สถาบันวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอยูโพล) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่องดัชนีความเครียดของคนไทยกรณีศึกษา : ตัวอย่างประชาชนทั่วไป ในเขตกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,007 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 1–20 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา พบว่า
ตัวอย่างเกินครึ่งหรือร้อยละ 56.45 เป็นหญิง และร้อยละ 43.55 เป็นชาย เมื่อจำแนกออกเป็นเจเนอเรชั่น พบว่า ร้อยละ 6.98 เป็นเจเนอเรชั่น Z (ตัวอย่างที่มีอายุ 15-18 ปี) ร้อยละ 12.11 เป็นเจเนอเรชั่น M (ตัวอย่างที่มีอายุ 19-24 ปี) ร้อยละ 21.28 เป็นเจเนอเรชั่น Y (ตัวอย่างที่มีอายุ 25-35 ปี) ร้อยละ 30.33 เป็นเจเนอเรชั่น X (ตัวอย่างที่มีอายุ 36-50 ปี) และร้อยละ 29.30 เป็นเจเนอเรชั่น B (ตัวอย่างที่มีอายุ 51-69 ปี) ด้านสถานภาพสมรส พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 54.52 สมรสแล้ว ร้อยละ 38.21 เป็นโสด และร้อยละ 7.27 เป็นหม้าย/หย่า/แยกกันอยู่ ส่วนการศึกษาที่สำเร็จมาชั้นสูงสุด พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.13 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 32.98 ระดับปริญญาตรี และร้อยละ 5.89 ระดับสูงกว่าปริญญาตรี ส่วนรายได้ส่วนตัวเฉลี่ยต่อเดือน พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 25.83 มีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาท ร้อยละ 45.84 มีรายได้ 10,001-20,000 บาท ในขณะที่ร้อยละ 17.60 มีรายได้ 20,001-30,000 บาท และร้อยละ 10.73 มีรายได้สูงกว่า 30,000 บาท สำหรับอาชีพ พบว่า ร้อยละ 16.69 อาชีพค้าขาย ร้อยละ 15.89 อาชีพพนักงาน/บริษัทเอกชน ร้อยละ 14.70 เป็นนักเรียนนักศึกษาร้อยละ 12.85 รับราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 14.01 อาชีพรับจ้างทั่วไป ร้อยละ 10.36 ประกอบธุรกิจส่วนตัว และร้อยละ 15.50 ประกอบอาชีพอื่นๆ เช่น พ่อบ้านแม่บ้าน เกษตรกร เกษียณอายุ ว่างงาน พนักงานมหาวิทยาลัย เป็นต้น
คนไทยความเครียดพุ่ง ... ทุกเพศทุกวัยเครียดเรื่องเศรษฐกิจมากที่สุด ...
ผลสำรวจในเดือนสิงหาคม 2561 นี้ ในภาพรวมพบว่า คนไทยมีความเครียดคล้ายคลึงกับการสำรวจในครั้งที่ผ่านมาเมื่อเดือนพฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา โดยคนไทยส่วนใหญ่มีความเครียดในเรื่องเศรษฐกิจ/การเงินมากกว่าเรื่องอื่นๆ (ร้อยละ 77.08) รองลงมา คือ เรื่องสิ่งแวดล้อม (ร้อยละ 66.52) และเรื่องครอบครัว (ร้อยละ 55.06) เป็นต้น แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ระดับความเครียดของคนไทยในการสำรวจครั้งนี้พุ่งสูงกว่า 2 ไตรมาสที่ผ่านมา
ประเด็นที่น่าเป็นห่วง คือ เมื่อพิจารณาความเครียดของคนในแต่ละวัยก็พบว่า คนไทยตั้งแต่วัยเรียน วัยทำงาน จนถึงวัยชรา (อายุ 18 ปีขึ้นไป) ต่างก็มีความเครียดในเรื่องเศรษฐกิจ/การเงินมาเป็นอันดับ 1 เหมือนๆ กัน แม้ว่ารายงานภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ผ่านมาจะมีการขยายตัว และปรับตัวลดลงมาเพียงเล็กน้อย แต่ความเครียดของคนไทยในเรื่องนี้ก็ยังมีสูงอยู่ จึงเป็นภาพความขัดแย้งระหว่างตัวเลขจากรายงานภาวะเศรษฐกิจของหน่วยงานต่างๆ ที่ออกมาดี