นายจีรพันธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันกระบวนการจ่ายค่าสินไหมทดแทนภายใต้โครงการประกันภัยข้าวนาปีซึ่งมีบริษัทประกันวินาศภัยร่วมรับประกันภัยทั้งสิ้น 22 บริษัท และสมาคมเป็นผู้บริหารจัดการโครงการประกันภัยข้าวนาปีนี้
เพื่อให้การดำเนินการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้เกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว เป็นระบบการเชื่อมข้อมูล การขึ้นทะเบียนเกษตรกร ข้อมูลการทำประกันภัย จากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้ง 2 แห่ง ซึ่งสามารถตรวจสอบพื้นที่รายแปลงและรายบุคคลในพื้นที่ที่รัฐประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ ซึ่งมีข้อมูลที่ถูกต้องสมบูรณ์ เป็นการทำงานแบบบูรณาการระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership) ทำให้การจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับเกษตรกรเป็นไปอย่างรวดเร็ว และถูกต้อง ซึ่งเป็นโมเดลต้นแบบที่ดีมาก ๆ สำหรับการประกันภัยพืชอื่น ๆ ต่อไป
นอกจากนี้เกษตรกรผู้เอาประกันภัย ตลอดจนเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องของภาครัฐ ยังสามารถเข้าถึงข้อมูลเพื่อตรวจสอบสถานะการทำประกันภัยและการจ่ายค่าสินไหมทดแทนผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือระบบ Online จาก Website: rice.tgia.org โดยใช้รหัสบัตรประชาชนของชาวนา และหมายเลขใบรับรองการประกันภัย เข้าตรวจสอบได้ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้สมาคมฯ ยังมีสายด่วนโครงการประกันภัยข้าวนาปี โทร. 06 1404 4422
สำหรับผลการดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2560 ที่ผ่านมาปรากฏว่า มีพื้นที่รับประกันภัย จำนวน 22,395,471.51 ล้านไร่ มีเบี้ยประกันภัยรับสุทธิ จำนวน 2,015,592,427.60 บาท พื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย รวม 1,645,118.52 ไร่ และสมาคมฯ ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับเกษตรกร จำนวน 2,072,849,336.69 บาท คิดเป็นอัตราความเสียหาย 103.29% โดยเป็นการโอนเงินเข้าระบบบัญชีของชาวนา ผ่าน ธ.ก.ส. อย่างราบรื่นมากว่า 3 ปีแล้ว