ล่าสุดข่าวที่เกี่ยวกับเขื่อนและน้ำที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ก็มีข่าวทำนองเดียวกันคือ น้ำในเขื่อนจังหวัดเพชรบุรี ที่สูงเกินระดับมาตรฐาน ซึ่งไม่เข้าใจเช่นเดียวกันว่าทำไมผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องจึงปล่อยให้มาถึงจุดนี้ได้ ทำไมจึงไม่มีการเฝ้าระวังและระบายน้ำไปก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์นี้ ท้ายที่สุดก็ต้องปล่อยน้ำระบายออกมาทางสปิลเวย์ จนก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมสร้างความเดือดร้อนไปตามเส้นทางน้ำที่ผ่าน ท่วมหมู่บ้าน ท่วมตลาด ท่วมถนนที่ชาวบ้านเคยสัญจรไปมา จังหวัดเพชรบุรีนั้นมีเขื่อนอยู่ทั้งหมด 3 เขื่อน คือเขื่อนแก่งกระจาน เขื่อนแม่ประจัน และเขื่อนเพชร ซึ่งเขื่อนที่มีปัญหาน้ำล้นอยู่ในขณะนี้ก็คือ เขื่อนแก่งกระจานที่มีอาณาเขตติดกับชายแดนเมียนมาทางฝั่งมะริด ทะวาย วิธีการระบายน้ำผ่านทางสปิลเวย์อย่างเดียวคงจะไม่พอ ล่าสุดเห็นว่าจะมีการเปิดประตูเขื่อนให้น้ำระบายออกมาทีละน้อยด้วยอีกทางหนึ่ง จะอย่างไรก็ตามน้ำส่วนเกินนี้ก็กำลังมุ่งพุ่งตรงมายังตัวเมืองเพชรบุรีและพื้นที่ใกล้เคียง ไม่ว่าจะเป็นอำเภอท่ายาง อำเภอบ้านแหลม โดยไปตามเส้นคู คลองชลประทานต่าง ๆ ส่วนหนึ่งก็จะต้องผ่านเขื่อนเพชรซึ่งอยู่ใกล้กับอำเภอท่ายาง ถ้าระดับน้ำยังล้นเกินก็จะมีปัญหากับชาวบ้านพื้นที่แถบนี้อย่างแน่นอน
จากข่าวที่นำเสนอผ่านทางทีวี ดูแล้วก็บรรยากาศคล้ายๆ กับกรุงเทพมหานครในปี 2554 คือชาวบ้านร้านตลาดเริ่มก่ออิฐ ถือปูน วางกระสอบทราย กั้นผ้าใบหวังว่าจะป้องกันน้ำที่หลากไหลลงมาได้ แอบคิดในใจว่า "ไม่น่าจะมีอะไรที่จะสู้กับพลังของธรรมชาติได้" เพราะเคยมีประสบการณ์ตรงมาแล้ว ทำทุกวิถีทางทั้งใช้ดินน้ำมันใส่ถุงก๊อปแก๊ปยัดใส่โถส้วมกันน้ำมาจากทางนี้ การปิดยาแนวด้วยปูนชั้นดี การก่ออิฐ ซ้อนด้วยกระสอบทรายทับด้วยผ้าใบ ฯลฯ แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ "เอาไม่อยู่" แต่ก็เข้าใจพี่น้องชาวเพชรบุรี เพราะจะต้องแก้ไขตามสถานการณ์...ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย ไม่ว่าจะอย่างไรก็ขอเอาใจช่วยและเป็นกำลังใจให้อีกทางนะครับ
ถ้าจะวิเคราะห์เจาะลึกกันจริงๆ สาเหตุส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการบริหารจัดการน้ำที่ประเทศของเรายังทำได้ไม่ดีพอ ซึ่งไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม เพราะบ้านเราประสบพบเจอปัญหา "น้ำท่วม ฝนแล้ง ซ้ำซาก" มาหลายสิบปีโดยไม่เปลี่ยนแปลงเลย สาเหตุหลักอีกหนึ่งของปัญหาที่น่าจะเกี่ยวข้องก็คือ การที่รัฐยังปล่อยให้มีการตัดไม้ทำลายป่าอย่างต่อเนื่อง จนทำให้พื้นที่ป่าดิบสมบูรณ์กลายเป็นป่าพืชไร่เลื่อนลอย เนื่องด้วยปล่อยชาวบ้านหักร้างถางพงปลูกข้าวโพด ข้าวฟ่าง ข้าวไร่และพืชผักต่างๆ จนระบบนิเวศน์ของดินและผืนป่าเปลี่ยนแปลงไป เพราะระบบรากของพืชไร่และพืชผักต่างๆ ที่มนุษย์ปลูกนั้น มีความแตกต่างจากป่าไม้ยืนต้นธรรมชาติที่หยั่งรากลึกแผ่ขยายไปได้กว้างไกล ทำให้พื้นที่หน้าดินมีความสามารถสูงกว่ามากในการดูดซับกักเก็บน้ำฝน ปริมาณน้ำฝนของประเทศไทยปีหนึ่งสูงเกือบ 800,000 ล้านลูกบาศก์เมตร
ในอดีตป่าไม้ยืนต้นทำหน้าที่ในการกักเก็บน้ำฝนได้มากถึง 70% และอีก 30 % ที่เหลือไหลลงสู่ห้วย หนอง คลอง บึง และมุ่งไปยังเขื่อนต่างๆ ทำให้ป่าในอดีตทำหน้าที่เป็นแก้มลิงซับน้ำให้ไหลลงสู่เขื่อนอย่างพอเหมาะพอดีแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่เมื่อ "ป่าเขาลำเนาไพร" ส่วนใหญ่กลายเป็น "ป่าเขาหัวโล้น" จึงทำให้ไม่มีความสามารถในการกักเก็บซับน้ำ จึงทำหน้าที่กักเก็บน้ำได้เพียง 30% และอีก 70% ก็ไหลปรี่ลงไปยังทะเล ซึ่งระว่างทางที่จะถึงทะเลก็จะมีข่าวเกือบทุกปีที่มีพายุโหมกระหน่ำว่าจะมีดินถล่ม โคลนสไลด์ ซุงไหลทับผู้คนล้มตาย ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้เป็นตัวชี้วัดได้ว่ายังมีการ "ตัดไม้ทำลายป่า" อยู่นั่นเองอีกสถานการณ์หนึ่งที่รัฐบาลอาจจะนำมาเป็นข้อมูลในการวิเคราะห์แก้ไขปัญหาก็คือ ปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เรียกว่า "เอลนีโญและลานีญา" ซึ่งจะเกิดขึ้นทุกๆ 4-5 ปี ล่าสุดก็เพิ่งจะเกิดขึ้นไปเมื่อปี 2555 และในขณะนี้ก็ใกล้เคียงกับช่วงเวลาของปรากฏการณ์ที่ว่านี้ด้วยเหมือนกัน เพียงแต่ว่าความรุนแรงจะมากหรือน้อยกว่าปีก่อนๆ เท่านั้นเอง
การดูแลแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำท่วม ฝนแล้ง น้ำล้นเขื่อน ถ้าเราสามารถนำเหตุการณ์ในอดีตเข้ามาบริหารจัดการให้ดีและเหมาะสม ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า การรณรงค์ส่งเสริมให้ปลูกป่าไม้ยืนต้นแทนพืชไร่ การสร้างเขื่อน การสร้างแหล่งกักเก็บน้ำ (แก้มลิง) การสร้างฝาย ทุกๆอย่างถ้าทำให้เหมาะสม สอดคล้อง ลงตัว หรือเรียกว่าการบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความรุนแรงหรือผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนและประเทศชาติก็น่าจะลดน้อยถอยลง
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit