ในภาพ (จากซ้าย)
1.นายจักรพงษ์ ชาวงษ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 2.นายแกรี่ กาน ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและการสื่อสาร (Compliance Programs) ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บีเอสเอ I กลุ่มพันธมิตรซอฟต์แวร์ 3.นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 4.นายจาเรด แร็คแลนด์ ผู้อำนวยการอาวุโสด้านนโยบาย ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บีเอสเอ I กลุ่มพันธมิตรซอฟต์แวร์ 5. นางสาววารุณี รัชตพัฒนากุล ผู้จัดการประจำประเทศไทย บีเอสเอ I กลุ่มพันธมิตรซอฟต์แวร์
บีเอสเอ│กลุ่มพันธมิตรซอฟต์แวร์ และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมจัดการประชุมระดับสูงขึ้นในวันนี้เพื่อพูดคุยประเด็นความท้าทายและข้อเสนอแนะให้เกิดการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมมากขึ้นในประเทศไทย ซึ่งกำลังเร่งปรับเปลี่ยนกฎหมายและกฏระเบียบเพื่อเร่งเข้าสู่เศรษฐกิจยุคดิจิทัล โดยตัวแทนจากภาครัฐได้วางนโยบายเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคและการสร้างงาน
นายจาเรด แร็คแลนด์ ผู้อำนวยการอาวุโสด้านนโยบาย ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ของบีเอสเอ กล่าวว่า "บีเอสเอและสมาชิกได้ทำงานร่วมกับรัฐบาลทั่วโลกอย่างใกล้ชิด เพื่อพัฒนากรอบนโยบายระดับชาติและกฎหมายต่างๆ ซึ่งเรารับรู้ได้ถึงผลของนโยบายที่ได้รับการวางแผนมาอย่างดีต่อการสนับสนุนให้เกิดความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและกระทรวงอื่นๆ ได้มุ่งมั่นทำงานเพื่อสร้างกรอบนโยบายที่ดีที่สุดสำหรับประเด็นความปลอดภัยด้านไซเบอร์ไปจนถึงการป้องกันข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตในเศรษฐกิจโลกยุคใหม่ต่อไป"
การประชุมครั้งนี้ ได้ให้ความสำคัญกับกรอบนโยบายระดับชาติที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งต้องมีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนและมีความยืดหยุ่นตามสมควร ในส่วนของการป้องกันข้อมูลส่วนตัวนั้น ผู้เข้าร่วมประชุมได้ย้ำถึงความสำคัญของการเคารพความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภคและต้องไม่สร้างปัญหาต่อการส่งข้อมูลข้ามประเทศโดยไม่จำเป็น โดยประเทศไทยตระหนักถึงความสำคัญของความน่าเชื่อถือและเชื่อมั่นในสังคมออนไลน์ และความจำเป็นในการออกกฎหมายป้องกันข้อมูลส่วนตัวที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตและเกิดการสร้างงานใหม่ๆ มากขึ้น
ผู้เข้าร่วมประชุมยังได้พูดคุยถึงความจำเป็นของนโยบายความปลอดภัยด้านไซเบอร์ที่เข้มงวดและผ่านการพิจารณาด้านความเสี่ยง โดยนโยบายนั้นควรเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับหลักปฏิบัติสากล เพื่อความโปร่งใสและความเชื่อมั่นระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงทำให้ข้อมูลและโครงสร้างพื้นฐานมีความปลอดภัยมากขึ้น ในภาวะที่การคุกคามด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์มีความซับซ้อนมากขึ้น หากนโยบายในการรับมือไม่เข้มแข็งพอหรือมีการวางแผนอย่างไม่รอบคอบ อาจจะก่อให้เกิดความเสี่ยงขึ้นได้ ความร่วมมือที่มาจากการใช้นโยบายบนพื้นฐานเดียวกันและความยึดมั่นร่วมกันในการป้องกันความปลอดภัยจะทำให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์จากโอกาสใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในโลกดิจิทัลได้อย่างเต็มที่
ในการประชุม บีเอสเอยังได้เน้นถึงความพร้อมของประเทศไทยในด้านคลาวด์ ในช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศผ่านการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง โดยจากรายงาน "Global Cloud Computing Scorecard" ประจำปี พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นงานล่าสุดของรายงานฉบับเดียวของโลกที่ประเมินการเตรียมความพร้อมเพื่อสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจคลาวด์คอมพิวติ้ง ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 19 จากทั้งหมด 24 ประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านไอที ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสิ่งแวดล้อมด้านกฎหมายและกฎระเบียบในประเทศไทยนั้น มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่ากฎหมายและกฎระเบียบในหลายด้านยังต้องได้รับการปรับปรุงก็ตาม จากการที่คลาวด์คอมพิวติ้งกลายเป็นส่วนสำคัญต่อเป้าหมายการไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย นโยบายที่สนับสนุนการเติบโตของธุรกิจนี้จะทำให้เกิดการใช้เทคโนโลยีดิจิตัลและบริการใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอย่างมาก
"ตามแผนงานของประเทศในการสร้างระบบยืนยันตัวตนทางดิจิทัลใหม่ รวมถึงแพล็ตฟอร์มที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ และเพิ่มความปลอดภัยด้านไซเบอร์ภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 นั้น ประเทศไทยต้องยอมรับและตระหนักถึงประโยชน์ของการส่งข้อมูลระหว่างประเทศอย่างไร้ขีดจำกัด การใช้ระบบรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่ล้ำหน้า การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านคลาวด์ที่แข็งแรง"นายจาเรด แร็กแลนด์ กล่าว "นักธุรกิจ รัฐบาล นักวิชาการ และผู้นำด้านการปกป้องประโยชน์สาธารณะ ต้องทำงานร่วมกันต่อไปเพื่อให้นโยบายและการปฏิบัติก้าวไปข้างหน้าเพื่อให้ทั้งสังคมได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้อย่างเต็มที่"
ข้อมูลเกี่ยวกับ BSA
บีเอสเอ | กลุ่มพันธมิตรซอฟต์แวร์ (www.bsa.org) เป็นผู้แทนทางกฎหมายระดับแนวหน้าสำหรับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ทั่วโลกต่อรัฐบาลและในตลาดระดับสากล สมาชิกของกลุ่มพันธมิตรคือบริษัทต่างๆ ที่มีความสร้างสรรค์ด้านนวัตกรรมที่สุดของโลก ซึ่งสร้างโซลูชันซอฟต์แวร์ที่จุดประกายเศรษฐกิจและปรับปรุงคุณภาพชีวิตในยุคปัจจุบัน
ด้วยสำนักงานใหญ่ในกรุงวอชิงตันดีซี และการดำเนินการมากกว่า 60 ประเทศ บีเอสเอบุกเบิกโปรแกรมการปฏิบัติตามที่ส่งเสริมซอฟต์แวร์ที่ถูกกฎหมาย และสนับสนุนนโยบายสาธารณะที่บ่มเพาะนวัตกรรมเทคโนโลยีและขับเคลื่อนการเติบโตในเศรษฐกิจดิจิทัล
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit