ชุมชนลุ่มน้ำมาง อ.บ่อเกลือ จ.น่าน ใช้ข้อมูลงานวิจัย แก้ปัญหาลำน้ำ หลังระบบนิเวศถูกทำลายเสียหาย จากโครงการขุดลอกลำน้ำมางของภาครัฐ ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต สิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยว

23 Aug 2018
โดย การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์และสื่อสารสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
ชุมชนลุ่มน้ำมาง อ.บ่อเกลือ จ.น่าน ใช้ข้อมูลงานวิจัย แก้ปัญหาลำน้ำ หลังระบบนิเวศถูกทำลายเสียหาย จากโครงการขุดลอกลำน้ำมางของภาครัฐ ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต สิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยว

จังหวัดน่าน ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปสัมผัสบรรยากาศ และชื่นชมธรรมชาติที่สวยงามเป็นจำนวนมากตลอดทั้งปี "อำเภอบ่อเกลือ" เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสุดคูลที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมความงามตามธรรมชาติทั้งผืนป่าที่สมบูรณ์ มีภูเขา ลำธาร และแหล่งน้ำที่ใสสะอาด

'ลำน้ำมาง' เป็นลำธารเล็กๆ ที่ไหลผ่าน ตำบลบ่อเกลือใต้ อำเภอบ่อเกลือ นอกจากเป็นอัญมณีด้านการท่องเที่ยวของอำเภอบ่อเกลือแล้ว ชุมชนยังถือว่าลำน้ำมางเป็นแม่คนที่ 2 และถือเป็นสายเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงชุมชนมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันในการอุปโภคบริโภคและใช้ในการทำเกษตรโดยเฉพาะการทำนา อีกทั้งยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งอาหาร และที่วางไข่ของสัตว์น้ำหลากหลาย เช่น ปลามัน ปลาผีเสื้อ หรือปลาปีกแดงซึ่งเป็นปลาหายาก และยังเป็นแหล่งที่ตั้งของบ่อเกลือสินเธาว์ภูเขาบ้านบ่อหลวงบ่อเกลือโบราณที่มีอายุมานานกว่าพันปีหนึ่งเดียวในโลกที่ตั้งอยู่บริเวณลำน้ำมาง ถือเป็นสัญลักษณ์ของอำเภอบ่อเกลือ แต่ปัจจุบันสภาพความสวยงามของลำน้ำมางหายไป หลังจากถูกทำลายลงจากโครงการของภาครัฐโดยการขุดลอกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ บรรเทาปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยในช่วงต้นปี 2558 ที่ผ่านมา ทำให้คนในชุมชนออกมาคัดค้าน นอกจากสร้างความเสียหายให้กับชุมชนแล้ว ยังเป็นโครงการที่ไม่โปร่งใส ไม่มีการทำประชามติ ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ทราบรายละเอียด ซึ่งหากยังคงขุดต่อไปนอกจากระบบนิเวศจะถูกทำลายแล้ว ยังจะทำลายประวัติศาสตร์ของบ่อเกลืออีกด้วย ในที่สุดการขุดลองลำน้ำมางต้องถูกยุติลง

จากการขุดลอกลำน้ำมางในครั้งนั้น ได้ก่อให้เกิดปัญหาและส่งผลกระทบตามมาในหลายด้านทั้งด้านการท่องเที่ยว ด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งระบบนิเวศลุ่มน้ำ และวิถีชีวิต รวมระยะทางกว่า 8 กิโลเมตร โดยเฉพาะในพื้นที่ตำบลบ่อเกลือใต้ และตำบลภูฟ้า เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพเดิมของลำน้ำมางที่เคยมีความอุดมสมบูรณ์ ทำให้ภูมิทัศน์เปลี่ยนแปลงไป ความสวยงามตามธรรมชาติได้ถูกเปลี่ยนให้เป็นคลอง จากการขุดลอกดังกล่าวทำให้เกิดน้ำแล้งและมีดินโคลน ลำน้ำมีสีขุน ทำให้วังปลาหายไป ปลาหลากหลายชนิดสูญพันธุ์หรือหายไปจากลำน้ำมาง และปลาปีกแดงไม่ขึ้นมาวางไข่อีก อีกทั้งการขุดหินก้อนใหญ่ออกทำให้น้ำไหลแรงและเชี่ยวกรากในหน้าฝน และน้ำแห้งขอดในช่วงหน้าแล้ง ส่งผลให้มีน้ำไม่เพียงพอในการทำเกษตร เพราะระบบเหมืองฝายหรือฝายชะลอน้ำตามธรรมชาติหายไป ไม่มีจุดกักเก็บน้ำ เกาะแก่งบางแห่งหายไป รวมทั้งต้นไม้และพันธุ์พืชซึ่งเป็นแหล่งอาหารของสัตว์น้ำถูกตัดโค่น พื้นที่ถูกทำลายจากรถแม็คโครจนไม่เหลือสภาพเดิม สัตว์เลี้ยงไม่สามารถลงไปกินน้ำในลำน้ำได้เนื่องจากตลิ่งมีความสูงชันจากการวางกล่องเกเบี้ยน รวมทั้งชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมน้ำก็ไม่กล้าลงไปใช้น้ำเช่นกัน

จากสถานการณ์ปัญหาดังกล่าว ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่รวมตัวกันเพื่อหาแนวทางแก้ไข จึงนำมาสู่การศึกษาวิจัยในโครงการ "แนวทางการอนุรักษ์และฟื้นฟูลำน้ำมางอย่างยั่งยืนโดยชุมชนมีส่วนร่วม ตำบอบ่อเกลือใต้ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน" ขึ้นเมื่อปลายปี 2558 ถึงกลางปี 2560 โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างวิถีชีวิต วิถีการผลิตของชุมชนลุ่มน้ำมางกับการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์จากฐานทรัพยากรธรรมชาติและลำน้ำมางทั้งในอดีตและปัจจุบัน ศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงนิเวศลำน้ำมาง รวมถึงการฟื้นฟูองค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นและหาแนวทางในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติลุ่มน้ำมาง อย่างยั่งยืนโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน

นายทวน อุปจักร อดีตแกนนำคัดค้านและในฐานะหัวหน้าโครงการฯ เล่าให้ฟังว่า เนื่องจากชาวบ้านเองก็ต้องการรู้สถานการณ์ปัญหาที่แท้จริงที่เกิดขึ้นเกิดจากสาเหตุใด และจะทำอย่างไรให้ลำน้ำมางยังคงอยู่กับชุมชนต่อไป รวมถึงแนวทางแก้ไขเพื่อที่จะฟื้นฟูลำน้ำมางให้กลับมาเป็นธรรมชาติเหมือนเดิมร่วมกันได้อย่างไร ซึ่งชาวบ้านมีความสนใจนำกระบวนการงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นมาใช้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนและสร้างการเรียนรู้ในการหาแนวทางแก้ปัญหาอย่างมีระบบเพราะเห็นผลเป็นรูปธรรมจากชุมชนอื่นในอำเภอบ่อเกลือที่เคยนำงานวิจัยเข้าไปตอบโจทย์ปัญหาได้ผลสำเร็จมาแล้ว

"ยอมรับว่า พอมาทำงานวิจัยทำให้เราได้ค้นพบข้อมูลที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง และข้อมูลที่ได้จากการวิจัยทำให้เรารู้ว่าธรรมชาติของลำน้ำมางก่อนและหลังจากขุดลอกเป็นอย่างไร ตอนนี้เหลืออะไรบ้าง มีการจัดเวทีประชุม สืบค้นข้อมูล สำรวจแหล่งทรัพยากรและระบบนิเวศลุ่มน้ำ ตลอดจนการจัดเก็บข้อมูลการใช้น้ำของแต่ละในครัวเรือนในแต่ละวันและมีการใช้น้ำในภาคเกษตรเท่าไหร่ เพื่อนำมาวิเคราะห์ปัญหาและหาแนวทางแก้ไข ซึ่งผลวิจัยยืนยันชัดเจนว่า หลังมีการขุดลอกลำน้ำมางได้สร้างการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบนิเวศลุ่มน้ำ การเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ และก่อให้เกิดปัญหาหลายอย่างตามมา ไม่ว่าเรื่องของสัตว์น้ำ พืชอาหาร และด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ได้เกิดจากธรรมชาติ แต่เกิดจากไม่มีการศึกษาอย่างรอบด้านของโครงการภาครัฐที่เข้ามา"

สำหรับผลการศึกษา พบว่า ได้แนวทางการอนุรักษ์และฟื้นฟูลำน้ำมางด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้ 3 แนวทาง คือ การสร้างธรรมภิบาลในการกำหนดนโยบายสาธารณะที่คำนึงถึงการมีส่วนของทุกภาคส่วนสังคม ที่เน้นความโปร่งใสและมีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชน รวมถึงให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียได้ร่วมพิจารณาและออกแบบทางเลือกในการจัดการทรัยพากรลุ่มน้ำอย่างเป็นระบบ , เสริมสร้างความรับผิดชอบและความโปร่งใสตรวจสอบได้ รวมถึงการให้ความรู้และการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมด้วยหลักวิชาการ การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ ( Strategic Environment Assessment : SEA) และการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ( Environmental Impacted Assessment : EIA ) และการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ( Health Impact Assessment : HIA) ในระดับโครงการย่อย และสร้างกลไกการจัดการน้ำแบบบูรณาการโดยการมีส่วนร่วมของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียและการมอบอำนาจสู่ระดับพื้นที่ลุ่มน้ำขนาดเล็ก ให้ทำการรณรงค์ขับเคลื่อนให้เกิดการกระจายอำนาจสู่ผู้ใช้น้ำในระดับพื้นที่ผ่านคณะกรรมการลุ่มน้ำ จัดทำประเด็นและสังเคราะห์วาระสำคัญเพื่อบรรจุไว้ในกระบวนการร่าง พ.ร.บ.น้ำภาคประชาชน

นอกจากนี้ยังนำไปสู่การจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูฐานทรัพยากรธรรมชาติลำน้ำมางที่นำไปสู่การพึ่งพาตนเองของชุมชน บรรจุเป็นแผนงานของทุกหมู่บ้านในพื้นที่ สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้นทั้งในระดับชุมชน ตำบล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และใช้กระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่นเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาชุมชนและต่อยอดงานวิจัยในด้านอื่นๆ เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และเชื่อมการทำงานร่วมกับหมู่บ้านอื่นๆในพื้นที่ต่อไป

นายอภิสิทธิ์ ลัมยศ ผู้ประสานงาน ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย จ.น่าน กล่าวว่า ผลจากการทำวิจัยนี้ ยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของคนในชุมชน จากเดิมที่มักใช้อารมณ์ในการตัดสินใจมาเป็นการใช้ข้อมูลเอาความรู้บนพื้นฐานข้อมูลที่ได้จากการทำวิจัยมาพูดคุยมาช่วยในตัดสินใจ ไม่ใช่อารมณ์หรือความรู้สึกร่วมเหมือนในอดีต ที่เมื่อก่อนคนในชุมชนเคยมีฐานคิดว่าเรื่องของหน่วยงานอย่างไปยุ่ง หรือธุระไม่ใช่ เราแค่คนตัวเล็กๆ จะไปทำอะไรได้ แต่หลังจากที่ทุกคนได้ทำงานวิจัย ได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นและรับฟังเสียงจากคนตัวเล็กๆ มากขึ้น จากเดิมที่ส่วนใหญ่จะรับฟังแต่เสียงผู้นำชุมชนอย่างเดียว แต่งานวิจัยบอกว่า ทุกคนมีสิทธิมีเสียงเท่ากัน ทุกความคิดเห็นมีคุณค่า เมื่อนำมาหลอมรวมผ่านการตรึกตรองทำให้เกิดเป็นความคิดร่วม จากความคิดของคนเล็กๆหลายๆคน รวมกันเป็นความคิดที่ใหญ่ขึ้นเกิดเป็นพลังทำให้เกิดโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงในหลายๆด้าน

" เป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่า หลังการทำวิจัย คนในชุมชนเกิดการตื่นตัวและเกิดความตระหนักถึงการมีส่วนร่วมของชุมชนมากขึ้น จากเดิมที่คิดว่า ไม่ใช่เรื่องของตนเอง ไม่สนใจ แต่ตอนนี้ไม่ได้ กลายเป็นเรื่องของส่วนร่วมไปแล้ว"

