นายพิเชฎฐ์ พร้อมมูล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง การยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถาบันวิจัยยางมีบทบาทหน้าที่ในการบริหาร การค้นคว้า วิจัยและพัฒนากิจการยางในทุกสาขาอย่างครบวงจร รวมถึงการจัดสรรเงินกองทุนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมและสนับสนุนด้านการค้นคว้าทดลองเกี่ยวกับยางพาราตามมาตรา 49 (4) ด้านการผลิต เศรษฐกิจ อุตสาหกรรม กยท. จึงได้จัดโครงการค่ายฝึกอบรมสนับสนุนนักวิจัยรุ่นใหม่ด้านยางพาราระดับอุดมศึกษา หัวข้อ การประกวดโครงการร่างงานวิจัยนวัตกรรมเครื่องมือเก็บเกี่ยวผลผลิตน้ำยาง ขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาระดับปริญญาตรี ในชั้นปีที่ 3 ขึ้นไป ได้เข้าฝึกอบรมเฉพาะด้านเพื่อเป็นข้อมูลในการจัดทำโครงการร่างานวิจัยเพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาและสร้างนวัตกรรมด้านยางพาราโดยนักศึกษา ซึ่งการจัดอบรมครั้งนี้ มีนักศึกษาสนใจเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 50 คน จาก 6 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทยด้านอุตสาหกรรมยางและการผลิตยาง ในฐานะประธานเปิดงานในครั้งนี้กล่าวว่า การสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพ ความรู้ความสามารถด้านวิชาการและความคิดสร้างสรรค์ด้านการวิจัยของนิสิต นักศึกษา รวมทั้งส่งเสริมให้เห็นความสำคัญของงานวิจัยและพัฒนา ที่สามารถนำมาต่อยอดสร้างนวัตกรรมที่โดดเด่นและช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับยางพาราและผลิตภัณฑ์ต่างๆได้ ตลอดจนได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ทางการวิจัยรวมถึงได้เข้าใจข้อเท็จจริงในทางปฏิบัติอันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการสร้างเครือข่ายที่ประสานและเชื่อมโยงกับยางพาราไทยเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดผลอย่างต่อเนื่อง สนองนโยบายประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาลในการขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรม ซึ่งน้องๆ ที่ผ่านการฝึกอบรมในครั้งนี้ ในอนาคตก็จะสามารถสร้างสรรค์งานวิจัยต่างๆ ที่จะสามารถแก้ปัญหาแรงงานการกรีดยางและการเพิ่มมูลค่ายางพาราด้วยนวัตกรรมและสร้างโอกาสต่อยอดในเชิงพาณิชย์ในอนาคต นายณกรณ์ กล่าวทิ้งท้าย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit