การประชุมวิชาการนานาชาติ The 8th IUPAC International Conference on Green Chemistry มุ่งเน้นสร้าง Green Chemistry

15 Aug 2018
นางอุมาพร สุขม่วง อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ เป็นประธานการแถลงข่าวการจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ 8th IUPAC International Conference on Greening Chemistry 2018 (8th IUPAC ICGC) จัดโดย สมาคมเคมีแห่งประเทศไทยฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์สมาคมวิศวกรรมเคมีและเคมีประยุกต์แห่งประเทศไทย และกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ณ ห้องโถงนิทรรศการ ชั้น1 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
การประชุมวิชาการนานาชาติ The 8th IUPAC International Conference on Green Chemistry มุ่งเน้นสร้าง Green Chemistry

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กล่าวว่า การประชุมนานาชาติ IUPAC ครั้งที่ 8 นี้เป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่ง ประการแรก การจัดงานนี้เป็นความร่วมมือของหลายหน่วยงานและเป็นการสร้างเครือข่ายที่มีความเข้มแข็ง เป็นประโยชน์ต่อการสร้างความร่วมมือให้เกิด Green Chemistry เรื่องของเคมีที่มีประโยชน์และปลอดภัยต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ทั้งในประเทศไทยและในระดับโลก ประการที่สอง เป็นเรื่องน่ายินดีที่มีการจัดประชุมนานาชาตินี้ในประเทศไทยเป็นโอกาสดีที่ประชาชนทั่วไป นักวิชาการ เคมี นักวิจัย นิสิตนักศึกษา ได้ลงทะเบียนเข้าร่วมประชุมวิชาการครั้งนี้จำนวนมาก ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะเป็นหน่วยงานภาครัฐยินดีให้ความร่วมมือกับทุกๆฝ่าย

ศ.ดร ศุภวรรณ ตันตยานนท์ ประธานจัดการประชุมวิชาการนานาชาติ 8th IUPAC ICGC กล่าวว่า การประชุมวิชาการนานาชาติ The 8th IUPAC International Conference on Green Chemistry หรือ Green IUPAC 2018 กำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 9 – 14 กันยายน 2561 ณ โรงแรมแชงกรีลา กรุงเทพมหานคร ภายใต้แนวคิด "Green for Sustainable Growth: Chemistry, Scaling-Up,Economic, Regulation, Innovation, and Education" ด้วยความร่วมมือจาก International Union of Pure and Applied Chemistry องค์กรการศึกษาด้านเคมีที่มีบทบาทมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ในงานประชุมนี้ท่านจะได้พบกับวิทยากรระดับรางวัล Nobel prize - Prof. Robert H Grubbs และวิทยากรระดับโลกอย่าง Prof. Susumu Kitagawa ซึ่งได้รับรางวัล 2017 Solvay Prize และ Humboldt Research Award ในปี2008 และ Prof. Buxing Han ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็น Academician of the Chinese Academy of Sciences ในปี 2014 ซึ่งเป็นรางวัลสำหรับผู้ที่อุทิศตนเพื่อประโยชน์ต่อวงการวิทยากรของจีน และวิทยากรอีกมากมายจากทั่วโลกกว่า 50 ประเทศ โดยเนื้อหาบรรยายจะครอบคลุม ตั้งแต่แนวคิดสู่การปฏิบัติการผลิตและการใช้จริงในระดับอุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อวงวิชาการและวงการอุตสาหกรรมเคมีของไทยอย่างกว้างขวางนอกจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แล้ว ในงานยังได้จัดให้มีการ matching ระหว่างนักวิทยาศาสตร์กลุ่มstart upและบริษัทสนับสนุนและผู้สนใจลงทุน ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนและสร้างโอกาสทางธุรกิจ

ศ.ดร สุภา หารหนองบัว นายกสมาคมเคมีแห่งประเทศไทย กล่าวว่า Green IUPAC 2018 จึงเป็นอีกหนึ่งเวทีด้านวิชาการและอุตสาหกรรมที่น่าสนใจและครบถ้วนครอบคลุมที่สุด อีกเวทีหนึ่งที่ไม่ควรพลาด ซึ่งการจัดประชุมนานาชาติครั้งนี้จะเป็นโอกาสทำให้นักวิทยาศาสตร์เคมีที่ลงทะเบียนเข้าร่วมงานมาแล้วได้รู้จักประเทศไทย และขอบคุณกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กรมวิทยาศาสตร์บริการ ที่สนับสนุนการเป็นสมาชิก IUPAC ส่งผลให้มีศักยภาพความเข้มแข็งจัดงานในระดับนานาชาติครั้งนี้ เป็นเวทีที่นักวิทยาศาสตร์ไทยจากภาครัฐ ภาคการศึกษา ได้นำเสนอผลงานในระดับโลก