อย่างไรก็ตาม นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ปัจจัยสำคัญที่เอื้อต่อความสำเร็จ นั่นคือ 'ความเข้มแข็งของชุมชนและคณะนักวิจัย' ซึ่งเป็นตัวแทนจาก 15 หมู่บ้าน มีทั้ง ผู้นำหมู่บ้าน คณะกรรมการ สมาชิก อบต. กลุ่มแม่บ้าน และผู้สูงอายุ รวมทั้งปราชญ์ชาวบ้านในพื้นที่ลุ่มน้ำมางที่มีความเข้าใจในสถานการณ์ปัญหาเรื่องการอนุรักษ์และฟื้นฟูลำน้ำมางของชุมชนในแต่ละด้าน ทำให้การประสานงานค่อนข้างรวดเร็วและต่างยินดีเสียสละเวลาเข้ามาเป็นร่วมทำวิจัยในครั้งนี้และเป็นประเด็นที่ทุกคนในชุมชนมีส่วนได้ส่วนเสีย ขณะที่นายทวน กล่าวยอมรับถึงการทำวิจัยว่า "แรกๆ คนส่วนใหญ่ที่ได้รับการชักชวนมาทำวิจัยต่างก็ปฏิเสธ เพราะไม่รู้เรื่องงานวิจัย ทุกคนพูดเหมือนกันว่า เราไม่ใช่ด็อกเตอร์ ไม่ใช่นักวิชาการ เราเรียนหนังสือไม่สูง ไม่มีความรู้ จะมาทำวิจัยไม่ได้หรอก แต่พอทำไปๆ จึงรู้ว่า จริงๆ แล้วคนทำงานวิจัย ไม่จำเป็นต้องจบสูง ไม่ต้องมีความรู้ระดับสูงๆ ทุกระดับการศึกษาสามารถทำงานวิจัยได้ การทำวิจัยไม่จำเป็นต้องเขียนรายงานอย่างเดียว แค่ออกไอเดีย หรือ รู้ถึงปัญหา หรือวิธีแก้ หรือแม้แต่การเล่าเรื่องเก่าๆ เหล่านี้ ก็คือ การให้ข้อมูลงานวิจัยเช่นกัน

งานวิจัยทุกคนทำได้ โดยเฉพาะชาวบ้าน หรือ ปราชญ์ชุมชน ที่มีความรู้มีประสบการณ์เรื่องของธรรมชาติ เรื่องของสมุนไพร หรือความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ยิ่งสามารถให้ข้อมูลงานวิจัยที่จะไปตอบโจทย์และส่งต่อข้อมูลไปสู่คนอีกกลุ่มที่ต้องการจะเรียนรู้ยิ่งเป็นสิ่งที่ดี ดังนั้น งานวิจัยจริงๆ ก็คือ การตอบปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน"

สำหรับสถานการณ์ ล่าสุด ขณะนี้ลำน้ำมางอยู่ในช่วงการฟื้นฟูตามแผนที่วางไว้ อยู่ระหว่างรอให้ต้นไม้เติบโต รอให้ลำธารฟื้นตัวเอง โดยไม่มีการขุดลอกเพิ่มอีก และลดการรบกวนธรรมชาติให้น้อยที่สุด นอกจากนี้ยังมีแนวคิดที่จะผลักดันประเด็นการอนุรักษ์และฟื้นฟูลำน้ำมาง ความมั่นคงทางอาหารและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ให้เป็นวาระของตำบลและบรรจุลงในแผนงานของเทศบาลตำบลบ่อเกลือใต้ เพื่อที่ให้การพัฒนาพื้นที่มีความสอดคล้องกับความต้องการของชุมชนและเป็นการพัฒนาพื้นที่ที่มาจากกระบวนการมีส่วนร่วมระหว่างชุมชนและหน่วยงาน ตลอดจนยกระดับนักวิจัยชุมชนเป็นเครือข่ายการวิจัยระดับอำเภอ เพื่อนำไปสู่การเกิดประชาคม สร้างเป็นเครือข่าย เพื่อเป็นกลุ่มก้อนในการเดินงานพัฒนาในพื้นที่โดยไม่ต้องรอ สกว.ให้เป็นเจ้าภาพเพียงอย่างเดียว เช่น การจัดตั้งสมาคมคนต้นน้ำอำเภอบ่อเกลือ เป็นต้น

ชุมชนลุ่มน้ำมาง อ.บ่อเกลือ จ.น่าน ใช้ข้อมูลงานวิจัย แก้ปัญหาลำน้ำ หลังระบบนิเวศถูกทำลายเสียหาย จากโครงการขุดลอกลำน้ำมางของภาครัฐ ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต สิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยว ชุมชนลุ่มน้ำมาง อ.บ่อเกลือ จ.น่าน ใช้ข้อมูลงานวิจัย แก้ปัญหาลำน้ำ หลังระบบนิเวศถูกทำลายเสียหาย จากโครงการขุดลอกลำน้ำมางของภาครัฐ ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต สิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยว ชุมชนลุ่มน้ำมาง อ.บ่อเกลือ จ.น่าน ใช้ข้อมูลงานวิจัย แก้ปัญหาลำน้ำ หลังระบบนิเวศถูกทำลายเสียหาย จากโครงการขุดลอกลำน้ำมางของภาครัฐ ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต สิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยว