ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึง "การประเมินความสามารถในการเข้าถึงนโยบายภาครัฐของ SMEs ไทย" จากการสำรวจ SMEs จำนวน 1,200 ตัวอย่างทั่วประเทศ พบว่า สัดส่วนกลุ่ม SMEs ที่รู้ถึงมาตรการและความช่วยเหลือจากรัฐบาล 60.31% ส่วนกลุ่มไม่รู้ 39.69% โดยในจำนวนกลุ่มที่รับรู้นั้น 30.54%ระบุว่า รับรู้ในระดับสูงมาก โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มจดทะเบียน 80.3% และเป็นธุรกิจขนาดกลางถึง 90.9% ช่องทางที่ทำให้รับรู้ส่วนใหญ่ 35.15% จากการบอกต่อของคนสนิท และ 33.68% จากเจ้าหน้าที่รัฐลงไปแนะนำ ส่วนสิ่งที่รับรู้มากที่สุด คือ มาตรการสนับสนุนสินเชื่อจากสถาบันการเงินของรัฐ 76.7% มาตรการด้านภาษี 71.2% และการเสริมทักษะความรู้ 53.6% ด้านกลุ่มที่ระบุว่าไม่รู้ บอกเหตุผลว่า ไม่มีเวลาติดตามข้อมูลข่าวสาร 34.35% ไม่ได้อยู่ในกลุ่มหรือเครือข่าย เช่น สมาคม หรือสมาพันธ์ต่างๆ18.88% และช่องทางสื่อสารกระจุกตัวเฉพาะในสื่อของภาครัฐ 17.25% เป็นต้น
ด้านทัศนะต่อความสามารถในการเข้าถึงนโยบายและมาตรการของรัฐและธุรกิจ พบว่า 55.61% เข้าถึงได้ระดับปานกลาง ส่วนที่ไม่สามารถเข้าถึงได้เลย มีเพียง 4.17% โดยส่วนใหญ่กลุ่มธุรกิจที่จดทะเบียน และเป็นธุรกิจขนาดกลางจะสามารถเข้าถึงมาตรการและความช่วยเหลือของภาครัฐได้ดี สวนทางกับกลุ่มไม่จดทะเบียนและขนาดเล็กระบุว่า เข้าถึงความมาตรการและความช่วยเหลือของภาครัฐได้น้อยหรือไม่เคยเข้าถึงเลย
สอดคล้องกับการสำรวจในหัวข้อ "การใช้หรือการเข้าร่วมนโยบายหรือมาตรการที่รัฐออกมาช่วยเหลือ SMEs" สิ่งน่าสนใจ คือSMEs กลุ่มที่ไม่จดทะเบียน ตอบว่าเคยใช้บริการหรือเข้าร่วมโครงการเพียง 9.3% เท่านั้น ขณะที่ SMEs ที่จดทะเบียนเข้าไปใช้บริการ 49.6% แสดงให้เห็นว่า SMEs ที่จดทะเบียนมีโอกาสเข้าถึงความช่วยเหลือภาครัฐมากกว่า SMEs ที่ไม่จดทะเบียน และหากประเมินจากขนาดธุรกิจแล้ว SMEs ขนาดกลาง 81.8% ตอบว่าเคยเข้าร่วมโครงการ แต่ SMEs ขนาดเล็กเข้าร่วมโครงการเพียง 17.1% เท่านั้น
เมื่อสอบถามสาเหตุที่ไม่เคยใช้หรือไม่เคยเข้าร่วมโครงการที่รัฐบาลออกมาช่วยเหลือ กลุ่มตัวอย่างตอบเหตุผล เช่น มาตรการ/นโยบายยังไม่ตรงความต้องการ ช่องทางการรับรู้ข่าวสารไม่เพียงพอ ไม่มีเบี้ยเลี้ยงหรือค่าเดินทาง ไม่มีเอกสารยืนยันตัวตนทำให้ไม่ได้รับสิทธิ์ตามเงื่อนไข เป็นต้น
ทั้งนี้ กลุ่ม SMEs ที่ไม่เคยร่วมโครงการส่งเสริมใดๆ ของภาครัฐ ระบุมาตรการหรือนโยบายที่ต้องการเข้าร่วมหรือใช้บริการ ได้แก่ 1.ด้านการเงิน เช่น การแนะนำสินเชื่อ ขั้นตอนการยื่นขอสินเชื่อ 2.ด้านภาษี เช่น การลดจ่ายภาษีเงินได้ การเปิดเผยข้อมูลทางด้านภาษี 3.ด้านเสริมทักษะความรู้ เช่น อบรมทักษะการเพิ่มรายได้ พัฒนาธุรกิจ 4.ด้านการตลาด เช่น การจัดหาแหล่งขายสินค้า และ 5.ด้านเทคโนโลยี เช่น ตลาดอิเล็กทรอนิกส์สำหรับช่องทางค้าออนไลน์ เป็นต้น
ส่วนสิ่งที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ คือ 1.พัฒนาและฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศให้ดีขึ้น 2.ลดหย่อนภาษีและยกเลิกภาษีที่ซ้ำซ้อน 3.แก้ปัญหาหนี้สินประชาชน และ 4.ปล่อยสินเชื่อเงินกู้ระยะยาวที่มีดอกเบี้ยคงที่
นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank หรือ ธพว.) กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้สะท้อนว่า SMEs ที่ยังไม่รับรู้ และเข้าไม่ถึงมาตรการช่วยเหลือและการสนับสนุนของภาครัฐ ส่วนใหญ่จะเป็นรายเล็ก และไม่จดทะเบียน ทำให้ตกสำรวจ มาตรการช่วยเหลือต่างๆ จึงเข้าไม่ถึง ดังนั้น ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ทำงานเชิงรุก เป็นฝ่ายเดินเข้าไปสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อยเอง เช่น 9 มาตรการขับเคลื่อนเอสเอ็มอีของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งครอบคลุมช่วยเหลือเอสเอ็มอีทุกกลุ่ม รวมถึง กระทรวงการคลัง จัดมาตรการส่งเสริมพัฒนาความรู้ด้านการบริหารจัดการการเงิน (Financial Literacy) ให้ความรู้ด้านการเงินภาษีบัญชีแก่ผู้ประกอบการทั่วประเทศ นอกจากนั้น นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดแฟนเพจเฟซบุ๊กส่วนตัว ใช้เป็นช่องทางขยายการสื่อสารข้อมูลความช่วยเหลือจากภาครัฐไปสู่ผู้ประกอบการ รวมถึง ลงพื้นที่เองต่อเนื่อง เพื่อรับฟังข้อมูลและความต้องการจริงจากผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อช่วยเหลือได้โดยตรง
ขณะที่ SME Development Bank ยกระดับการทำงาน โดยมีหน่วยบริการเคลื่อนที่ "รถม้าเติมทุน ส่งเสริม SMEs ไทย ฉับไว ไปถึงถิ่น" ให้บริการคนตัวเล็กถึงถิ่น อีกทั้ง มีบริการแพลตฟอร์ม "SME D Bank" สามารถยื่นกู้ออนไลน์ได้ทันที ทุกที่ ทุกเวลา พร้อมมีข่าวสาร และความรู้บริการเสริมแกร่งให้เอสเอ็มอีด้วย
"ธนาคารมุ่งทำงานเชิงรุกสนับสนุน SMEs ครอบคลุมทุกกลุ่มอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะ SMEs รายย่อยในชุมชนหรือที่เรียกว่าคนตัวเล็ก หน่วยรถม้าเติมทุนฯ และแพลตฟอร์ม SME D Bank จะช่วยเติมเต็มพาเข้าถึงแหล่งเงินทุนควบคู่พัฒนาศักยภาพ ผลักดันให้คนตัวเล็กเข้าสู่ระบบ จดทะเบียนนิติบุคคล ช่วยให้เข้าถึงมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ ซึ่งจะเป็นไม้ค้ำยัน ให้ธุรกิจเติบโต อยู่รอด และยั่งยืน" นายมงคล ระบุ
ทั้งนี้ จากที่ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมกับ SME Development Bank สำรวจสถานการณ์เอสเอ็มอีไทย พบว่า ยังมีผู้ประกอบการรายย่อย หรือ "จุลเอสเอ็มอี" ที่ไม่จดทะเบียน หรือตกสำรวจ อีกกว่า 2.7 ล้านราย ขณะที่กลุ่ม SMEs จดทะเบียนอยู่ในระบบ ธุรกิจเกิดประโยชน์ ปรับตัวดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะยอดขายปรับตัวเพิ่มขึ้น 40.7% กำไรดีขึ้น 32.7% ราคาสินค้าปรับตัวดีขึ้น 24.2% และสภาพคล่องของธุรกิจปรับตัวดีขึ้น 27.4%
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit