สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และ สธ. ชู!! ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานีเป็นพื้นที่นำร่อง สางปัญหา...ความไม่ครอบคลุมของการได้รับวัคซีนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้

27 Aug 2018
สถาบันวัคซีนแห่งชาติจับมือ สคร.12 กรมควบคุมโรค และเครือข่าย ผลักดันโครงการสร้างภาคีเครือข่ายพัฒนางานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในพื้นที่ เร่งสางปัญหาความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนต่ำใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ พร้อมชู ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี เป็นพื้นที่นำร่อง หวังเรียกความเชื่อมั่นให้เห็นว่าแม้พื้นที่ที่ยากที่สุดยังสามารถทำได้
สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และ สธ. ชู!! ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานีเป็นพื้นที่นำร่อง สางปัญหา...ความไม่ครอบคลุมของการได้รับวัคซีนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้

ดร.นพ.จรุง เมืองชนะ ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ(สวช.)กล่าวว่า ประเทศไทยมีการดำเนินงานสร้างเสริมภูมิคุมิกันโรคมาตั้งแต่ปี 2520 จนถึงปัจจุบันมีวัคซีนที่บรรจุในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุมิกันโรคให้บริการจำนวน 11 ชนิด สามารถป้องกันโรคได้ 11 โรค ให้บริการแก่เด็กทุกคนในประเทศไทย รวมทั้งแรงงานต่างด้าวและจะขยายการให้วัคซีนในผู้ใหญ่ต่อไป และได้กำหนดความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 หรือไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ในวัคซีนบางชนิด โดยเป้าหมายงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของไทยมีทั้งระดับภูมิภาค ระดับชาติ และระดับโลก เช่น การกวาดล้างโรคโปลิโอหรือการกำจัดหัด การกำจัดโรคบาดทะยักในทารกแรกเกิด และการลดอัตราป่วยของโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน

ถึงแม้ว่างานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคจะดำเนินการมาแล้วถึง 40 ปี แต่จากระบบรายงานปกติและการสำรวจพบว่าบางพื้นที่ยังมีปัญหาโดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งพบว่าความครอบคลุมของวัคซีนทุกชนิดต่ำกว่าเกณฑ์ เนื่องจากความยากลำบากในการดำเนินการเชิงรุกและการติดตามกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ การปฏิเสธวัคซีน การปฏิเสธนวัตกรรมใหม่ การสื่อสารประชาสัมพันธ์สู่ประชาชนขาดความต่อเนื่อง การให้บริการวัคซีนไม่ได้เป็นตัวชี้วัดของสถานบริการทุกจังหวัดและบางส่วนมองว่าวัคซีนเป็นงานพื้นฐานไม่ต้องให้ความสำคัญมาก ผู้รับผิดชอบงานเปลี่ยนงานบ่อย น้องใหม่ขาดประสบการณ์ การรายงานไม่ถูกต้องไม่เป็นไปตามระบบ ฯลฯ

ดร.นพ.จรุง กล่าวต่อไปว่า สถาบันวัคซีนแห่งชาติฯในฐานะหน่วยงานกลางด้านวัคซีนของประเทศในกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและมีบทบาทเป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ โดยมีพลเอกฉัตรชัย สาริกัลป์ยะรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 2/2560 เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 60 ที่ผ่านมา ซึ่งมีมติเห็นชอบให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติและกระทรวงสาธารณสุขร่วมกันดำเนินการแก้ไขปัญหางานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการทำงานร่วมกับกรมควบคุมโรค เครือข่ายภาคประชาสังคม องค์กรการกุศล ผู้นำศาสนา และผู้นำชุมชนในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการติดตามความครอบคลุมของวัคซีนและการเฝ้าระวังโรค รวมทั้งการพัฒนารูปแบบการสื่อสารและให้ความรู้แก่ประชาชนและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ

นอกจากนี้สถาบันวัคซีนแห่งชาติยังได้ร่วมกับ สคร.ที่ 12 จัดทำ "โครงการสร้างภาคีเครือข่าย พัฒนางานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตอนล่าง"เพื่อจัดทำแผนพัฒนางานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย ที่สอดคล้องกับสถานการณ์และบริบทในพื้นที่ โดยกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพื่อให้หน่วยงาน/ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายของการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคด้วยวัคซีนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และได้กำหนดให้อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานีเป็นพื้นที่นำร่องในการแก้ไขปัญหา โดยพิจารณาจากพื้นที่ที่มีอัตราความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนต่ำหรือใช้ฐานข้อมูลทางระบาดวิทยามาประกอบและพิจารณาจากความพร้อม ความสนใจของพื้นที่ด้วย โดยกระบวนการทำงานจะใช้การทำความเข้าใจกับปัญหา สถานการณ์ในพื้นที่ ถอดบทเรียนจากพื้นที่ที่มีความสำเร็จ และเน้นสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ภาคประชาสังคม ผู้นำศาสนาในพื้นที่ รวมทั้ง อสม. ตลอดจนการสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชน ซึ่งคาดว่าพื้นที่นำร่องจะเป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่าพื้นที่ที่ยากที่สุดยังสามารถทำได้ เพราะฉะนั้นพื้นที่อื่นก็จะสามารถทำได้เช่นกัน

"ทั้งนี้คาดว่าประโยชน์ที่จะได้รับจากการดำเนิน"โครงการสร้างภาคีเครือข่าย พัฒนางานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตอนล่าง" จะทำให้ทราบถึงสถานการณ์และปัญหางานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในพื้นที่ และได้แผนพัฒนางานที่จะนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหางานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งจะช่วยสร้างความเข้มแข็งของระบบการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคที่สอดคล้องกับสถานการณ์และบริบทในพื้นที่ โดยคณะทำงานจะเตรียมเสนอแผนเร่งรัดงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับความเห็นชอบและนำไปสู่การปฏิบัติจริงต่อไป" ดร.นพ.จรุง กล่าว

สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และ สธ. ชู!! ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานีเป็นพื้นที่นำร่อง สางปัญหา...ความไม่ครอบคลุมของการได้รับวัคซีนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้