กับอารมณ์ความรู้สึกของคนไทยที่กังวลต่อภาวะเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากปัจจัยที่ทำให้คนไทยเกิดความเครียด ไม่ว่าจะเป็นราคาสินค้าและบริการที่แพงขึ้น (ร้อยละ 67.43) ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน (ร้อยละ 50.95) ปัญหาหนี้สินและรายรับไม่พอกับรายจ่าย (ร้อยละ 48.46) ได้ส่งผลให้ค่าครองชีพของคนไทยเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว จึงไม่แปลกที่คนไทยส่วนใหญ่จะรู้สึกกังวลและอดที่จะเครียดไม่ได้ว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยต่อไปในอนาคตจะเป็นไปในทิศทางใด และคุณภาพชีวิตของตนจะดีขึ้นสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่จะเติบโตขึ้นตามที่หน่วยงานต่างๆ คาดการณ์ไว้จริงหรือไม่
ความเครียดเรื่องสิ่งแวดล้อมและปัญหาครอบครัว เป็นผลกระทบที่ตามมา ...
นอกจากเรื่องเศรษฐกิจ/การเงินแล้ว รองลงมา คนไทยยังเครียดในเรื่องสิ่งแวดล้อมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการจราจร (ร้อยละ 63.93) ปัญหาที่เกิดจากสภาพแวดล้อม เช่น ขยะ เสียงดัง น้ำเสีย (ร้อยละ 26.28) รวมทั้งปัญหาความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน (ร้อยละ 22.21) ที่ส่งผลทำให้เกิดความเครียดมากยิ่งขึ้น
ส่วนความเครียดในเรื่องครอบครัวที่อาจเป็นผลมาจากความเครียดในเรื่องอื่นๆ ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่คนไทยส่วนใหญ่กำลังประสบอยู่ ซึ่งเกิดจากความไม่เข้าใจกันระหว่างคนในครอบครัว (ร้อยละ 38.69) ภาระความรับผิดชอบต่อครอบครัว (ร้อยละ 28.77) และไม่มีเวลาให้ครอบครัว (ร้อยละ 27.67) เป็นต้น
ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน คือ หลักการใช้ชีวิตของคนไทยในปัจจุบัน ...
จากผลการสำรวจพบว่า เพื่อจะเผชิญหน้ากับสภาพเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้ คนไทยส่วนใหญ่เลือกที่จะพึ่งตนเองมากกว่าโดยใช้จ่ายอย่างประหยัด ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง (ร้อยละ 58.97) หาอาชีพเสริมและพยายามทำงานให้มากขึ้น (ร้อยละ 11.06) และปล่อยวางทำใจยอมรับความเป็นจริงและมีสติ (ร้อยละ 6.28) เป็นต้น
นอกจากนี้ จากผลการสำรวจจะเห็นว่า ปัญหาหลักๆ ที่ทำให้คนไทยส่วนใหญ่เกิดความเครียด คือ ปัญหาสินค้าราคาแพง ปัญหาหนี้สิน/รายรับไม่พอกับรายจ่าย ปัญหาความไม่ซื่อสัตย์สุจริตของนักการเมือง และปัญหาการจราจร ซึ่งเป็นปัญหาที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรนำไปพิจารณาเพื่อปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้คนไทยเกิดความเครียดต่อปัญหาต่างๆ เหล่านี้น้อยลง ทั้งนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ส่งผลทำให้คนไทยส่วนใหญ่เกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย (ร้อยละ 78.18) ไม่มีความสุขเลย (ร้อยละ 66.92) และรู้สึกหมดกำลังใจ (ร้อยละ 50.37) ซึ่งจะส่งผลทำให้ความเครียดของคนไทยเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งอาจสั่นคลอนความเชื่อมั่นของคนไทยที่มีต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลแก้ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ได้ในที่สุด
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit