผลเรื้อรังในผู้ป่วยเบาหวาน 3) การออกแบบสภาพแวดล้อมสถานพยาบาลให้เอื้อต่อการเยียวยา
HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit