กรมประมง... พร้อมรับกฎระเบียบใหม่ (SIMP) จากสหรัฐฯ ติวเข้มผู้ประกอบการประมง ในการส่งออกสินค้าประมงอย่างเข้มงวด

03 Sep 2018
กรมประมงพร้อมปฎิบัติตามกฎระเบียบใหม่เรื่องการนำเข้าสินค้า Seafood Import Monitoring Program (SIMP) ของสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินโครงการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าประมง เตรียมพร้อมผู้ประกอบการประมงในประเทศไทย ให้ปฎิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การส่งออกสินค้าของไทยนั้นมีคุณภาพและถูกต้องตามกฎระเบียบที่สหรัฐฯ ตั้งไว้

ย้อนไปเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2560 จากการที่สหรัฐอเมริกาได้ประกาศกฎระเบียบนำเข้าสินค้าประมงฉบับใหม่ เรียกว่า โครงการตรวจสอบการนำเข้าอาหารทะเล Seafood Import Monitoring Program (SIMP) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงาน ของคณะการทำงานต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม และบิดเบือนข้อมูลบนฉลากสินค้าอาหารทะเล (Presidential Task Force to Combat Illegal, Unreported, and Unregulted Fishing (IUU) and Seafood Fraud) ซึ่ง SIMP เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายMagnuson-Stevens Fishery Conservation and Management Act ภายใต้การบริหารจัดการของหน่วยงาน National Marine Fisheries Service (NMFS) , National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA) กระทรวงพาณิชย์ของประเทศสหรัฐฯ กำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้าสัตว์น้ำนั้น มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการขออนุญาตการค้าการประมงระหว่างประเทศ International Fisheries Trade Permit (IFTP) และต้องมีการจัดทำรายงานและเก็บบันทึกข้อมูลตลอดสายการผลิตของสัตว์น้ำและ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำประกอบการขออนุญาต นำเข้าสัตว์น้ำตามชนิดที่กำหนดโดยสัตว์น้ำ 13 ชนิดแรก ได้แก่1.ปลาคอดแอตแลนติก (Cod - Atlantic) 2.ปูม้าแอตแลนติก (Blue Crab - Atlantic) 3.ปลาอีโต้มอญ หรือ หน้ามอม, อีโต้, มงเจ้าเลือด, โต้มอญ หรือ สีเสียดอินเดีย (Mahi Mahi or Dolphin fish) 4.ปลาเก๋า (Grouper) 5. ปูจักรพรรดิแดง หรือ คิงแครบแดง (King Crab - Red) 6.ปลาคอดแปซิฟิก (Cod – Pacific) 7.ปลากะพงแดง (Snapper – Red) 8.ปลิงทะเล (Sea Cucumber) 9.ฉลาม (Sharks) 10.ปลากระโทงดาบ (Swordfish) 11.ปลาทูน่า(Tuna): ปลาทูน่าครีบยาว(Albacore), ปลาทูน่าตาโต(Bigeye), ปลาทูน่าท้องแถบ(Skipjack), ปลาทูน่าครีบเหลือง(Yellowfin), ปลาทูน่าครีบน้ำเงิน(Bluefin) 12.กุ้ง (Shrimp) และ13.หอยเป๋าฮื้อ (Abalone)โดยมีผลบังคับใช้กับผู้นำเข้าสินค้าประมงมายังสหรัฐฯ ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1มกราคม 2561 ยกเว้นสินค้ากุ้งและหอยเป๋าฮื้อ ที่ได้ประกาศกฎระเบียบสุดท้าย (Final Rule) ลงวันที่ 24เมษายน 2561 และกำหนดให้ระเบียบมีผลบังคับใช้กับกุ้งและหอยเป๋าฮื้อตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2561เป็นต้นไป

นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า การส่งออกสินค้าและผลิตภัณฑ์ประมงของไทยเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจ เนื่องจากสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศอย่างมหาศาลสะท้อนผ่านข้อมูลการส่งออกในปี 2559 ที่มีมูลค่า 191,005.6 ล้านบาท โดยมีทูน่ากระป๋องและกุ้งเป็นหลัก อย่างไรก็ตามในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาปริมาณวัตถุดิบหรือทรัพยากรประมงมีแนวโน้มลดลง จึงจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาระบบการผลิตและการนำเข้า-การส่งออกสินค้าประมงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยได้มีการตื่นตัวต่อกฎระเบียบใหม่ของทางสหรัฐฯ กรมประมงในฐานะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกระบวนการตรวจสอบรับรองสินค้าประมงส่งออก รวมถึงยกระดับการเพาะเลี้ยงและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ตลอดจนวางระบบการผลิตให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งในด้านการจับสัตว์น้ำจากธรรมชาติ และ ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เช่น ระบบฐานฟาร์ม เรือประมง โรงงานแปรรูป ตลอดสายการผลิตและยินดีที่จะมีส่วนร่วมในการสนับสนุนข้อมูลพื้นฐานที่ถูกต้องให้กับผู้ประกอบการนำได้ไปประยุกต์ใช้ในการผลักดันให้เกิดแนวทางการปฏิบัติที่เหมาะสม โดยไม่เป็นภาระต่อเกษตรกรรายย่อย ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา กรมประมงได้เป็นเจ้าภาพในการจัดงานสัมมนาเชิงปฎิบัติการ ให้กับผู้ประกอบการในการเตรียมความพร้อมการปฎิบัติตามกฎระเบียบการนำเข้าสินค้าประมงของสหรัฐอเมริกา Seafood Import Monitoring Program (SIMP) โดยได้รับเกียติจากวิทยากรที่เป็นผู้แทนจาก National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA) กระทรวงพาณิชย์ของประเทศสหรัฐฯ ในการบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับกฎระเบียบนำเข้าสินค้าประมงฉบับใหม่ที่เรียกว่า Seafood Import Monitoring Program (SIMP)ประเทศไทยในฐานะผู้ส่งออกต้องเร่งทำความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการประมงทุกภาคส่วน เพื่อเตรียมความพร้อมในการปฎิบัติตามกฎระเบียบดังกล่าวอย่างเคร่งครัดและถูกต้อง เพื่อให้การส่งออกสินค้าของประเทศไทยมีความยั่งยืนและสร้างความเชื่อมั่นในมาตรฐานคุณภาพและระบบการตรวจสอบย้อนกลับที่มีประสิทธิภาพ อธิบดีกรมประมงกล่าว