วันนี้ (22 สิงหาคม พ.ศ.2561) สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราช-ดำเนินไปทรงเปิดอาคารสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล อาคารสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ และอาคารเรียนรวมของสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) วังจันทร์วัลเลย์ ต.ป่ายุบใน
อ.วังจันทร์ จ.ระยอง พร้อมกันนี้ยังได้พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท จากสถาบันฯ รุ่นแรก พระราชทานประกาศนียบัตรแก่ผู้แทนนักเรียนโรงเรียนกำเนิดวิทย์ที่สำเร็จการศึกษารุ่นที่ 1 และพระราชทานทุน "ศรีเมธี" ให้กับนิสิตสถาบันฯ ที่มีผลการเรียนดีเยี่ยม โดยมี นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมนายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะนายกสภาสถาบันฯ พร้อมด้วย คณะผู้บริหารจาก กลุ่ม ปตท. สถาบันวิทยสิริเมธี โรงเรียนกำเนิดวิทย์ ธนาคาร กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทบางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เฝ้าฯ รับเสด็จ
นายเทวินทร์ เปิดเผยว่า กลุ่ม ปตท. ริเริ่มจัดตั้งสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ในระดับบัณฑิตศึกษา (ปริญญาโทและปริญญาเอก) โดยเมื่อปี พ.ศ.2558 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคาร 2 สำนักวิชา ได้แก่ สำนักวิชาวิทยาการโมเลกุล (School of Molecular Science and Engineering: MSE) สำนักวิชาวิทยาการพลังงาน (School of Energy Science and Engineering: ESE) และในครั้งนี้ กลุ่ม ปตท. ได้รับพระมหากรุณาธิคุณเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารอีก 2 สำนักวิชา ได้แก่สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล (School of Biomolecular Science and Engineering: BSE) และสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ (School of Information Science and Technology: IST) ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณการก่อสร้าง เครื่องมือ อุปกรณ์ชั้นนำ ตลอดจนทุนการศึกษาต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปี จากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) โดยลำดับ
ปัจจุบันสถาบันฯ มีศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นแนวหน้า (Frontier Research Center: FRC) ในการสนับสนุนการดำเนินงานวิจัยต่างๆ ของสถาบันฯ ซึ่งทั้ง 4 สำนักวิชาดังกล่าวได้ครอบคลุมโออีซีดี เมกาเทรนด์ (Megatrends) แนวโน้มโลกที่คาดการณ์โดยองค์กรเพื่อการพัฒนาและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อันเป็นวิทยาการและเทคโนโลยีที่สำคัญของโลกในปัจจุบันและในอนาคตอย่างครบถ้วน และอยู่ภายใต้การดูแลของมูลนิธิพลังสร้างสรรค์นวัตกรรม โดยได้รับการสนับสนุนหลักจาก กลุ่ม ปตท. สถาบันการเงินชั้นนำและบริษัทน้ำมันขนาดใหญ่ อีกทั้งจากบริษัทเอกชนชั้นนำอื่นๆ เช่น บริษัท จีพีพี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นต้น ทั้งนี้ สถาบันฯ มุ่งพัฒนาและผลิตนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อสร้างสรรค์งานวิจัยชั้นสูงที่สามารถก่อให้เกิดนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ สร้างความแข็งแกร่งอย่างยั่นยืนให้กับประเทศต่อไป
ในวันเดียวกันนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ยังได้พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท ในปี 2560 จำนวน 9 ราย และพระราชทานประกาศนียบัตรแก่ผู้แทนนักเรียนโรงเรียนกำเนิดวิทย์ที่สำเร็จการศึกษารุ่นที่ 1 รวมทั้งยังได้พระราชทานทุน "ศรีเมธี" ให้กับนิสิตที่มีผลการเรียนดีเยี่ยมจากสถาบันฯ จำนวน 4 ราย ซึ่งนิสิตที่สำเร็จการศึกษารุ่นแรกปัจจุบันได้เข้าทำงานเป็นนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร ของหน่วยงานวิจัยกับบริษัทในกลุ่ม ปตท. และบริษัทเอกชนชั้นนำในประเทศ สำหรับนักเรียนที่จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 รุ่นแรกโรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) จำนวน 71 คนได้รับทุนเพื่อการศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศ 28 ทุน ทุนศึกษาต่อต่างประเทศ 16 ทุนและได้รับคัดเลือกจากแฟ้มผลงานเพื่อศึกษาต่อในประเทศอีก 27 คน
เวลาประมาณ 14.00 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ สถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท. ต.ป่ายุบใน อ.วังจันทร์ จ.ระยอง เพื่อทรงติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ ซึ่งเมื่อวันที่ 1กุมภาพันธ์ 2560 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานเมล็ดพันธุ์ผัก ให้แก่ชุมชนโดยรอบศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ จำนวน 40 ครัวเรือน เพื่อให้มีผักปลอดภัยไว้บริโภค นับเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนที่เข้มแข็งมากขึ้น ปตท. จึงร่วมกับชุมชนจัดตั้งโครงการ "วังจันทร์รวมรัก ปลูกผักแบ่งปัน" เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานตามแนวพระราชดำริ ส่งผลให้เกิดการแบ่งปันผลผลิตขึ้นในชุมชน นอกจากเก็บผลผลิตไว้บริโภคแล้ว ชุมชน 40 ครัวเรือนนำร่องยังได้รวมกันจัดตั้งกลุ่ม "ผักวังจันทร์" จำหน่ายหุ้นให้กับสมาชิกในราคาหุ้นละ 100 บาท นำผลผลิตผักที่เหลือจากการบริโภคในครัวเรือนไปจำหน่ายที่สถานีบริการน้ำมัน ปตท. ต.ป่ายุบใน อ.วังจันทร์ จ.ระยอง ในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ โดย ปตท. สนับสนุนพื้นที่ให้วางจำหน่ายตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน 2561 เป็นต้นมา ทั้งนี้ในระยะเวลานำร่องเพียง 4 เดือน กลุ่มผักวังจันทร์มีรายได้จากการจำหน่ายผักที่เริ่มต้นจากเมล็ดพันธุ์ผักพระราชทาน เป็นจำนวน 25,330 บาท คิดเป็นกำไร16,261 บาท สามารถปันผลให้กับสมาชิกได้ถึง 49 บาทต่อหุ้น
นอกจากนี้ ศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ ยังส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้และแบ่งปันด้านการปลูกผักอย่างต่อเนื่อง และได้จัดทำคู่มือเก็บข้อมูลเพื่อให้ชุมชนบันทึกการเรียนรู้การปลูกผักด้วยตนเอง อีกทั้งได้จัดสรรพื้นที่จำนวนประมาณ 2 ไร่ จัดทำศูนย์เพาะและแบ่งปันเมล็ดพันธุ์ผักจากเมล็ดพันธุ์พระราชทาน บัดนี้สามารถเพาะและเก็บเมล็ดพันธุ์ผักคุณภาพที่สามารถขยายพันธุ์ต่อได้เพิ่มขึ้นประมาณ 10 เท่า แบ่งปันให้กับชุมชนโดยรอบเพิ่มเติม รวมถึงเครือข่ายชุมชนราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่าทั่วประเทศและผู้สนใจทั่วไป เพื่อให้การดำเนินงานปลูกผักตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
และเป็นส่วนหนึ่งของการปลูกป่าตามแนวทางวนเกษตร เพื่อสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจ และฟื้นฟูระบบนิเวศอย่างยั่งยืน นอกจากนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงโยนกล้าพันธุ์ข้าวหอมนางพญาแม่ทองดำลงแปลงนาสาธิตในพื้นที่แปลงวิจัยเพื่อเป็นปฐมฤกษ์ในการทำนาปลูกข้าวประจำปีของศูนย์ฯอีกด้วย
ต่อมา (วันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ.2561) สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์เพื่อเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ภายใต้เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่มุ่งสู่การพัฒนาตามนโยบาย Thailand 4.0 ณ อาคารหอชมวิว ซึ่งเป็นอาคารสร้างขึ้นใหม่ สามารถมองเห็นทัศนียภาพในเขตพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ในระยะไกลจากที่สูง และเห็นความก้าวหน้าในการก่อสร้างโครงการ EECi ซึ่งเป็นการพัฒนาระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สวทช. และ ปตท. โดย ปตท. สนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ในด้านโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคที่ทันสมัย ในรูปแบบ Smart Natural Innovation Platform ประกอบด้วยหลักการ Smart City 6 ด้านและ สวทช. จะพัฒนาและประสานความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศเพื่อสร้างให้ EECi เป็นศูนย์กลางวิจัยพัฒนานวัตกรรม สามารถต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์ เสริมสร้างศักยภาพของประเทศไทยให้มีความสามารถในการแข่งขันระดับนานาชาติต่อไป
"ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กลุ่ม ปตท. ได้มุ่งมั่นให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการความยั่งยืน 3 ด้านอย่างสมดุล (หลัก 3P) ได้แก่ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ชุมชน และสังคม (People) การอนุรักษ์ทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (Planet) และการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (Profit) เพื่อก้าวสู่เป้าหมายของการพัฒนาองค์กรและประเทศให้มีคุณภาพชีวิตและก้าวหน้าอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน" นายเทวินทร์ กล่าวในตอนท้าย
HTML::image(