พญ.ชญาตา เหลี่ยมศิริเจริญ จักษุแพทย์ โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่า สาเหตุของอาการตาแห้งมีหลายสาเหตุ อาทิ การอ่านหนังสือติดต่อกันเป็นเวลานาน แต่สาเหตุที่พบได้บ่อย คือ การเพ่งจ้องหน้าจอโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานาน ซึ่งการเพ่งนานๆ จะทำให้เรากระพริบตาน้อยลงถึง 60 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งโดยปกติการกระพริบตาจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ 20-22 ครั้งต่อนาที แต่เมื่อเราจดจ่ออยู่กับหน้าจอจะทำให้การกระพริบตาลดลงเหลือ 6-8 ครั้งต่อนาทีและทำให้ตาแห้ง เพราะขณะที่เรากระพริบตา ชั้นน้ำตาจะถูกกระจายเคลือบไปทั่วด้านหน้าของดวงตา เพื่อคงความชุ่มชื้นและหล่อลื่นดวงตาไว้ ซึ่งชั้นน้ำตาประกอบด้วยน้ำเป็นส่วนประกอบหลัก และมีชั้นไขมันบางๆ ที่สร้างมาจากต่อมไขมันบริเวณเปลือกตาเคลือบด้านหน้าไว้ ป้องกันไม่ให้น้ำตาระเหยเร็วเกินไป แต่หากเกิดปัญหาที่ชั้นใดชั้นหนึ่งจะทำให้ชั้นน้ำตาไม่แข็งแรงและเกิดอาการตาแห้งตามมา สัญญาณเตือนบ่งบอกว่าเริ่มมีอาการตาแห้ง คือ เคืองที่ดวงตาทั้ง 2 ข้างรู้สึกเหมือนมีฝุ่นผงในตา แสบตา คันตา หากเป็นมากจะเกิดอาการตาแดง ตาสู้แสงไม่ได้ ปวดรอบกระบอกตา มีอาการอ่อนล้าทางประสาทตาได้ มองภาพไม่ชัดเป็นๆ หายๆ หากสวมคอนแทคเลนส์จะยิ่งทำให้ไม่สบายตามากขึ้น ทั้งนี้คุณหมอแนะนำว่าหากมีอาการตาแห้งสามารถบรรเทาได้ด้วยการหยอดน้ำตาเทียม ลดการเพ่งหน้าจอโทรศัพท์และคอมพิวเตอร์โดยพักสายตาทุกๆ 20 นาที กระพริบตาให้บ่อยขึ้น ปรับแสงสว่างและขนาดตัวหนังสือให้เหมาะสมเพื่อให้สบายตามากที่สุด หากอาการไม่ดีขึ้นควรมาพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพตา นอกจากนี้อาการตาแห้งอาจเกิดจากการมีภาวะต่อมไขมันที่เปลือกตาอุดตันร่วมด้วย ซึ่งทำให้ไขมันเคลือบชั้นน้ำตาลดน้อยลง ชั้นน้ำตาระเหยง่ายและทำให้การหยอดน้ำตาเทียมเพียงอย่างเดียวไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร ซึ่งการทำความสะอาดเปลือกตา เพื่อลดการอุดตันของต่อมไขมันเป็นการรักษาตาแห้งชนิดที่มีภาวะต่อมไขมันอุดตันร่วมด้วย โดยปกติจะแนะนำให้ประคบอุ่นด้วยเจลสำหรับประคบตาหรือผ้าชุบน้ำอุ่น ประมาณ 40 องศา นาน 5-10 นาที จากนั้นจึงนวดเปลือกตา และเช็คทำความสะอาดเปลือกตาด้วยแชมพูเด็กหรือน้ำยาทำความสะอาดเปลือกตาโดยเฉพาะ โดยควรทำวันละ 2 ครั้งจนอาการดีขึ้น จากนั้นสามารถลดเหลือวันละ 1 ครั้งอย่างต่อเนื่องทั้งนี้ การรักษาที่ดีที่สุดคือ การป้องกัน คนไข้ควรปรับพฤติกรรมในเรื่องของการใช้สายตา คนที่ต้องทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือจำเป็นต้องใช้โทรศัพท์เป็นเครื่องมือในการทำงานเป็นประจำ ก็ควรจัดสรรเวลา และมีการพักสายตาทุก 20-30 นาที นาน 20-30 วินาที ด้วยการทอดสายตามองออกไปไกลๆ หรือหลับตานิ่งๆ สักครู่ ก่อนกลับมาใช้งานหน้าจอต่อ รวมถึงการปรับความสว่างของหน้าจอไม่ให้สว่างจนเกินไป และกระพริบตาบ่อยๆ เพื่อป้องกันอาการตาแห้ง ซึ่งการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโยลีต่างๆ อย่างรู้เท่าทัน จะช่วยลดความเสี่ยงและอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับดวงตาของเราได้
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit