การดำเนินโครงการ ASEAN Digital Hub จะมีการเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายใยแก้วนำแสงบนบก และโครงข่ายใยแก้วนำแสงใต้น้ำ ของสถานีเคเบิลใต้น้ำ ชลี 5 จ.ชุมพร ให้เพิ่มมากขึ้นจาก 200 Gbps เป็นกว่า 800 Gbps โดยความจุของโครงข่ายใยแก้วนำแสงทั้งบนบกและใต้น้ำที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว จะเป็นการยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน ของประเทศไทยให้มีโครงข่ายเชื่อมต่อระหว่างประเทศ ที่มีความจุเพียงพอรองรับความต้องการของประเทศไทยและของประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งทำให้การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตต่างประเทศของไทย สามารถแข่งขันได้กับประเทศ เพื่อนบ้าน และทำให้ค่าบริการอินเทอร์เน็ตสำหรับประชาชนถูกลง อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการเข้ามาลงทุนของ ผู้ประกอบกิจการให้บริการด้านเนื้อหา (Content Provider) ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลอินเทอร์เน็ต หรือศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Digital Hub) ต่อไป
จากนั้น รมว.กระทรวงดิจิทัลฯ พร้อมคณะ ได้เดินทางไปที่หมู่บ้านเขาชันโต๊ะ หมู่ 8 ตำบลวิสัยเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร เพื่อติดตามการใช้ประโยชน์จากโครงข่าย "เน็ตประชารัฐ" ที่ติดตั้งแล้วเสร็จไปเมื่อเดือนธันวาคม 2560 โดยกระทรวงดิจิทัลฯ ได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย และสำนักนายกรัฐมนตรี บูรณาการการทำงานในการสร้างการรับรู้เน็ตประชารัฐแก่ประชาชนให้มีความรู้ความเข้าใจขั้นพื้นฐาน เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่เหมาะสมกับบริบทของชุมชน โดยกระทรวงฯ ได้จัดทำคู่มือพัฒนาความสำเร็จกับเน็ตประชารัฐสำหรับใช้ ในการฝึกอบรมครูของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ให้เป็นวิทยากร แกนนำ รวมกว่า 1,000 คน ในการสร้างการรับรู้การใช้ประโยชน์จากเน็ตประชารัฐให้แก่กลุ่มผู้นำชุมชนในพื้นที่ โดยมี ผู้เข้ารับการอบรมฯ แล้วจำนวน 100,446 คน และจะมีการขยายผลอย่างต่อเนื่องด้วยการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเพิ่มเติมในเชิงลึก (Workshop) ให้แก่ผู้ที่สนใจ ตลอดจนผู้ประกอบการ และกลุ่มอาชีพในหมู่บ้านเน็ตประชารัฐที่มีความพร้อมในทุกจังหวัด รวมทั้งมีแผนจะจัดอบรมการใช้ประโยชน์จากเน็ตประชารัฐขยายผลอีกไม่น้อยกว่า 1 ล้านคน และอีกกิจกรรมคือ สำนักงานสถิติแห่งชาติอยู่ระหว่างดำเนินการประเมินผลสัมฤทธิ์โครงการเน็ตประชารัฐ ด้วยการสำรวจความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่ที่มีการติดตั้งโครงข่ายเน็ตประชารัฐ เพื่อนำผลการประเมินที่ได้เป็นแนวทางการดำเนินโครงการดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป
นอกจากนี้ รมว.กระทรวงดิจิทัลฯ มอบหมายหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ร่วมมือกับหน่วยงานในท้องถิ่นหรือภาคเอกชนเป็นผู้ร่วมดำเนินการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ในการส่งเสริมการประกอบอาชีพในพื้นที่ และมุ่งเน้นการเปิดโอกาสการเข้าถึงของผู้สูงอายุ รวมถึงด้านการค้าขายออนไลน์ โดยให้รู้เท่าทันภาวะตลาด การขนส่งสินค้า รวมถึงการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ เชิงอนุรักษ์ของพื้นที่ชุมชนให้เป็นที่รู้จักทั่วถึง พร้อมติดตามประเมินผล ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมให้สามารถนำความรู้ไปใช้ประโยชน์และถ่ายทอดความรู้แก่คนในชุมชน ตลอดจนถ่ายทอดความรู้ ให้กลุ่มเป้าหมายอื่นที่มีความสนใจอย่างเป็นรูปธรรม
หลังจากนั้นคณะฯ ได้เดินทางไปที่ร้านวิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟถ้ำสิงห์ ตำบลบ้านนา อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร เพื่อตรวจเยี่ยมโครงการระบบงานร้านค้าดิจิทัลชุมชน (Point of Sale : PoS) โดยมอบหมายให้บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงฯ ดำเนินการเพื่อใช้ประโยชน์จากโครงข่ายเน็ตประชารัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำไปใช้ประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ เพื่อสร้างรายได้ให้กับประชาชนในชุมชนผ่านการขายสินค้าและบริการท้องถิ่นในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งโครงการ PoS ดำเนินการโดยอาศัยศักยภาพของ บจ.ไปรษณีย์ไทย ที่มีเครือข่ายสาขา ที่ทำการไปรษณีย์กระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 5,000 แห่ง มีเครือข่ายคนไปรษณีย์ทั่วประเทศกว่า 25,000 คน มีเครือข่ายเส้นทางการขนส่งไปรษณีย์ มากกว่า 400 เส้นทาง เพื่อส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งระบบร้านค้าออนไลน์ หรือที่ทำการไปรษณีย์ และผ่านแคตตาล็อก (ออฟไลน์) การพัฒนารูปแบบบรรจุหีบห่อ การกระจายสินค้า การจัดส่งสินค้าไปยังผู้ซื้อทั่วประเทศผ่านระบบงานอิเล็กทรอนิกส์ (e-Logistics) การพัฒนาระบบการรับชำระเงิน (e-Payment) ที่รองรับการชำระเงินค่าสินค้าด้วยเงินสด หรือบัตรประเภทต่างๆ ด้วยรูปแบบการชำระเงินแบบออนไลน์และการเก็บเงิน ณ ที่อยู่ผู้รับสินค้าที่ปลายทาง (CoD : Cash on Delivery) รวมทั้งอาศัยกลไกของศูนย์ดิจิทัลชุมชนที่มีอยู่กว่า 2,000 แห่ง เพื่อให้ประชาชนในระดับฐานรากได้มีโอกาสเรียนรู้และเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเท่าเทียม
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit